ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 10/2559 และ 11/2559 ให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มเอกภาพในการบริหารและกระชับสายบังคับบัญชา การปรับโครงสร้างนี้มุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นที่น่ากังวล เพราะอาจยึดหลักการสั่งการมากกว่าการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนมากกว่า
ในการปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร ได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยและเลขาธิการของกรมทั้ง 5 ในกระทรวงฯ และได้มีการตั้ง “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (กศจ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่วางแผนการศึกษาจังหวัด โดยดูแลกำกับทั้งสถานศึกษาทุกสังกัด ในระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมปลายและอาชีวศึกษา และทำหน้าที่ทั้งวางแผนนโยบาย วิชาการและบุคลากร แทนที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ในเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต
หากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารการศึกษาของประเทศก็น่าจะมีเอกภาพมากขึ้น โดยหน่วยงานต่างๆ มองปัญหากว้างขึ้นและประสานงานกัน ซึ่งจะแก้ปัญหาสำคัญหลายประการได้ เช่น ในปัจจุบัน มีนักเรียนจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบในช่วงรอยต่อของ ป. 6 และ ม. 1 และ ม. 3 ขึ้น ม. 4 นอกจากนี้ โรงเรียนสายสามัญบางแห่งยังปิดกั้นการเรียนต่ออาชีวศึกษา เพราะเกรงว่าจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวลดลง การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะต้องมีระบบติดตามนักเรียนตลอดทาง และต้องเปิดทางเลือกให้แก่นักเรียนเข้าเรียนในสายต่างๆ ตามความสนใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานที่ดูแลประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา
การจัดสรรครูเป็นอีกปัญหาสำคัญที่จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อมีการประสานกันระหว่างหน่วยงาน ปัจจุบันในระดับเขตพื้นที่มีทั้งโรงเรียนที่ครูเกินและครูขาดแคลน อีกทั้งในจังหวัดเดียวกันก็มีทั้งเขตที่ครูเกินและครูขาดแคลน แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเขตพื้นที่ไม่สามารถบริหารให้เกิดความสมดุลได้ ส่วนหนึ่งเพราะติดกฎระเบียบ ที่กำหนดให้การย้ายครูระหว่างโรงเรียนในกรณีปรกติทำได้เฉพาะกรณีที่ครูสมัครใจ และหากเป็นการย้ายระหว่างเขตพื้นที่การศึกษา ต้องให้เขตพื้นที่ทั้งสองฝ่ายยินยอม
อย่างไรก็ตาม การสร้างเอกภาพในการบริหารเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง อันที่จริง การจัดตั้ง สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นความพยายามสร้างเอกภาพในการบริหารเช่นกัน โดยรวมการบริหารที่เดิมแยกกันระหว่างสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติและกรมสามัญศึกษาเข้าด้วยกัน ก่อนปี 2553 มีเขตพื้นที่การศึกษาเพียง 185 เขต ซึ่งแต่ละเขตดูแลการศึกษาทั้งระดับประถมและมัธยม แต่สุดท้าย กลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาขอแยกเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในคณะกรรมการและ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่และได้รับการสนับสนุนลดลง
ข้อเป็นห่วงของผู้เขียนคือ การปรับโครงสร้างครั้งนี้อาจลดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสียลงและเน้นการสั่งการจากส่วนกลางมากขึ้น เนื่องจากกรรมการในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด 20-22 คน มาจากหน่วยงานราชการ 13 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 1-3 คน มีตัวแทนภาคเอกชนและประชาสังคมเพียง 4 คน และมีตัวแทนครูเพียง 2 คนซึ่งไม่น่าจะสามารถสะท้อนความเห็นที่ครอบคลุมการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอาชีวศึกษาได้ และไม่มีตัวแทนสมาคมผู้ปกครองเหมือนในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา
กระบวนการการคัดเลือกตัวแทนประชาชนและครูยังไม่มีความชัดเจน โดยคำสั่งฯ กำหนดเพียงให้รัฐมนตรีแต่งตั้งตามความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาฯ ซึ่งมีความเสี่ยงว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งอาจไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนและครู ส่วนกลางยังพยายามกระชับสายบังคับบัญชาให้แน่นขึ้น โดยจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่รับส่งคำสั่งและนโยบายจากส่วนกลางไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
หากไม่ได้รับฟังปัญหาและความคิดเห็นที่หลากหลาย คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดจะไม่สามารถมองภาพรวมของการศึกษาในจังหวัดและไม่สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้ และเสี่ยงต่อการทำงานตามโครงการของส่วนกลางมากกว่าตอบโจทย์ของพื้นที่
การที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกวิธีกระชับสายบังคัญชา อาจเป็นเพราะมองว่าการกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ได้สร้างกลุ่มผลประโยชน์ขึ้นในพื้นที่ ซึ่งทำให้การบริหารด้อยประสิทธิภาพลง อย่างไรก็ตาม ควรระวังว่าการลดส่วนร่วมของพื้นที่อาจเพิ่มอำนาจให้กลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจหาผลประโยชน์เสียเองในอนาคต ที่จริงแล้ว สาเหตุหนึ่งของการหาผลประโยชน์คือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการเรียนของนักเรียน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ปัญหาหลักของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่มาจากการมีอำนาจมากเกินไป แต่มาจากการไม่มีอำนาจตัดสินใจและงบประมาณเพียงพอ เพราะเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเพียงผู้บริหารและกำกับให้โรงเรียนดำเนินโครงการของส่วนกลาง ทำให้ไม่สามารถคิดและทำโครงการที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ได้
การปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลอย่างยั่งยืนควรเกิดจากการกระจายอำนาจตัดสินใจให้โรงเรียนและพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลการเรียนของนักเรียนโดยตรง เช่น ให้โรงเรียนคัดเลือกครูได้เองจากผู้สอบผ่านการทดสอบมาตรฐานกลาง และให้โรงเรียนรับผิดชอบต่อพ่อแม่มากขึ้น โดยเพิ่มบทบาทของพ่อแม่และชุมชนในการบริหารโรงเรียน เช่น ให้มีส่วนร่วมคัดเลือกผู้อำนวยการ ส่วนภาครัฐส่วนกลางและจังหวัดควรเป็นผู้วางมาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำและช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียน
เช่นเดียวกัน การวางแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด ควรต้องเพิ่มตัวแทนของผู้ปกครอง ภาคประชาสังคม และตัวแทนครู เพื่อให้ทิศทางการจัดการศึกษาสอดคล้องกับโจทย์ปัญหาของแต่ละพื้นที่ หรืออย่างน้อยควรรับฟังความเห็นของบุคคลเหล่านั้นก่อนจะดำเนินการในเรื่องใดที่จะมีผลกระทบในวงกว้าง