tdri logo
tdri logo
26 เมษายน 2016
Read in Minutes

Views

เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม-ไม่คุ้ม ในทัศนะ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

เราอาจมีแร่ที่ควรขุดขึ้นมาเพื่อพัฒนาเป็นรายได้มูลค่าเพิ่มตามที่ BOI ส่งเสริม แต่ความไม่เข้าท่าในเรื่องการกำกับดูเเลในเชิงสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาเหมืองเหล่านั้นได้

“การตอบคำถามที่ว่าเมืองทองคำจะคุ้มหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่การตอบธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อมจะง่ายกว่า”

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิชาการด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวก่อนจะอธิบายให้ฟังต่อไปว่า เหมืองทองหรือการทำเหมือง ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องของชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ความซับซ้อนของปัจจัยอีกมากมายที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญให้คำตอบว่ามันจะคุ้มหรือไม่ เราไม่ควรมองว่าถ้าโครงการนี้คุ้มค่าจากการจ่ายค่าภาคหลวงไปแล้ว หรือว่ารัฐได้ค่าภาคหลวงเยอะ แล้วไม่สนใจเลยว่ามีคนเสียชีวิตจากผลกระทบของกิจการ วิธีคิดแบบนั้นเอามาใช้ไม่ได้ เพราะสังคมที่พัฒนาแล้ว อย่างที่คนไทยเราพยายามบอกว่าเราศิวิไลซ์นั้น ก็ควรจะดูเเลสุขภาพและฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรอบ โดยไม่พยายามเอาชีวิตคนไปแลกกับตัวเงิน

แต่การตีค่าชีวิตคน ตีค่าสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราพบว่ามีการใช้ตรรกะลักษณะแบบนี้อยู่บ้างในบางกรณี และส่วนมากมักเป็นเหตุแห่งความสุดวิสัย ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยกันไป เพราะฉะนั้นเราควรย้อนกลับไปดูว่าความเสียหายมีค่าเท่าไร แต่การจะมองไปข้างหน้าเพื่อขับเคลื่อนประเทศ เราไม่ควรเอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาแลกกับคุณภาพชีวิตของคน

เวลาดูว่าเหมืองคุ้มไม่คุ้มดูยังไง 

รศ.ดร.อดิศร์ อธิบายว่า ถ้าเราจะขุดทองขึ้นมาจะดูว่าคุ้มหรือไม่ เราต้องเอาวิธีการแรก เราต้องเอาต้นทุนด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสุขภาพ เอามาคิดหักลบเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งสิ่งนี้คือพื้นฐานสำคัญ แต่แค่พื้นฐานบ้านเรายังไม่ทำเลย 

ต่อมา การขุดแร่ขึ้นมานั้น วิธีคิดเขาจะเอาแร่ไว้ด้านซ้าย กองหนึ่ง และด้านขวาคือเงินสด แล้วเขาจะถามคำถามว่า ถ้าเเร่อยู่ในดิน มันจะโตอัตราเท่าไร แล้วสมมติว่ามันโตช้าราคามันขึ้นช้า เราขุดขึ้นมาดีกว่าไหม เพราะถ้าเราขุดขึ้นมา แล้วเปลี่ยนแร่เป็นเงิน เอาเงินไปใส่ธนาคาร พอเอาไปใส่ธนาคาร เงินจะโตปีละ 2-3%

เพราะฉะนั้นวิธีเช็คว่าเมื่อไรจะขุดแร่ เขาจะดูแนวโน้นราคาแร่ หรือกรณีเหมืองทอง ก็คือราคาทองคำ เทียบกับอัตราการโตของดอกเบี้ย ว่าอะไรโตเร็วกว่ากัน ที่นี้สรุปง่ายๆ ว่าถ้าราคาแร่โตช้า เราก็ต้องรีบขุดมันออกมา เพราะสมมติทิ้งไว้ในดิน มันก็ไม่โตสักทีในแง่ของเม็ดเงิน เราขุดมา แล้วเอาเงินไปฝากจะดีกว่า แต่ถ้าเกิดว่าราคาของแร่มันโตเร็ว แม้ว่าจะยังอยู่ในดิน วิธีที่ดีที่สุดคือต้องเอาไว้ในดิน ให้มันโตอยู่ในดิน อย่าให้โตข้างนอก เพราะขุดมาเป็นเงินโตได้แค่ 2-3% นี่คือตรรกะที่จะมองว่าคุ้มไม่คุ้ม 

เพราะฉะนั้นเท่าที่ผมคำนวนราคาทองวันนี้ที่อยู่ราวสองหมื่นกว่าบาท จะเห็นว่าหากย้อนกลับไปสัก 60 ปีที่เเล้ว ราคายังต่ำมาก สะท้อนว่า ทองคำเป็นสินแร่ที่โตเร็วมากกว่าจะเอาขึ้นมาเป็นเงิน เพราะหากเอาขึ้นมาสมัยราคาทองยัง 400 บาท ผ่านไป 60 ปี เราได้ดอกเบี้ยแค่หมื่นกว่าๆ ขณะที่ทองคำตอนนี้ขยับไปบาทละ สองหมื่นเเล้ว ดังนั้น วิธีจะคุ้มไม่คุ้มคือการดูราคาในอนาคต

“เพราะฉะนั้นความยากของการ อนุมัติสัมปทานทองคำ มันอยู่ที่ความสามารถในการคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตว่ามันจะไปอยู่ที่เท่าไร เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย” รศ.ดร.อดิศร์กล่าว

กรณีเหมืองกับผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่เกิดขึ้นที่เหมืองทองคำอัครา ที่พิจิตร ไม่ใช่กรณีเดียวที่เหมืองเป็นแบบนี้”  รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว ชี้ว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแบบนี้มีให้เห็นทั่วประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราจะไม่มาพูดการแก้ปัญหาเฉพาะเหมืองที่พิจิตรเป็นเฉพาะกรณี

ยกตัวอย่างเช่น กรณีเหมืองดีบุกในภาคใต้หลายสิบปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ต้องเผชิญกับปัญหาสารหนูตกค้างในเหมืองที่ปิดกิจการไปแล้ว เมื่อประชาชนนำน้ำในเหมืองเก่าไปใช้ก็นำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้แก่ การเป็นไข้ดำหรือมะเร็งผิวหนังและต้องเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่สามารถเรียกร้องเอาผิดกับผู้ประกอบการใดๆ ได้ เพราะเหมืองดีบุกเหล่านี้ได้ปิดกิจการไปแล้ว

ในกรณีปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ อ.ร่อนพิบูลย์ ได้ดึงดูดความสนใจของสังคมเป็นอย่างมาก และมีหลายหน่วยงานพยายามยื่นมือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นด้านการค้นคว้าวิจัยหรือการดำเนินการบรรเทาปัญหาในรูปแบบต่างๆ แต่ปัญหาการปนเปื้อนยังคมมีให้เห็นอยู่และประชาชนในพื้นที่ก็ต้องตกเป็นจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ปัญหาผลกระทบของเหมืองแร่ต่อสภาวะแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังมีให้พบเห็นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เช่น กรณีการทำเหมืองสังกะสีที่ อ.แม่ตาว จ.ตาก ที่นำไปสู่ปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในสิ่งแวดล้อมทำให้ประชาชนที่บริโภคข้าวที่ปลูกในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเเคดเมียม มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเสื่อม 

ในกรณีอ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีการใช้ถ่านหินลิกไนต์เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้านำไปสู่ปัญหาซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนในพื้นที่และยังทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย

หรือกรณีที่อ.ทองผาภูมิ ต.กาญจนบุรี มีการทำเหมืองตะกั่วมาเป็นเวลา 50 ปี และนำไปสู่ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในลำน้ำจนทำให้มีเด็กและประชาชนจำนวนมากในอ.ทองผาภูมิมีระดับตะกั่วในเลือดสูง มีผู้เสียชีวิตและทั้งยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก 

กรณีอ.หน้าพระลาน จ.สระบุรี มีการระเบิดหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์และอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยในขั้นตอนการระเบิดหิน การโม่หินและการขนส่งทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชน

บทเรียนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 

รศ.ดร.อดิศร์  กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมากทั้งหมดสามารถถอดบทเรียนได้สองประการ ได้แก่

1) ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมเหมืองแร่ต่างๆ แต่ผลวิจัยเหล่านี้มักไม่ถูกนำมาใช้เพื่อการปรับปรุงการดำเนินงานของเหมืองแร่เท่าที่ควร

บทเรียนตัวนี้ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้เชื่อมเอาประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้มาอยู่ในเรื่องเดียวกัน เราตักตวงในเชิงเศรษฐกิจ แต่สิ่งแวดล้อม เราปล่อยให้คนอื่นคอยดูเเล

และจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เราพบว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมการปกปิดข้อมูล ถามว่าเรื่องนี้มีการพิสูจน์หรือยังว่าต้นตอมาจากที่ใด มีเเล้ว แต่ให้ดูไม่ได้ 

2) กรณีการปนเปื้อนของสารเคมีอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการวิเคราะห์ทางการแพทย์ที่ตรงไปตรงมาเพื่อพิสูจน์ว่ากิจการเหมืองต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของประชาชน คือแพทย์ไม่กล้าฟันธง ยังมัวแต่แทงกั๊ก  ส่วนว่าจะให้เจ้าของเหมืองแร่มีส่วนต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดก็มักไม่ค่อยเกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือเคสที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ถ้าวันนี้เราไม่ลุกขึ้นมาทำทำอะไรต่อไปวันข้างหน้า ก็จะมีปัญหาในลักษณะเเบบนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน 

เราอาจมีแร่ที่ควรขุดขึ้นมาเพื่อพัฒนาเป็นรายได้มูลค่าเพิ่มตามที่ BOI ส่งเสริม แต่ความไม่เข้าท่าในเรื่องการกำกับดูเเลในเชิงสิ่งแวดล้อมนั้น เลยทำให้เราไม่สามารถพัฒนาเหมืองเหล่านั้นได้ 

ประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอามาแลกกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราจะมองไปข้างหน้า ถ้าBOI อยากสนับสนุน เรื่องสิ่งแวดล้อมควรเป็นปัจจัยแรกและปัจจัยสำคัญ  เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะอยู่ได้โดยไม่ได้ผลกระทบ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแร่ในดินของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา กิจการเหมืองแร่ทั้งประเทศนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับนักลงทุนเจ้าของเหมือง สร้างอาชีพให้กับแรงงาน และสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลในรูปค่าภาคหลวงแล้ว การทำเหมืองแร่ยังส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างปฏิเสธไม่ได้ การบริหารจัดการเหมืองแร่ที่หละหลวม ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมไทยได้ว่ากิจการเเหมืองแร่เป็นกิจกรรมที่มีความรัดกุมไม่สร้างภาระที่ต้องจ่ายในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้รัฐควรทบทวนการดำเนินกิจการเหมืองแร่อย่างรอบด้านและสร้างความมั่นใจกับสังคมไทยว่ากิจการเหมืองแร่จะไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมดังเช่นที่ผ่านมา เพราะรายได้ด้านเม็ดเงิน กับต้นทุนด้านสุขภาพ ความเสียหายของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราควรเอาไปแลกจริงหรือ ที่ผ่านมาผู้ดำเนินนโยบายไม่เคยเอาเรื่องนี้มาบวกลบ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในสำนักข่าวอิศรา เมื่อ 24 เมษายน 2559 ในชื่อ เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม-ไม่คุ้ม ในทัศนะ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

 

นักวิจัย

ดร. อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ที่ปรึกษา นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก และ นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด