ฉัตร คำแสง
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของภาคการส่งออกไทย จากยุคที่เคยรุ่งเรืองมาจนถึงปัญหาที่ทำให้การส่งออกของประเทศไทยติดลบถึง 3 ปีซ้อนในปัจจุบัน และได้กล่าวถึงในเบื้องต้นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ผลักดันไทยสู่การเป็นชาติการค้า นำโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ในตอนนี้จะขอลงรายละเอียดว่าการเป็นชาติการค้านั้นหมายถึงอะไร แล้วจะช่วยให้ประเทศไทยได้รับอะไร เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของนโยบายนี้ ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก การที่เราพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียวจะทำให้ขาด Economies of Scale กล่าวคือ การผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศนั้นมีปริมาณที่น้อยเกินไป ส่งผลให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูง ดังนั้น จึงต้องพึ่งพาการส่งออกด้วยถึงจะไปสู่ระดับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยุทธศาสตร์การเป็นชาติการค้าพยายามหาช่องทางยกระดับการค้าของประเทศไทยให้ดีขึ้น
ในการยกระดับการค้าของไทยนั้นมีเรื่องจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง ทั้งการทำธุรกิจของภาคเอกชนก็ดี กฎระเบียบของภาครัฐ ตลอดจนมาตรการส่งเสริมและระบบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลง คือ การจะค้าขายสินค้าอะไรก็ตามจะต้องเข้าใจลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายและเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้ และเอาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งเสมอ ไม่ใช่มองเพียงแค่ว่าเรามีดีอะไรบ้าง การคิดถึงลูกค้าให้มากขึ้นสามารถแปลงเป็นนัยต่อการปรับกลยุทธ์ เช่น เอกชนต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ขาย ใช้การตลาดนำการผลิต และเรียนรู้ที่จะทำช่องทางจำหน่ายสินค้ามากกว่าเน้นแต่จะพึ่งพาบริษัทต่างชาติ และผู้ผลิตสินค้าที่มีความเก่งในการผลิตอยู่แล้วก็อาจต้องพัฒนาสินค้าหรือทำการออกแบบสินค้าเองให้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อให้ได้ บทเรียนในอดีตที่สำคัญของประเทศไทยก็คือการผลิตมากไม่ได้หมายความจะมั่งคั่งขึ้นมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียงเจ้าของแรงงานในการผลิต แต่มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่มักจะตกอยู่กับผู้ที่ทำการตลาด ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์มากกว่า ซึ่งเป็นที่ประจักษ์จากการวิจัย การผลิตที่เก่งจะทำให้ร่ำรวยขึ้นได้นั้นจะต้องมีเสริมความรู้ลงไปด้วยและทำอย่างไรที่ให้ทักษะการผลิตของตนเองถูกเลียนแบบได้ยาก ตัวอย่างของภาคธุรกิจทำให้เห็นประเด็นดังกล่าวชัดเจนขึ้น ดังเช่นกรณีของบริษัทแอปเปิล ซึ่งคิดค้นโทรศัพท์มือถือ iPhone แต่บริษัทตนเองทำเพียงการตลาดและออกแบบสินค้า ในขณะที่จ้างบริษัทอื่นทำการผลิตสินค้าให้ ซึ่งก็เป็นบริษัทไต้หวันที่มีความสามารถในการรับจ้างผลิตและบริหารโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเป็น Partner สำคัญของบริษัทแอปเปิลได้ในที่สุด ผลลัพธ์ก็คือถึงแม้ว่า iPhone จะสามารถขายได้เครื่องละหลายร้อยดอลลาร์ แต่ผลประโยชน์ที่ตกกับประเทศจีนซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานนั้นมีไม่ถึง 10 ดอลลาร์
แล้วภาครัฐจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง? ภาครัฐอาจมีมาตรการที่เป็นตัวเงินจำนวนมากในการช่วยเหลือภาคเอกชนในการปรับตัว แต่สิ่งที่สำคัญคือภาครัฐจะต้องปรับบทบาทหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะการผ่อนคลายกฎในการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีในประเทศไทย ซึ่งอาจรวมไปถึงการผ่อนคลายการใช้แรงงานทักษะสูงจากต่างชาติด้วยซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสร้างสรรค์สินค้าและให้บริการที่ตรงต่อความต้องการ ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องปรับให้ประเทศไทยมีมาตรฐานสินค้าที่ได้คุณภาพในระดับนานาชาติและมีเพียงมาตรฐานเดียว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ขายในประเทศและสินค้าที่มีการนำเข้าส่งออก เพื่อให้สินค้าที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานไม่มีช่องทางในการระบายสินค้า รวมถึงการสร้างสนามแข่งขันที่มีความเป็นธรรม เพื่อให้ธุรกิจเกิดการแข่งขันกันพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและพยายามใช้กฎระเบียบของภาครัฐในการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบ
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หมายความว่า ประเทศไทยจะต้องเลิกทัศนคติการขายสินค้าแบบเน้นปริมาณดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น แข่งขันกันว่าใครส่งออกข้าวได้เป็นที่ 1 ของโลก มิเช่นนั้น แม้เราจะลงแรงมากเท่าไหร่ เราก็ไม่มีทางก้าวทันหรือแซงหน้าคู่แข่งได้ หรือเรียกได้ว่าเราจะตกอยู่ในภาวะยิ่งแข่งยิ่งแพ้
ดังนั้น เราต้องหันกลับมาดูและให้ความสำคัญกับมูลค่าเพิ่มว่าสินค้าที่ส่งออกไปนั้น สร้างคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อได้มากขนาดไหนแล้วผู้ขายอย่างเราจะสามารถเก็บ มูลค่าเพิ่มเหล่านั้นไว้ได้มากเพียงใดมากกว่า
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 เมษายน 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: เก่งการค้า เพิ่มมูลค่าการผลิต ทางฝ่าวิกฤติส่งออกไทย (2)