ผลสำเร็จฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้พิการจากการให้ท้องถิ่น ‘ร่วมตัดสินใจ’

ปี2016-03-24

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ยศ วัชระคุปต์

ภายใต้รัฐไทยที่ยังมีลักษณะการบริหารแบบรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางอยู่มาก ทำให้ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะในระดับท้องถิ่นไปสู่ส่วนกลางให้ประสบผลสำเร็จนั้นอาจทำได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับบริการที่ดีอย่างทั่วถึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท้องถิ่นควรได้รับการกระจายอำนาจ และทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและเพื่อให้ประเทศพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

หนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จจากการทำงานแบบกระจายอำนาจด้านสวัสดิการสุขภาพเชิงรุก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่สามารถนำมาถอดบทเรียนได้เป็นอย่างดี คือ การจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ” ของจังหวัดหนองบัวลำภู ด้วยความร่วมมือกันภายในท้องถิ่นและส่วนกลางที่มีผลประจักษ์ชัดว่าท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดตามความต้องการด้วยศักยภาพที่ตนเองมี และประโยชน์ก็ตกอยู่กับท้องถิ่นนั้นอย่างแท้จริง “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ” เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู (อบจ. หนองบัวลำภู) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการให้มีความ เป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายแพทย์ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายก อบจ. หนองบัวลำภู

หัวใจสำคัญของกองทุน คือ กระบวนการบริหารจัดการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคนพิการ และคนในชุมชนมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นได้ช่วยกันให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของผู้พิการแต่ละราย อีกทั้งมีการประเมินผลที่ดีสะท้อนประสิทธิภาพการทำงาน เบื้องหลังของการทำงานเกิดจาก นายแพทย์ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายก อบจ. หนองบัวลำภู ที่วิเคราะห์ว่าในแต่ละปีรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณต่อหัวเพื่อสวัสดิการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน งบจำนวนหนึ่งที่จัดสรรให้แก่สปสช.ได้ถูกนำไปใช้เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการภายใต้ “งบประมาณการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์” ซึ่งเป็นการเบิกได้ตามการให้บริการจริง ทั้งนี้ เงินจำนวนนี้ถ้าไม่ถูกใช้จะถูกส่งกลับสปสช.

นายแพทย์ศราวุธ เห็นว่าควรหาทางนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้พิการอย่างแท้จริง  เพราะผู้พิการในพื้นที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เพียงพอ และยังขาดอุปกรณ์ช่วยเหลือตามความต้องการของแต่ละบุคคล การดำเนินการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้พิการ “หนองบัวลำภูโมเดล” จึงได้เกิดขึ้นในปี 2553  โดยอบจ.หนองบัวลำภู และ สปสช. ร่วมกันสมทบเงินเข้ากองทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน โดยเริ่มต้นด้วยการสมทบฝ่ายละ 2.8 ล้านบาท และงบประมาณจากการสมทบได้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งในปี 2559 ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มเงินสมทบเป็นฝ่ายละ 4.7 ล้านบาท ซึ่งอ้างอิงจากจำนวนและความต้องการของผู้พิการแต่ละราย

การบริหารจัดการงบประมาณ ทำโดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก ให้บริการด้านการแพทย์ตามชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ร้อยละ 55 ส่วนที่สอง เพื่อการทำงานด้านคุณภาพชีวิตร้อยละ 30 ส่วนที่สาม เพื่อการพัฒนาระบบบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร้อยละ 5 และส่วนสุดท้ายเพื่อบริหารจัดการกองทุนอีกไม่เกินร้อยละ 10

งานด้านคุณภาพชีวิตนั้นถือว่าเป็นผลงานโดดเด่นของท้องถิ่น เพราะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันใกล้เคียงบุคคลทั่วไป จากการลงพื้นที่ศึกษาภายใต้แผนงานสนับสนุนวิชาการเพื่อการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการสังคม โดยทีดีอาร์ไอพบว่า งานดังกล่าวมีทั้งความร่วมมือของชุมชนในการให้ความช่วยเหลือด้านการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การซ่อมแซม ตัวบ้าน ปรับปรุงห้องน้ำห้องส้วม ขยายประตู และจัดพาหนะให้บริการรับส่งผู้พิการ การจัดทำกายอุปกรณ์  โดยเฉพาะรถเข็นผู้พิการให้เหมาะสมแก่การเดินทางและการประกอบอาชีพของผู้พิการแต่ละราย และยังมีบริการซ่อมกายอุปกรณ์และศูนย์ซ่อมเคลื่อนที่ให้บริการถึงบ้านผู้พิการทำให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

DSC001041
ตัวอย่างกายอุปกรณ์

การทำงานร่วมกันระหว่างผู้พิการ ชุมชน อบจ. และ สปสช. ทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การมีส่วนร่วมของผู้พิการ ทำโดยผ่านองค์กรผู้พิการ จ.หนองบัวลำภู ทุกคนจึงมีสิทธิ์สะท้อนความต้องการที่แท้จริง อีกทั้งการบริหารจัดการกองทุน ด้วยความโปร่งใสและมีส่วนร่วมมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ เช่น มีกลไกตรวจสอบความสมเหตุสมผลของการเบิกจ่ายงบประมาณมีการประเมินความพึงพอใจของประชาชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำผลมาปรับปรุงการดำเนินงาน

นอกจากผู้พิการจะได้รับบริการตามความต้องการแล้ว กองทุนนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ จังหวัดอื่นๆ จึงสามารถนำไปเป็นต้นแบบของกองทุนเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้พิการ โดยปรับบริบทให้เหมาะกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ และในอนาคตยังสามารถขยายขอบเขตการให้สวัสดิการไปถึงการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุได้อีกด้วย เงินเหมาจ่ายรายหัวของการประกันสุขภาพก็จะถูกใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยท้องถิ่น

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือหนึ่งใน กรณีตัวอย่างของการให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ ซึ่งในงาน TDRI  Annual Academic Conference 2016 “การปรับทิศทางและบทบาทภาครัฐ ในการให้บริการต่อประชาชน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ณ โรงละครอักษรา  คิงเพาเวอร์ยังมีกรณีที่น่าสนใจอื่นอีกมาก  ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดรับบัตรเข้าร่วมงาน หรือชมการถ่ายทอดสดได้ทางเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มีนาคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ผลสำเร็จฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้พิการจากการให้ท้องถิ่นร่วมตัดสิน