สัมมนาทีดีอาร์ไอ 2016 “ให้รัฐปรับบทบาทตนเอง”(ตอนที่2) : ทบทวนกฎหมาย กฏระเบียบ กว่า 1 แสนฉบับ

ปี2016-04-08

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงงานสัมมนาทีดีอาร์ไอ 2016 หัวข้อ “ให้รัฐปรับบทบาทตนเอง” ซึ่งนำเสนอโดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ โดยเน้นการปรับบทบาท ลดการทับซ้อน และต้องปรับปรุงให้ทันสมัย รวมทั้งการแยกบทบาท “ผู้เล่น-ผู้กำกับ-ผู้วางนโยบาย” และในตอนที่2 เน้นการทบทวนบทบาทของภาครัฐ โดยกล่าวต่อในรายละเอียดว่าทั้งหมดที่พูดมาจะเป็นเรื่องของการทับซ้อนของบทบาทของภาครัฐ แต่คำถามต่อไปคือ ถ้าเราแยกบทบาทแล้วมันจะดีขึ้นจริงหรือไม่

เดือนเด่น
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ

ตอนนี้แทบจะฟันธงไปแล้วว่าบทบาทของรัฐคือควรเป็นผู้ควบคุมกฎกติกามาตรฐาน ค่อนข้างชัดแล้ว ถามว่ากฎกติกามาตรฐานดีหรือไม่ รัฐทำหน้าที่เป็นกรรมการที่ควรจะทำดีหรือไม่

ความยากง่ายในการทำธุรกิจกับกม.-กฎระเบียบกว่า 1 แสนฉบับ

จากดูรายงานความยากง่ายของการทำธุรกิจ Doing Business ของธนาคารโลก มีการจัดอันดับประสิทธิภาพกฎกติกาของภาครัฐเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เช่น การจัดตั้ง การเก็บภาษี การนำเข้าส่งออก การจดทะเบียนต่างๆ ทั้งหมดเยอะมาก

ถามว่าเราเป็นอย่างไร 6 ปี ไทยอยู่ที่ 12 ของโลกจาก 100 กว่าประเทศ(ดูภาพด้านล่างประกอบ) เก่งมาก เก่งกว่ามาเลเซีย เก่งกว่าหลายประเทศ ตอนนั้นจำได้มาเลเซียบอกว่าจะต้องแซงไทยให้ได้ แต่พอผ่านมา 6 ปี เราตกมาที่ 49 ของโลก ร่วงมาอย่างรวดเร็ว อะไรเกิดขึ้น คนที่นำหน้าเราไปมากคือเกาหลีใต้ ปีที่เราได้ 12 เขาได้ 23 ล่าสุดเขาอันดับ 4 ของโลกแล้ว ถามว่าเกิดอะไรขึ้น

เราต้องมาดูว่ากฎระเบียบของเราคืออะไร เราทำอะไรบ้าง อันนั้นคือตัวที่กำหนดบทบาทของภาครัฐทั้งตีกรอบทั้งกำหนดบทบาท วิธีการที่รัฐจะเข้ามาถามว่าตอนนี้เรามีกฎระเบียบเยอะไหม แทบไม่มีใครในประเทศรู้ว่ามีกี่ฉบับ ต้องไปคุยกับหลายหน่วยงาน สำนักงานกฤษฎีกาก็ยังไม่แน่ใจ

แต่สรุปแล้วคร่าวๆ เรามีพระราชบัญญัติประมาณ 800-900 ฉบับ แล้วเรามีกฎหมายลูก ต้องเข้าใจกฎหมายประเทศไทย ซับซ้อนมากมีหลายลำดับ 7-8 ชั้นไล่ลงมา ถ้ารวมกฎหมายหลักๆ พระราชบัญญัติ ระดับที่ 1 พระราชกำหนด ระดับที่ 2 พระราชกฤษฎีกา ระดับที่ 3 ประกาศกระทรวง ระดับที่ 4 มีอยู่ 18,000 ฉบับ ถ้ารวมกฎหมายฉบับรองอื่นๆ แต่มีสถานภาพเป็นกฎหมายเหมือนกัน บังคับใช้กับท่านเหมือนกัน คือข้อบังคับกระทรวง คำสั่งกระทรวง ระเบียบกระทรวง รวมอีก 100,000 กว่าฉบับ ถามว่าอะไรมีอยู่ใน 100,000 ฉบับบ้าง เราไม่เคยรู้ บางกฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2450 ภาษาอ่านไม่รู้เรื่องเลย สมัยไหนก็ไม่รู้ก็ยังอยู่ ดังนั้น ไม่แปลกใจว่าเราจะเจอปัญหามาก

doing-business-620x382

กฏหมาย-100ฉบับ-620x324
ที่มา: รวบรวมจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยทีดีอาร์ไอ (2559)

แล้วตัวกฎหมายไม่ใช่ปัญหาอย่างเดียว สิ่งที่เป็นปัญหาอีกคือตัวคุณภาพของกฎหมายของเรา กฎหมายไทยขึ้นชื่อว่ามีปัญหาหลายอย่าง อย่างแรกมักให้ดุลพินิจเยอะ ถ้าเคยอ่านพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานมี 53 หน้า มีคำว่าทำตามที่คณะกรรมการกิจการพลังงานกำหนดคือแล้วแต่กำหนด มี 43 จุดในกฎหมาย คือใครบังคับใช้กฎหมาย ไปว่ากันเองจะใช้ระเบียบอะไร จะออกใบอนุญาตอะไร ก็ไปออกกันเอง มันมีดุลพินิจสูงมาก

นอกจากนั้นแล้ว กฎหมายของเรายังมีปัญหาอีกว่าบางทีไม่ได้อยู่ในกฎหมายแม่ ไปฝังอยู่ในกฎหมายลูก ทำให้เราหายากมากว่ากฎหมายอยู่ที่ไหน มันไม่ชัดเจนที่จะทำตาม แล้วการที่เราไม่มีฐานข้อมูลของกฎหมายทั้งหมด ดังนั้น กฎหมายไทยมีปัญหาหลายอย่างที่เราเห็นทั้งให้ดุลพินิจ ทั้งให้อำนาจของตุลาการเยอะ

นอกจากนี้ เรายังมีการออกกฎหมายมาเยอะมากในแต่ละปี มีคนบอกว่าธุรกิจที่เฟื่องฟูมากที่สุดในยุคที่เศรษฐกิจซบเซาคือธุรกิจออกกฎหมาย เพราะว่าธุรกิจดีก็ออกกฎหมาย แย่ก็ออกกฎหมาย มันออกได้ทั้งนั้น มีอยู่เรื่อยๆ

นี่คือสถิติให้เห็นว่าในรอบ 4 ปีออกกฎหมายมากี่ฉบับ รวมกัน 1,000 ฉบับ พระราชบัญญัติอาจจะไม่เยอะ แต่กฎหมายลูก กฎกระทรวงเยอะมาก แล้วพอเรามานั่งแกะดู กฎหมายบางฉบับอาจจะไม่เกี่ยวกับพวกเรา อาจจะเกี่ยวกับการทำงานของรัฐเอง แต่ส่วนมาก 70% จะเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ดังนั้น ถ้าเราไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ ปัญหาการทับซ้อนของบทบาท มันก็จะมาฝังอยู่ในกฎหมายเหล่านี้เต็มไปหมดเลย ถ้าเราไม่ทบทวนมัน

ออกกฎหมายต้องคิดต้นทุน

ถามว่าเราเคยหรือไม่ที่จะกลับไปทบทวน 100,000 ฉบับนี้ หรือเอาแค่กฎหมายหลัก 18,000 ฉบับ ว่าอะไรมันอยู่ในนั้นและอะไรมันล้าสมัย อะไรมันบิดเบือนการทำภารกิจของรัฐบาล เรามีความพยายามหลายครั้งตั้งแต่ในอดีต แต่มาล่าสุดในปี 2544 มีการตั้งคณะกรรมการมาปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ มีคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ พยายามเอากฎหมายมารื้อ ตอนนั้นมีวาระประมาณ 2 ปี ผลคืองดใช้กฎหมายไปได้ 47 ฉบับ แล้วก็ออกเกณฑ์มาว่าต่อไปนี้ใครที่ออกกฎหมายใหม่มา ต้องตอบคำถาม OECD Checklist หรือตัวคัดกรอง 10 ข้อ เช่น จำเป็นหรือไม่ ต้นทุนคืออะไร เท่าไร ถ้าไม่ออกจะมีอะไรเกิดขึ้น มีทางเลือกอื่นหรือไม่ เป็นมาตรฐานการคัดกรองกฎหมายที่ใช้กันในโลก

ดูแล้วก็ดีหมด แต่คิดว่าตอนออกระเบียบกฎหมายคงไม่ได้ประเมินกฎหมายว่าออกมาแล้วจะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ ผลที่ออกมาพอไปดูตัวคัดกรอง 10 ข้อ เรียกว่ารายการผลกระทบของกฎหมาย ต้องแนบมากับร่างกฎหมายทุกฉบับเวลาเข้าคณะรัฐมนตรี ไปดูว่ากฎหมายบางอันที่เราบอกว่าไม่ดีมันออกมาได้อย่างไร พบว่ารายงานดังกล่าวมีความยาวประมาณ 3 หน้า และนี่คือรายละเอียดที่ได้รับมา

อันแรกมีปัญหาหรือไม่ ทุกคนอธิบายปัญหาหมดว่าทำไมต้องออกกฎหมาย ถามว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่ อาจจะใช้มาตรการอื่นแทน ไม่มีใครตอบเลย มีประเมินผลกระทบไหมว่าเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบอีก การวิเคราะห์ต้นทุน ในประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศเขาต้นประเมินต้นทุน เพราะกฎหมายทุกฉบับมีต้นทุน แต่คนออกกฎหมายของไทยไม่เคยพูดถึงต้นทุนเลย พูดแต่ออกมาเพื่ออะไรจะดีอย่างไร ไม่เคยรู้ว่าข้อดีมันมีต้นทุนด้วย อาจจะไปกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มเสียหายได้ เราไม่เคยประเมินเลย มีแค่ 4 ฉบับเท่านั้นจากที่ศึกษามา 55 ฉบับที่ประเมิน แล้วเป็นเฉพาะการประเมินในเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณ

นอกจากนี้ ในตัวคัดกรองระบุว่าต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน ไม่เช่นนั้นกฎหมายออกไปบิดเบี้ยวได้ และต้องแนบความคิดเห็นเข้ามาด้วย ปรากฏว่ามี 7 ฉบับเท่านั้นที่บอกว่าไปรับฟังอะไรมา นอกนั้นบอกว่ารับฟังแล้วไม่บอกว่าฟังแล้วได้อะไร

ก็จะเห็นได้ว่าแม้ว่าเราจะมีตัวคัดกรองอะไรที่มันดูดี แต่ในทางปฏิบัติเรายังไม่มีเลย กฎหมายเราออกมาตามที่เรียกว่าให้สมบูรณ์

โละกฏหมาย-620x275

ตัวอย่าง “เกาหลีใต้” 11 เดือน เลิกกฎหมาย 5,000 ฉบับ

ถามว่าแล้วเกาหลีใต้ทำอย่างไร ทำไมเขาวิ่งแข่งแซงไปอย่างรวดเร็ว คำตอบคือเกาหลีใต้มีกระบวนการที่เรียกว่าทบทวนกฎหมายครั้งใหญ่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะเกาหลีใต้จีดีพีลดลงไป 16% เพียง 6 เดือนเท่านั้นหลังวิกฤติ แรงกว่าเรามาก เขารู้ว่าตายแน่ถ้าไม่ทำอะไร เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้ และสิ่งที่เขาคิดว่าต้องทำคือต้องเอากฎหมายที่คุ้มครองบริษัทใหญ่ๆ เรียกว่าแชโบล (Chaebol) ซึ่งเป็นตัวหลักที่ก่อให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจไปไม่รอด เขาเอามารื้อมาทบทวนเลย ปรากฏว่าจาก 11,005 ฉบับที่ต้องทบทวน เพียง 11 เดือนทบทวนไป 5,000 ฉบับ ใช้คนมาเยอะมาก เรา 2 ปีทำไป 47 ฉบับเท่านั้น แล้วจาก 11,005 ฉบับเกือบครึ่ง 48% เลิกไปเลย แปลว่ามีกฎหมายเยอะมากที่ไม่ได้ใช้ อาจจะเป็นช่องทางหาเงินด้วย แล้วมีกฎหมายอีก 20% ไม่เลิกแต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น เหลือเพียง 30% ที่บอกว่าดีแล้ว

ดังนั้น ของเรา 18,000 ฉบับ ไม่รู้ถึง 30% หรือไม่ที่ดีอยู่แล้ว ดิฉันเพิ่งไปอ่านหนังสือพิมพ์มาพบว่า ICAO ที่เรามีปัญหาบอกว่าเราต้องแก้ปัญหาพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มีมา 60 ปีมาแล้วนะ เพราะว่าฉบับนี้ขัดหลักการ 27 ข้อ และกฎหมายฉบับนี้ใช้ได้แค่ 40% เป็นตัวอย่างว่าถ้าเราไม่มาทบทวนกฎหมายเหล่านี้ บทบาทหน้าที่รัฐที่จะไปควบคุม กำกับดูแล ทำหน้าที่ให้ดี มันทำไม่ได้ ยกตัวอย่างที่ ICAO ชี้มาว่าผิดอย่างมหันต์คือ ท่าอากาศยานของกรมการบินพลเรือนในต่างจังหวัดทั้งหลายไม่ต้องออกใบอนุญาต เพราะว่าเป็นของกรมการบินพลเรือนเอง ออกใบอนุญาตเอง สรุปแล้วทับซ้อนอีกแล้ว คนออกใบอนุญาตมีสนามบินเอง แบบนี้ก็ไม่ต้องออกใบอนุญาต กฎหมายเขียนไว้แบบนั้น ต่างประเทศรับไม่ได้เลย ท่าอากาศยานอะไรไม่มีใบอนุญาต ไม่มีมาตรฐานที่ต้องทำตามเลย ขณะที่ต่างประเทศต้องมีมาตรฐานให้ทำตามเพื่อรับใบอนุญาต

ถามตอบ “ปรับบทบาทรัฐ” อย่างไร

ทั้งหมดนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่มีมิติซับซ้อนและไม่ง่าย เรื่องของการปรับโครงสร้างการทำงานของรัฐ แต่ดิฉันอยากจะได้มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่คลุกคลีกับเรื่องเชิงสถาบัน ขอเรียนเชิญ ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

มิ่งสรรพ์-ขาวสะอาด-620x274

ดร.เดือนเด่น: ขอถามเลยว่าคิดว่ารัฐต้องปรับบทบาทอย่างไร

ดร.มิ่งสรรพ์: ปรับบทบาทภาครัฐจริงๆ ไม่ใช่แค่ปรับแต่กฎหมาย แล้วเอาเข้าจริงการปรับกฎหมายยากที่สุด ต้องปรับตั้งแต่วิธีคิด ปรับการปฏิบัติการเล็กน้อยๆ ที่ตอนนี้ทำได้เลย และปรับโครงสร้างทางกฎหมายอาจจะเป็นประเด็นที่ท้าทายที่สุด

เราลองมายกตัวอย่างกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ทาง อปท. ควรจะมีพระราชบัญญัติที่ชัดเจนบอกว่ามีอำนาจอะไรบ้างตั้งแต่ปี 2540 อปท. จะลำบากหน่อยตรงที่มีกฎหมายเยอะ แต่มันมีปัญหาว่าที่ควรมีดันไม่มีอีก ต่อมาเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยล้าหลังเกือบที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเหนือกว่าเมียนมา กัมพูชา ลาว เท่านั้น

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดิฉันร่วมกับกระทรวงการคลังและทีมวิจัยพยายามเสนอกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่มันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเราช้ามาก เราพยายามออกกฎหมาย 2 ระดับ ระดับบนเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งครอบคลุมเครื่องมือทุกชนิด ระดับที่ 2 จะเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องร่างขึ้นโดยความเห็นชอบจากเอกชนที่จะกำหนดค่าธรรมเนียมและมีกอง ทุนเอาเงินเข้าไปใส่ ให้ภาคเอกชน อปท. และรัฐเอามาดูแลสิ่งแวดล้อม

แต่มันออกไม่ได้ เพราะมันมีธรรมเนียมของการออกกฎหมาย คือจะต้องเขียนทีละมลพิษ อย่างมลพิษน้ำมี 50 ตัว ถ้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขามีตัวหลักใช้กัน 5-6 ตัว ถ้าให้เรามาออกกฎหมายนี้ 5-6 ฉบับตามประเทศเหล่านั้น ชาติหน้าก็ยังไม่เสร็จ แต่เอาละ ดิฉันคิดว่าทางทีมอาจจะไร้เดียงสาเรื่องการร่างกฎหมาย แต่ประเทศเราจะก้าวไปข้างหน้ามันต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการหลายๆ อย่าง

“แล้วในเรื่องของระเบียบง่ายๆ ที่เราคิดว่าน่าจะต้องเลิกได้ ยกตัวอย่าง อปท. นายก อบต. เกือบจะเป็นลูกน้องของนายอำเภอ จะไปต่างจังหวัดต้องขออนุญาตนายอำเภอ นี่คือเรื่องระดับเล็กน้อยแบบนี้ หรือนายอำเภอขอเด็กของอบต.ไปเสิร์ฟน้ำ มันไม่มีทรัพยากรเหลือให้ไปทำงานอีก”

นี่คือปัญหาว่ามันไม่มีอิสระในการจัดการเลย เพราะฉะนั้นจะมีปัญหาในประเทศไทยว่า ที่มีกฎระเบียบบางทีก็มากไป ที่ไม่มีก็ไม่มีเลย มันอยู่ผิดที่ผิดทาง ยกอีกตัวอย่างหนึ่ง อปท. ที่รู้สึกว่าตลกมากคือ มี อบต. หนึ่ง พยายามเอาเงินของสาธารณสุขไปฉีดวัคซีนแก้พิษสุนัขบ้า เพื่อให้สุนัขไม่บ้า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บอกว่าไม่ได้ ต้องฉีดยาให้คนที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้ว…เราต้องคอยให้คนถึงที่ก่อน แล้วค่อยไปรักษา บอกว่าเงินนี้เป็นของสาธารณสุข ห้ามเอาไปฉีดวัคซีนให้สุนัข ถ้าจะฉีดต้องเอาเงินของกรมปศุสัตว์

เรื่องที่พยายามจะบอกคือ การจัดการให้ อปท. ตัดสินใจเองแบบต้องไปปรับระเบียบข้างใน ซึ่งจริงๆ ถ้าเราปฏิรูปข้าราชการ ที่เคยทำมาแล้วหยุดๆ ไป รวมไปถึงระเบียบต่างๆ เราจะสามารถจัดการได้ค่อนข้างเยอะ

ดร.เดือนเด่น: แปลว่าเราต้องกระจายอำนาจ แล้วเราต้องการพี่เลี้ยงสำหรับ อปท. โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา แล้วใครจะมาเป็นพี่เลี้ยง

ดร.มิ่งสรรพ์: จากตัวอย่างของท้องถิ่นที่มีการนำเสนอในช่วงเช้า เป็นสุดยอดของท้องถิ่น แต่เทียบกับทั้งหมดที่สุดยอดก็มีไม่ถึง 10% เพราะฉะนั้น อยู่ดีๆ จะบอกว่าเอาอันนี้โยนให้ อปท. ไปทำ อันนั้นก็โยนไปทำ ในอดีตโยนไปเยอะมาก

และรัฐบาลกลางเลี้ยง อปท. เยี่ยงทาส เป็นอย่างไร กินน้อย ทำงานหนักไม่ เชื่อไปดูช่องสามมีเรื่องทาสทุกคืนเลย เพราะว่าเราเป็นชาติที่ยึดติดอดีตชาตินิยม เพราะฉะนั้น อปท. จึงทำงานได้ยาก อปท. ที่อยู่ในเมืองกับชนบท เขามีเป้าหมายแตกต่างกัน เพราะว่าทรัพยากรไม่พอ ในชนบทจะสนใจเรื่องสุขภาพมากที่สุด เพราะสุขภาพ(ประชาชน)ไม่ดี การเข้าถึงไม่ดี ในเมืองจะไปสนใจเรื่องอื่นมากกว่า เมื่อเป็นแบบนี้ต้องให้เขาตัดสินใจเอง ดังนั้นถ้าเราโยนโรงเรียนไป เราต้องให้เขาเลือกว่าอยากรับหรือไม่ บางแห่งอาจจะขอรับแค่ประถมศึกษา แต่สิ่งที่อยากได้คืออยากได้พี่เลี้ยง

ทีนี้ ถ้าต้องการพี่เลี้ยง คำถามคือใครจะมาเป็น คิดว่าเอาแบบนี้เลย เพราะว่าเรามี อปท. ไม่มาก และไม่ควร one size fit all เราก็ควรเลือกที่มีศักยภาพมา มีการจัดลำดับชั้น แล้วชั้นที่มีศักยภาพที่สุด จัดระบบพี่เลี้ยงไปสอน ใช้มหาวิทยาลัยทำงานบ้าง ให้ออกไปช่วยท้องถิ่น จัดระบบเรื่องโรงเรียน สาธารณสุข ตามที่ อปท. เป็นคนดูแล แล้วสิ้นปีมาประกวดกัน ถ้าทำแบบนี้ อปท. จะมีพี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยจะสามารถเป็นจักรกลสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ความรู้ใหม่ๆ จะไปรวมกับความรู้ของท้องถิ่น

ดร.เดือนเด่น: แบบนี้ใครจะจัด ถ้าให้มหาดไทยจัดก็ไม่พร้อมเสียที

ดร.มิ่งสรรพ์: จริงๆ คิดว่าถ้าเราไม่เชื่อกระทรวงมหาดไทยเลยก็คงไม่ได้ เขาก็มีงานทำอยู่ ไม่เช่นนั้นก็ยุบกระทรวงไปเลย แต่ตัวเกณฑ์ชี้วัดนี้ต้องมาถกเถียง โต้กันในเวที มีคนมาดูอาจจะดำเนินการอย่างไรก็ว่าไป และที่สำคัญคือให้ อปท. มีส่วนร่วมในการถกเถียง แล้วเกณฑ์เหล่านี้ตอนนี้มีเยอะเลย จัดทำไม่ยาก เพียงแต่จะทำหรือไม่ แล้วถ้ามีงบประมาณไปเพิ่มเติม คิดว่าปกติราชการจะทำถ้าเป็นโครงการแบบนี้ ทำโครงการนำร่องแต่ถ้าจะทำให้เป็นกฎหมายจะช้าหน่อย จะไม่ค่อยยอมทำกัน

ดร.เดือนเด่น: กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก

ให้รัฐปรับบทบาทของตน-620x301

แนะ 3 แนวทาง “ลดทับซ้อน-สร้างมาตรฐาน-ทบทวนกฎหมาย”

สรุปแล้วทั้งหมดที่พูดมาเรื่องการปรับบทบาทภาครัฐจะต้องทำอะไรอย่างไร ก่อนอื่นเลยคิดว่าขั้นตอนแรกต้องแยกการทับซ้อนซึ่งตอนนี้มันมีเยอะ ถ้ามองไปรัฐเข้ามาทำอะไรที่รัฐไม่ควรเยอะ โดยเฉพาะการให้บริการสาธารณะ เราเห็นแล้วทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล แม้กระทั่งท่าอากาศยานที่ทำให้เกิดปัญหาการทับซ้อน มีอีกเยอะ เช่น เรื่ององค์การเภสัชกรรม ทำไมยาขององค์การฯ ไม่มีทะเบียนยา เพราะเขาไม่ต้องขึ้นทะเบียนยา มันจะมีอะไรเยอะแยะไปหมดเลย กลายเป็นว่านโยบายแทนที่จะเป็นรักษามาตรฐานและคุณภาพของการบริการสาธารณะ หรือบริการอื่นๆ มันจะไม่เป็นแบบนั้น

ประเด็นที่ 2 เราต้องมาที่บทบาทของรัฐที่ควรจะทำ ที่ต้องทำอย่างมากคือเรื่องมาตรฐานของบริการ เราไม่ค่อยพูดเรื่องมาตรฐานเราพูดแต่มีบริการหรือไม่ เราไม่เคยดูเรื่องมาตรฐาน ไม่ว่าจะมาตรฐานการขนส่ง มาตรฐานของโรงเรียน โรงพยาบาลก็ไม่มี การบริการสาธารณะหลายเรื่องไม่มีมาตรฐาน ไม่มีการประเมิน ถึงประเมินก็ไม่มีการใช้แรงจูงใจ ให้รางวัลลงโทษอะไรเลย มันเลยไม่มีความรับผิดรับชอบต่อคุณภาพต่อประชาชนเลย

ทั้งหมดทั้งมวลถ้าจะทำได้ กระทรวงในฐานะเจ้าของนโยบายจะต้องสวมจิตของผู้รับบริการ ถ้าเกิดท่านเป็นผู้รับบริการจะเห็นทันทีว่าคุณภาพไม่ดี มันเหลื่อมล้ำกัน เข้าถึงยาก แต่ตราบใดที่กระทรวงมองในมุมของผู้ให้บริการ จะไม่เห็นภาพนี้ จะเห็นว่าฉันเป็นเจ้าของโรงเรียน โรงพยาบาล ทำไมต้องมาประเมินตัวเอง ทำไมต้องมาเติมคุณภาพ ทำไมต้องทำโทษตัว ก็ทำไม่ได้อีก จะเดินหน้าไม่ได้เลย รวมไปถึงการกระจายอำนาจ การให้เอกชนมามีส่วนร่วม แต่จะทำได้รัฐต้องถอนตัวออกมาจากผู้ประกอบการก่อน ถึงจะมองว่าต้องให้เกิดความเป็นธรรม มีคุณภาพ หลากหลาย เข้าถึงง่ายดีไหม ถ้ารัฐสวมจิตของผู้ได้รับบริการแทน ไม่ใช่จากมุมมองของเจ้าของ

สุดท้าย คิดว่าสำคัญมาก อาจารย์มิ่งสรรพ์ บอกว่าถ้าจะให้ดิฉันยกเลิกกฎหมาย เราอาจจะไม่มีเหลือเลย เพราะว่าเราออกกฏหมายยากมาก แต่คิดว่านับจำนวนกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ดี เพราะหลายฉบับไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์เลย ไม่มีการประเมินเลยว่าดีหรือไม่ กฎหมายที่ออกมาแล้วทำความเสียหายก็มีเยอะ ไม่ออกดีกว่า เราต้องหากระบวนการกลั่นกรองคุณภาพของกฎหมายที่เป็นตัวกำหนดบทบาทหน้าที่ของ รัฐว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับประเทศ ขอฝากไว้และขอย้ำว่า ถ้าเราจะเดินหน้าไปข้างหน้า รัฐต้องปรับบทบาทของตนเอง


 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaipublica วันที่ 8 เมษายน 2559 ในสัมมนาทีดีอาร์ไอ 2016 “ให้รัฐปรับบทบาทตนเอง” (ตอนที่2) : ทบทวนกฎหมาย กฏระเบียบ กว่า 1 แสนฉบับ