ทีดีอาร์ไอ เสนอยกระดับการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ แก้ปัญหาไทยจากรากฐาน

ปี2016-03-29

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอเพิ่มความอิสระ ยกขีดความสามารถ และสร้างกลไกความรับผิดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อยกระดับการกระจายอำนาจ ซึ่งจะทำให้ อปท. สามารถให้บริการตามความต้องการที่หลากหลายของประชาชน แก้ปัญหาแบบองค์รวม เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และสร้างนวัตกรรมในการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น

ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับบทบาทรัฐไทย ให้ประชาชนได้บริการที่ดี” ที่โรงละคร อักษรา คิงเพาเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เสนอแนวทางการพัฒนาการให้บริการสาธารณะ ด้วยการยกระดับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  โดยยกตัวอย่างการให้บริการสาธารณะของ อปท. ทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ  และสวัสดิการสำหรับคนพิการ ซึ่งพบว่า การกระจายอำนาจทำให้ อปท. หลายแห่งสามารถให้ “บริการแบบเสื้อสั่งตัด” ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่า “บริการแบบเสื้อโหล” จากรัฐบาลกลาง

ดร.สมเกียรติ กล่าว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการกระจายอำนาจในช่วงปี 2540 อปท.จำนวนไม่น้อยสามารถยกระดับบริการสาธารณะจากเดิมที่มีรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ ให้กลายเป็นบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น เช่น อบจ. เชียงใหม่ ซึ่งรับถ่ายโอนโรงเรียนจาก สพฐ. ได้สมทบงบประมาณเพิ่มเติมและให้อิสระแก่โรงเรียนในการจัดหลักสูตรตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เช่น การเปิดสอน 4 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีนและล้านนา  การใช้ไอทีในการเรียนรู้มากขึ้น  ตลอดจนการฝึกอาชีพ เช่น หัตถกรรม การทำผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในเชียงใหม่

งานด้านผู้สูงอายุของเทศบาลนครนนทบุรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการให้บริการของ อปท. ตามความต้องการของประชาชน   ก่อนหน้านั้น ผู้สูงอายุในนนทบุรีได้รับสวัสดิการจากรัฐในรูปแบบที่จำกัดมาก แต่เมื่อเทศบาลนครนนทบุรีสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ก็ทำให้มีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมร่วมกันของผู้สูงอายุ และเกิดกิจกรรมที่หลากหลายกว่า  20 กิจกรรมซึ่งผู้สูงอายุเข้าร่วมได้ตลอดทั้งวัน เช่น ไท้เก๊ก ระบำพัด ลีลาศแบบต่างๆ และการเรียนภาษาอังกฤษ เป็นต้น

สวัสดิการคนพิการของ อบจ. หนองบัวลำภู เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบริการของ อปท. ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดย อบจ. หนองบัวลำภู ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ  ซึ่งสามารถให้สวัสดิการคนพิการอย่างรอบด้าน  ทั้งการทำกายภาพบำบัด การปรับปรุงที่อยู่อาศัย และการจัดทำกายอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละคนซึ่งมีความต้องการเฉพาะ แตกต่างจากสวัสดิการเดิมของรัฐบาลที่เน้นเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล และยังทำให้ประชาชนโดยเฉพาะองค์กรผู้พิการมีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยัง อปท. อื่นๆ อีกหลายแห่ง

การศึกษาที่ผ่านมาของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังยืนยันว่า การกระจายอำนาจช่วยให้ท้องถิ่นไทยสามารถพัฒนาการให้บริการสาธารณะได้อย่างมาก โดยประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจกับบริการของ อปท. โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ดร.สมเกียรติ เสนอว่า เพื่อให้ อปท. สามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนได้มากขึ้น ควรยกระดับการกระจายอำนาจในประเทศไทยโดยดำเนินการดังนี้ หนึ่ง  เพิ่มความเป็นอิสระในการตัดสินใจของ อปท. ให้พ้นจากการแทรกแซงของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น และอนุมัติงบประมาณ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย   สอง  สร้างแรงจูงใจให้ อปท. ขนาดเล็กควบรวมกันให้เกิด อปท. ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น  สาม ควรสร้างกลไกให้ อปท. รับผิดต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น  โดยกำหนดมาตรฐานการให้บริการ และให้ อปท. เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเพิ่มขึ้น