มอเตอร์ไซค์ไม่มีสิทธิ์

ปี2016-04-28

อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2559 มีคำสั่งห้ามไม่ให้จักรยานยนต์ใช้สะพานลอยข้ามแยก 39 แห่งและห้ามลงอุโมงค์ 9 แห่ง ซึ่งคำสั่งนี้สร้างความไม่พอใจให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เป็นอย่างมาก โดยกลุ่มมอเตอร์ไซค์มีการรวมตัวปิดถนนบริเวณสะพานภูมิพลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม นอกจากนั้นยังไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองในวันที่ 25 เมษายน 2559 ว่าคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ในประเด็นนี้ภาครัฐให้เหตุผลว่าคำสั่งห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานลอยและลงอุโมงค์มีเจตนาเพื่อลดอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ส่วนผู้ใช้จักรยานยนต์อ้างว่าเมื่อเป็นประชาชนเหมือนกันทำไมเขาถึงไม่มีสิทธิ์ใช้สะพานลอยและลงอุโมงค์เหมือนรถยนต์และกฎหมายก็มิได้ระบุห้ามไว้ด้วย นอกจากนั้น การใช้จักรยานยนต์ยังเป็นการช่วยลดความแออัดบนท้องถนน เป็นการเดินทางที่ประหยัด แต่ทำไมจักรยานยนต์กลับไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและต้องถูกรอนสิทธิ์ในที่สุด

ที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรมากและไม่ควรนำไปโยงกับเรื่องความปลอดภัยหรือกฎหมายจราจรใดๆ ให้เสียเวลา คำสั่งห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานลอยและห้ามลงอุโมงค์มีที่มาที่ไปอยู่อย่างเดียวหล่ะครับ คือ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ มีการเอารัดเอาเปรียบผู้มีรายได้น้อยและมีความไม่เท่าเทียมกัน คนจนที่มีรายได้น้อยที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะจึงไม่มีความสำคัญในสังคมนี้ ไม่มีสิทธิ์ และยังต้องเป็นผู้แบกรับภาระต่างๆ เช่น ค่ารีดไถหรือต้องหาเงินเพื่อส่งให้มาเฟียทั้งหลายเพื่อแลกกับการทำงานในวินมอเตอร์ไซค์

การเป็นห่วงเป็นใยความปลอดภัยของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนนก็เป็นสิ่งที่ฟังลำบากจริงๆ แต่ก็ยังเอาสีข้างแถกันไปได้หน้าซื่อๆ หากการขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานลอยข้ามแยกมันไม่ปลอดภัยแล้วทำไมไม่ออกคำสั่งห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานลอยทั่วประเทศไทยเลยหล่ะครับ สะพานนวรัฐที่เชียงใหม่ สะพานสารสินที่ภูเก็ต หรือสะพานศรีสุราษฎร์ที่สุราษฎร์ธานีก็มีมอเตอร์ไซค์ขึ้นลงทุกวันไม่เห็นมีใครเป็นห่วงเป็นใยบ้างเลย ส่วนการลงอุโมงค์ก็เช่นกัน หากมอเตอร์ไซค์ลงอุโมงค์แล้วมีอุบัติเหตุก็น่าจะประกาศห้ามมอเตอร์ไซค์ลงอุโมงค์ทั้งประเทศไปซะเลยรวมทั้งอุโมงค์ดินแดงหรืออุโมงค์ลอดต่างๆ ที่เชียงใหม่ด้วย

แต่ที่สะเทือนใจมากที่สุดและเป็นคำสรุปในตัวมันเองคือคำตอบที่บอกว่า สะพานลอยข้ามแยกและอุโมงค์เหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อมอเตอร์ไซค์…จบมั๊ย ประโยค์นี้ฟังแล้วต้องบอกเลยว่า อึ๊งจริงๆ และไม่เคยคิดเลยว่าข้าราชการของประชาชนจะพูดคำเช่นนี้ออกมาได้ ความหมายคือว่าประชาชนคนไทยด้วยกันที่มีรายได้น้อยและใช้มอเตอร์ไซค์ทั่วประเทศไม่เคยอยู่ในความสนใจของผู้บริหารบ้านเมืองเลย การออกแบบถนน สะพาน หรืออุโมงค์จึงไม่ได้สนใจเลยว่าคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่ต้องตากแดดตากฝนหาเช้ากินค่ำเขาจะเดินทางกันอย่างไร จะมีเลนมอเตอร์ไซค์ให้เขาไหม หรือจะแบ่งช่องทางการใช้ถนนอย่างเป็นธรรมกันอย่างไร เหมือนกับจะบอกว่าท้องถนนในเมืองนี้สร้างมาเพื่อคนรวยที่เป็นเจ้าของรถยนต์เท่านั้น ส่วนมอเตอร์ไซค์ไม่มีสิทธิ์

ในทุกจังหวัดมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่สำคัญสำหรับคนไทย ครอบครัวคนไทยจำนวนมากกว่าครึ่งใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อการเดินทางเป็นหลัก บางบ้านพ่อขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงาน มีลูกนั่งกลางแล้วให้แม่ซ้อนท้าย ภาพแบบนี้มีให้เห็นทั่วไปในประเทศไทย สำหรับคนหนุ่มสาวที่เริ่มมีรายได้มอเตอร์ไซค์ก็เป็นพาหนะที่ราคาประหยัดสามารถหาซื้อกันได้ไม่แพงนัก นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งเกษตรกรจำนวนมากก็ใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อการเดินทาง นอกจากนั้น การใช้มอเตอร์ไซค์ยังเป็นการประหยัดพลังงานของประเทศ ประหยัดพื้นที่บนท้องถนน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำไมในสายตาผู้บริหารประเทศมอเตอร์ไซค์กลับไม่มีความสำคัญ

จากข้อมูลของกลุ่มสถิติ กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบกพบว่า ยานพาหนะที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหรือปิกอัพ และรถจักรยานยนต์

โดย ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ประเทศไทยมีจำนวนยานพาหนะจดทะเบียนสะสมทั้งหมดประมาณ 34 ล้านคัน และหากพิจารณาความสำคัญของมอเตอร์ไซค์แล้วพบว่า สัดส่วนรถจักรยานยนต์ต่อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน บวกกับรถบรรทุกส่วนบุคคลนั้นสูงถึงร้อยละ 60 และถึงแม้พิจารณาเฉพาะกรุงเทพฯ สัดส่วนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านกว่าคัน หรือร้อยละ 40 ดังนั้นหากจะมาบอกกันว่าสะพานข้ามแยกและอุโมงค์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้เป็นเจ้าของยานพาหนะที่เป็นจักรยานยนต์ร้อยละ 40-60 ของประเทศย่อมสะท้อนจิตใจของผู้บริหารประเทศนี้ว่าผู้มีรายได้น้อยไม่มีความสำคัญ คนจนเก็บหน่อไม้ในป่าก็ถูกปรับ คนจนเอาซีดีที่ใช้แล้วมาวางขายก็ถูกจับ แต่ลูกคนรวยขับรถชนคนตายกลับไม่ต้องรับโทษ แม้แต่จะขอตรวจแอลกฮอล์ยังไม่กล้าเลยทั้งๆ ที่คนธรรมดาที่ไม่ได้ขับรถชนใครตายยังโดนตรวจแอลกฮอล์อย่างหลีกเลี่ยงไมได้

 graph

ลองมาฟังเหตุผลของทางราชการดูว่าวิธีคิดของเขาเป็นอย่างไร มีความเที่ยงธรรมหรือไม่ การที่บอกว่ามอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกแล้วเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งก็เป็นการใช้เหตุผลที่แปลกๆ คำถามคือ แล้วทำไมเวลามอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามคลองจึงไม่เกิดอุบัติเหตุ แล้วอุบัติเหตุที่เกิดบนสะพานข้ามแยกมีสาเหตุมาจากอะไร มีสาเหตุมาจากเฉพาะมอเตอร์ไซค์บางคันขับขี่อย่างประมาทขณะขึ้นสะพาน หรือเกิดเพราะรถยนต์ใช้ความเร็วสูงขณะอยู่บนสะพาน หรือมอเตอร์ไซค์โดนรถใหญ่เบียด การเกิดอุบัติเหตุกับมอเตอร์ไซค์บนสะพานนั้นมีจริง แต่สาเหตุคงไม่ใช่เป็นเพราะมอเตอร์ไซร์ขึ้นสะพานข้ามแยกแต่คงเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ มากกว่าที่ต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ความเร็วบนสะพานเกิดที่กฎหมายกำหนด การขับขี่คร่อมเส้นจราจร หรือการแซงบนสะพาน สิ่งเหล่านี้ต้องมีการควบคุมจับปรับอย่างเคร่งครัดไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นรถยนต์ ระบรรทุก รถเบนซ์ หรือมอเตอร์ไซค์ หมายความว่าหากรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ล้วนขึ้นนสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์ด้วยความเร็วที่กฎหมายกำหนดและขับขี่ในช่องการจราจรอย่างถูกต้อง ไม่แซงซ้ายขวา รับรองเลยว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุแน่นอน ดังนั้นการมาอ้างว่ามอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นสะพานข้ามแยกหรือลงอุโมงค์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจึงเป็นการใช้เหตุผลแบบเอาสีข้างเข้าถูจริงๆ เหมือนกับจะบอกว่าต้นตอของอุบัติเหตุที่แท้จริงคืออะไรไม่สนใจแต่สนใจอย่างเดียว คือ ต้องการห้ามไม่ให้มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกและห้ามลงอุโมงค์ เพราะอะไรก็คิดกันเอาเอง

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือกรณีสะพานภูมิพลข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ้างกันว่ามีปัญหาลมแรงและนำไปสู่อุบัติเหตุบนสะพาน ในประเด็นนี้ผู้ออกแบบสะพานก็ออกมายืนยันแล้วว่าหากมีการแบ่งช่องทางเดินรถให้รถบรรทุกหรือมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะและมีการควบคุมความเร็วให้เหมาะสมปัญหาอุบัติเหตุก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องการเปลี่ยนเลนในช่วงแยกสามทางบนกลางสะพานนั้นจะมาอ้างว่าหากมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ความเร็วต่ำต้องมาเปลี่ยนช่องทางตรงกลางสะพานและจะนำไปสู่อุบัติเหตุก็จะเกิดคำถามตามมาว่าแล้วทำไมรถบรรทุกจำนวนมากที่ใช้ความเร็วต่ำขณะอยู่บนสะพานภูมิพลก็ต้องเปลี่ยนช่องทางกลางจะพานเช่นกัน แต่ทำไมรถบรรทุกทำได้และไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่ทำไมมอเตอร์ไซค์จึงเปลี่ยนเลนไม่ได้

การที่หน่วยงานภาครัฐมาอ้างว่าจากการรวบรวมข้อมูลออุบัติเหตุบนสะพานภูมิพลพบว่าร้อยละ 21 ของอุบัติเหตุที่เกิดบนสะพานภูมิพลเกิดจากรถจักรยานยนต์ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องแก้ไขเพราะร้อยละ 21 นี้ถึงว่าเป็นอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สูงและเป็นสาเหตุของการห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานภูมิพล เหตุผลนี้ก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน เพราะหากร้อยละ 21 ของอุบัติเหตุเกิดกับจักรยานยนต์เป็นอัตราที่สูงและต้องแก้ไข ผมก็อยากทราบว่าแล้วอุบัติเหตุที่เหลืออีกร้อยละ 79 ก็ต้องเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับรถยนต์และ/หรือรถบรรทุกที่ขึ้นสะพานภูมิพลไม่เป็นอัตราที่สูงกว่าจักรยานยนต์ถึง 3 เท่าหรือครับ แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ทำไม่ภาครัฐไม่ประกาศห้ามรถยนต์และ/หรือรถบรรทุกขึ้นสะพานภูมิพลด้วยหละครับ หากไม่ใช่เพราะความลำเอียง ความไม่เห็นความสำคัญของผู้มีรายได้น้อย และความไม่เป็นธรรมของภาครัฐก็ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายเรื่องนี้ได้

ท้ายสุดอยากวิงวอนว่ากฎหมายต้องไม่เอื้อประโยชน์เฉพาะคนมีฐานะดีที่ขับรถเบนซ์หรือรถอะไรก็ตาม แต่กฎหมายต้องให้สิทธิ์กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน และคนเดินเท้า ประโยคหนึ่งที่ผมได้ฟังมาและคิดว่าเป็นข้อคิดสำคัญสำหรับกรณีนี้คือ ท่านเจ้าของรถยนต์ทั้งหลายท่านเป็นเพียงเจ้าของรถนะครับ ท่านไม่ใช่เจ้าของถนน ถนนต้องเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เพราะพวกเราเสียภาษีดังนั้นพวกเราจึงมีสิทธิ์ แต่เป็นเพราะเราเป็นคนเหมือนกันดังนั้นกฎหมายจึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ในใจลึกๆ ของผู้บริหารประเทศนี้จะรักใคร่คนรวยมากกว่าคนจนก็ตาม