นณริฏ พิศลยบุตร
พนาทิตย์ เลิศประเสริฐกุล
จากการเฝ้าติดตามตรวจสอบ การทำประมงผิดกฎหมายของไทย โดยสหภาพยุโรป (อียู) ที่ขยายระยะเวลาการพิจารณามาต่อเนื่อง ท้ายสุดคณะกรรมาธิการยุโรปยังคงมีมติไม่ปลด “ใบเหลือง” แก่ไทยเท่ากับว่าความพยายามที่ผ่านมายังคงไม่เพียงพอตามมาตรฐานอียู
หากย้อนดูผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประเทศไทยติดกับ “กับดักใบเหลือง” จากอียูมาครบปี ได้ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงอย่างชัดเจน ด้วยมูลค่าการส่งออกเมื่อปี 2558 ของไทยไปสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 2.07 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนหน้าเคยสร้างมูลค่าได้ถึง 2.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลกระทบอาจไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากนี้ อุตสาหกรรมประมงของไทยจะต้องเตรียมรับมือกับมาตรการของประเทศคู่ค้าสินค้าประมงยักษ์ใหญ่อีกรายคือ สหรัฐอเมริกาที่กำลังดำเนินการจัดทำกฎหมายเพื่อขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (Presidential Task Force on Combating IUU Fishing) กฎหมายการทำผิดเกี่ยวกับการค้าอาหารทะเล (Seafood Fraud)
โดยกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญคล้ายกับ มาตรการ IUU Fishing ของอียู แต่มีผลบังคับครอบคลุมกว้างขวางลงไปถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เท่ากับว่าอุตสาหกรรมประมงไทยต้องเตรียมรับกฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่นี้ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ให้หลุดจากกลุ่ม Tier 3 ใน TIP Report ที่สร้างผลกระทบ ต่อมูลค่าสินค้าประมงส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงไปแล้ว คิดเป็นมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท
แต่ใช่ว่า จะมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาจากเงื่อนไขการจำกัดการส่งสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะกรณีการได้รับใบเหลืองจากอียูแต่หลายประเทศก็สามารถรื้ออุตสาหกรรมประมงทั้งระบบจนได้รับ “ใบเขียว” ที่น่าศึกษาเป็นบทเรียนตัวอย่าง
ประเทศฟิลิปปินส์ เคยติดอยู่กับกับดักใบเหลืองนาน 1 ปี ตั้งแต่มิถุนายน 2557-พฤษภาคม 2558 ในฐานไม่ให้ความร่วมมือกับต่างประเทศในการจัดการทำประมงแบบ IUU กรมการเกษตรของฟิลิปปินส์ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเข้าเป็นภาคีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก
เพื่อให้สามารถติดตามการทำประมงของเรือสัญชาติฟิลิปปินส์ในพื้นที่นอกอาณาเขตทางทะเลและได้ปรับปรุงกฎหมาย Philippine Fisheries Code of 1998 โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิด และเพิ่มมาตรการบังคับบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน รวมทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่ที่ผ่านมาเน้นเพียงการยับยั้งไม่ให้เรือผิดกฎหมายออกเดินเรือเท่านั้น แต่ยังไม่มีการลงโทษที่ชัดเจน
ขณะที่เกาหลีใต้เคยได้รับใบเหลืองจากอียู เนื่องจากมีการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำเขตแอฟริกาตะวันตก ทางกระทรวงมหาสมุทรและการประมงจึงจัดให้มีระบบตรวจสอบเรือ ที่สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของเรือได้จากดาวเทียม และเรือประมงทั้งหมดจะต้องได้รับการติดตั้งระบบ logbook ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการจับปลาแบบนาทีต่อนาที (real time)
อีกทั้งได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการพัฒนาประมงทางน้ำระยะไกล (Distant Water Fisheries Development Act: DWFD) ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่กรกฎาคม 2558 โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ริบสินค้าประมง ผิดกฎหมายได้ที่ท่าเรือ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการดำเนินการกับเรือประมง สัญชาติเกาหลีที่ทำการประมงแบบ IUU ในน่านน้ำนอกเขตอำนาจของเกาหลีและเพิ่มบทลงโทษที่หนักขึ้นแก่ผู้ละเมิดการกระทำดังกล่าว
ส่วนประเทศฟิจิ แก้ปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานผ่านการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับเกาะอื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ร่วมมือกับตำรวจกองทัพเรือและธนาคารกลาง
อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ ความตั้งใจและมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหา และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง ดังนั้น สำหรับกรณีของไทยในระยะนี้ สิ่งที่ควรเดินหน้าต่อเพื่อก้าวพ้นกับดักใบเหลือง ดึงความเชื่อมั่นจากนานาชาติกลับมา คือ
1. บังคับใช้กฎหมายและเร่งแก้ปัญหาระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ
2. ปรับปรุงกฎหมาย และจัดหาให้มีกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหา IUU Fishing เพราะการออกมาตรการคุมเรือผิดกฎหมายไม่ให้ออกทำการประมง อาจทำให้ขาดรายได้ นำไปสู่การหาช่องทางลักลอบทำประมง อยู่ตลอดเวลา
3. ภาครัฐต้องชี้ให้เห็นว่า ได้มีการกำหนดและควบคุมการจับสัตว์น้ำไม่เกินปริมาณความสมดุลทางธรรมชาติอย่างจริงจัง และไม่โอนอ่อนต่อภาคเอกชนในการแทรกแซงการดำเนินการ โดยแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับภาคเอกชน เช่น กลุ่มผู้มีอิทธิพล และข้าราชการที่มีส่วนรู้เห็น
4. แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานทาสในภาคประมงและโรงงาน โดยปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญขณะนี้คือ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังไม่ตรงจุด ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่าแรงงานประสบปัญหาและต้องการอะไร
อีกทั้ง สิ่งที่ควรทำในระยะยาว คือการทำแผนการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อกำหนดจำนวนใบอนุญาตได้อย่างเหมาะสม มีการกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับ บทลงโทษเพื่อปรับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลกับกระบวนการสร้างตามธรรมชาติ
หากภาครัฐเร่งดำเนินการแก้ไขส่วนนี้ คาดว่าไทยจะมีโอกาสหลุดจากใบเหลือง และจะช่วยลดอุปสรรค ยกระดับความเข้มแข็งทางการค้า สอดคล้องกับที่ภาครัฐ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์มุ่งให้ความสำคัญ เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์ผลักดันไทยเป็นชาติการค้าอีกด้วย
‘มาตรการ IUU Fishing ของอียูแต่มีผลบังคับ ครอบคลุมกว้างขวางลงไปถึงการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ เท่ากับว่า อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเตรียมรับกฎเกณฑ์มาตรฐานใหม่นี้’
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: กับดัก’ใบเหลือง IUU’ทำอย่างไรไม่ย่ำกับที่