เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก ในงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากลุ่มภาคีธุรกิจอาหาร โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพการค้าโลกและแนวทางในการปรับตัว และหัวข้อการเตรียมการเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่า ปัจจุบันแม้มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่เจรจาระหว่างกันของประเทศต่างๆ มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีข้อกีดกันด้านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่เรื่องภาษีมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจไทยที่จะทำอย่างไรให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น และที่สำคัญไม่มีใครสามารถยับยั้งการเกิดข้อกีดกันมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่เรื่องภาษีอันเกิดใหม่ได้ เพราะแต่ละประเทศผู้นำเข้าออกข้อกำหนดใหม่ๆ ได้ ในปี 2557 มีข้อกีดกันดังกล่าวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง (G20) ที่แต่ละประเทศสร้างขึ้น รวมกันกว่า 962 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นในระดับที่มาก เกือบ 3 เท่า จาก 3 ปีก่อนหน้า
“ปัจจุบันไทยยังไม่มีหน่วยงานหลักติดตามข้อกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องภาษี ซึ่งควรจะต้องมีหน่วยงานมาดูแล และควรมีการบูรณาการจัดทำมาตรฐานเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารร่วมกัน เช่น องค์การอาหารและยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากดูงานที่ตัวเองรับผิดชอบแล้ว ควรทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมรับมือและเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการไทยว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรกับมาตรฐานการค้าใหม่ที่เกิดขึ้น” ดร.เดือนเด่นกล่าว
ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเอฟทีเอ กล่าวว่า ปี 2557 ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออก ใช้สิทธิ์เอฟทีเอเพียง 51.7% จากสิทธิ์ที่ใช้ได้ทั้งหมด ประหยัดภาษีได้ 146,541 ล้านบาท ถือว่ายังใช้ในระดับที่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) นอกจากนี้ผู้ประกอบการทุกขนาดบางส่วนยังเห็นว่าไม่จำเป็นในการใช้เอฟทีเอ เพราะผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้าไม่ได้ขอมา และมูลค่าส่งออกไม่สูง กระบวนการเอกสารขอใช้สิทธิ์ยุ่งยาก ดังนั้นหากไม่มีการเจรจาเอฟทีเอเพิ่มแต่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอครอบคลุมสิทธิ์ที่มีเต็ม 100% จะประหยัดภาษีได้ 279,757 ล้านบาท
นายพรชัย พูลสุขสมบัติ อุปนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารมีความซับซ้อนขึ้น ตลาดโลกให้ความสนใจเรื่องตรวจสอบย้อนกลับอย่างมาก เช่น ผลไม้บรรจุกระป๋องอย่างสับปะรด ก็ต้องระบุที่มาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ การทำเกษตรพันธะสัญญาซึ่งควบคุมมาตรฐานการผลิตได้เป็นอีกคำตอบหนึ่ง โดยสัญญาควรเป็นธรรมกับเกษตรกร มีการรับรองราคาขั้นต่ำ เอกชนส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และพัฒนามาตรฐานการผลิต ตรงนี้ก็ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง โรงงานเอกชนมีผลผลิตป้อน ผู้บริโภคตรวจสอบย้อนกลับได้ อย่างไรก็ตามการทำเกษตรพันธสัญญาในแต่ละอุตสาหกรรม เช่นอาหาร ปศุสัตว์ ก็ควรมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปตามลักษณะอุตสาหกรรม จะใช้แบบเหมารวมระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรไม่ได้
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนออนไลน์ เมื่อ 7 มิถุนายน 2559 ในชื่อ: ทีดีอาร์ไอชี้ธุรกิจไทยเสี่ยงข้อกีดกันการค้าใหม่ๆแนะตั้งหน่วยงานรับมือ