‘ดร.กิริฎา’ชี้ทางรอดกับดักรายได้ อัพเกรดเป็นประเทศเกษตรแนวใหม่ผสมภาคบริการดันรายได้สูงขึ้นใน12ปี

ปี2016-05-26

ดร.กิริฎาแนะไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเร็วขึ้น ต้องหันทิศเป็นเกษตรแนวใหม่ผสมภาคบริการ

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า หากประเทศไทยยังไม่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยังเติบโตแบบเดิมที่เคยเป็นมายังทำเพียงแค่แก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ไปเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โตเฉลี่ยปีละ 3.5% เศรษฐกิจไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เพื่อไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ประมาณปี 2579 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า แต่เมื่อถึงเวลานั้นคนไทยจะเป็นประเทศที่คนจะแก่ก่อนรวย

T_1051
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ

“จีดีพีของไทยควรโตให้ได้มากกว่า 3% เพราะถ้าต่ำกว่านี้อาจจะใช้เวลานานเป็น 30 ปี กว่าจะพ้นไปเป็นรายได้สูง” ดร.กิริฎา กล่าว อย่างไรก็ดี หากไทยมีการปรับเปลี่ยนอัพเกรดจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง โดยเดินตามซูเปอร์คลาสเตอร์ตามนโยบายที่รัฐบาลว่าไว้จะทำให้จีดีพีโตเฉลี่ย ปีละ 4.5% คือโตเพิ่มมาได้อีกปีละ 1.5% ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวข้ามไปเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2571 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า

และกรณีสุดท้าย หากประเทศไทยปรับจากปัจจุบันไปเป็นภาคเกษตรแนวใหม่ผสมผสานกับภาคบริการที่จะทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงงานได้มากขึ้น เพราะสัดส่วนของภาคบริการกว้างมากไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยวหรืองานบริการเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ และภาคบริการมีสัดส่วนในจีดีพีที่แท้จริงถึง 56.2% สูงกว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 28.4% และภาคเกษตรที่ 7.2% และภาคบริการยังมีการใช้แรงงานสูงถึง 43% ของแรงงานทั้งหมดสูงกว่าภาคเกษตรที่ใช้อยู่ 33.4% และสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ 16.8% จะทำให้จีดีพีไทยโตเฉลี่ยได้ปีละ 5.21% ทำให้สามารถก้าวข้ามไปเป็นประเทศรายได้สูงได้ในปี 2571 เช่นกัน

แต่กรณีสุดท้ายมีข้อดีคือ ไทยจะใช้พลังงานลดลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะไม่ต้องลงทุนสร้างขยายโรงงานขนาดใหญ่มาก เนื่องจากงานภาคบริการจะเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี ใช้อินเทอร์เน็ตที่คนเข้าถึงอยู่แล้วกว่า 50% ของประชากร รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่ไทยมีสูงที่สุดในภูมิภาคได้ด้วย เพราะทุกคนสามารถมีงานทำหารายได้ได้ดีขึ้นกว่าโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม

ดร.กิริฎา ระบุว่า สำหรับไทยน่าจะเป็นในรูปแบบที่ 2 และ 3 เพราะเศรษฐกิจไทยคงไม่ทิ้งภาคอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่ได้พัฒนาภาคบริการที่มากไปกว่าการท่องเที่ยวมากนัก หากเป็นเช่นนั้นไทยน่าจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางไปประเทศรายได้สูงได้ประมาณปี 2571 โดยต้องพัฒนาคน พัฒนาการศึกษาขึ้นมารองรับด้วย ดังนั้นนโยบายภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น

ดาวน์โหลดเอกสารการวิเคราะห์จากงานเสวนาวิชาการ New Normal or No Normal กระแสไทยในกระแสโลก


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  เมื่อ 26 พฤษภาคม 2559 ในชื่อ: ‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้ทางรอดกับดักรายได้ อัพเกรดเป็นประเทศเกษตรแนวใหม่ผสมภาคบริการดันรายได้สูงขึ้นใน 12ปี