ถกการฟ้องหมิ่นประมาท นักวิชาการกฎหมายชี้ภาครัฐใช้กฎหมายสกัดประชาชนตรวจสอบการทำงานสาธารณะ แนะพิจารณาความผิดโดยคำนึงถึงประเด็นสาธารณะ นักสิทธิถามความผิดในโลกออนไลน์ สิ้นสุดตรงไหน เผยหลายคดีเกิดนานแล้ว-ถูกดำเนินคดีก่อนประกาศ คสช. ยังต้องขึ้นศาลทหาร นักวิชาการสื่อระบุผลจากการฟ้องหมิ่นประมาท ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ยังส่งผลเซ็นเซอร์สาธารณะด้วย
6 มิ.ย. 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนา“การฟ้องหมิ่นประมาท: จุดสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม” ที่ ห้องซาลอน A โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด รัชดาฯ
มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดการเสวนาว่า ปัจจุบัน องค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปัญหาและช่องโหว่ที่ปรากฏ จึงจำเป็นต้องเปิดให้ภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนได้ร่วมกันตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีเช่นเดียวกัน
มานะ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำงานในการตรวจสอบรัฐ ทั้งเรื่องทุจริต สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หรือสาธารณสุขเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยง อาจถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ดำเนินคดีโดยเฉพาะฟ้องหมิ่นประมาท ในแต่ละปีจะมีองค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกฟ้องร้องจากการเปิดโปงและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งทำให้มีภาระในการดำเนินคดีและความกังวลใจแก่ผู้ถูกฟ้องร้องจนเป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดความระแวงและไม่กล้าทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอีก
ช่วงแรก เป็นการนำเสนอกรณีศึกษาและกรอบแนวคิด มีวิทยากรประกอบด้วย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย
ตั้งคำถาม ความผิด ‘ออนไลน์’ สิ้นสุดตรงไหน
อานนท์ ชวาลาวัณย์ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw กล่าวในหัวข้อกรณีการฟ้องหมิ่นประมาทผู้วิจารณ์นโยบายและการทำงานของรัฐว่า เสรีภาพในการแสดงออกมีอยู่จริง รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับก็เขียนไว้อย่างนั้น แต่การใช้เสรีภาพของเราก็อาจไปกระทบเสรีภาพของคนอื่นได้เช่นกัน จึงมีการออกแบบกฎหมายหมิ่นประมาทขึ้น ถ้าสมมติว่าเราใช้เสรีภาพของตนเองเกินขอบเขตแล้วมีผู้ได้รับความเสียหาย เขาก็มีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิของตนเองตามกฎหมายด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยบางประเทศความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ใช่ความผิดทางอาญา ไม่ใช่คดีเชิงยุทธศาสตร์แต่เป็นคดีที่จะแสดงว่ามีสิทธิที่จะฟ้องร้อง จึงเห็นได้ว่าการแสดงออกมีราคาที่ต้องจ่าย เราอาจจะถูกลงโทษ มีค่าปรับที่อาจต้องจ่าย หรือค่าทนายที่ต้องเสีย
อานนท์ ชี้ว่า ที่ผ่านมา การฟ้องหมิ่นประมาทมักจะพ่วงกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา14 (1) ว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่จากการติดตามคดี ยังพบว่า มีการพ่วงมาตรา 14 (2) ที่ว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนอีกด้วย
อานนท์ กล่าวต่อว่า คดีหมิ่นประมาทมีการฝากขังตามกระบวนการ ซึ่งถ้าเอกชนเป็นผู้เสียหายแล้วฟ้องร้องคดีต่อศาลเองก็จะไม่มีการฝากขัง แต่ถ้าเอกชนเป็นผู้เสียหายแล้วไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี ผู้ต้องหาแล้วต่อมาตกเป็นจำเลยก็จะถูกนำไปฝากขัง ผัดละ 12 วัน รวมแล้วต้องส่งฟ้องภายใน 48 วัน ซึ่งจะเห็นว่าถึงจะไม่ต้องติดคุกแต่ขั้นตอนระหว่างที่จะนำไปสู่คำพิพากษาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมตัว
“สมมติว่าพอเราถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำเลย เราก็จะถูกนำตัวลงไปในห้องกักตัวรวมกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ก็เท่ากับว่าในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างน้อยก็ 3 – 4 ชั่วโมง เราก็จะถูกควบคุมตัว สูญเสียอิสรภาพ แม้ว่าสุดท้ายเราจะได้ประกันตัว ผมก็เชื่อว่าถ้าต้องลงไปอยู่จุดนั้นคงจะเป็นความทรงจำที่ไม่ดีช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต” อานนท์กล่าว
ตอนหนึ่ง อานนท์ ยกตัวอย่างสิ่งที่น่าสนใจในคดีที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานถูกกองทัพเรือฟ้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่รายงานซึ่งมีตอนหนึ่งอ้างถึงรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องคดีนี้ ด้วยเหตุว่า สำนักข่าวภูเก็ตหวานไม่น่าจะมีเจตนาหมิ่นประมาทกองทัพเรือโดยการโฆษณา เพราะข้อมูลที่นำมาอ้างอิงมีความน่าเชื่อและเป็นประเด็นสาธารณะ อีกทั้งเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ไม่น่าจะเป็นการหมิ่นประมาททางเนื้อหาแต่เป็นการละเมิดทางเทคนิค อย่างไรก็ดีผลกระทบระหว่างการดำเนินคดีนี้ คือ บรรณาธิการสำนักข่าวภูเก็ตหวานที่เป็นชาวออสเตรเลียถูกยึดพาสปอร์ตทำให้ไม่สามารถเดินทางไปหาพ่อที่ป่วยอยู่ต่างประเทศได้
อานนท์ ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า สมมติเราโพสต์อะไรสักอย่างบนออนไลน์ แล้วเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นมันสิ้นสุดลงตรงไหน เพราะในความเข้าใจของเรา คือ ทำผิดตรงไหน การกระทำก็น่าจะจบลงตรงนั้น แต่การทำผิดบนออนไลน์ยังคงค้างอยู่และคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา โดยยกตัวอย่างกรณีคดีที่มีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะมีประกาศ คสช. ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่อัยการศาลทหารอ้างว่า แม้การกระทำนั้นจะทำไว้นานแล้ว หรือถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่เมื่ออยู่บนโลกออนไลน์ยังคงสามารถเข้าถึงได้
ชี้รัฐฟ้องหมิ่นประมาทประชาชน เพื่อ “ปิดปาก” เลี่ยงการตรวจสอบ
ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ กรอบแนวคิดของกฎหมายป้องกันการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อ “ปิดปาก” (Anti-SLAPP Law) ว่าในต่างประเทศ การดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (SLAPP) เป็นการดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการแสดงออกซึ่งความคิดหรือการโต้เถียงโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อสู้กับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นกับรัฐบาลในเรื่องประโยชน์สาธารณะ ซึ่ง SLAPP ถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากหรือข่มขู่การวิพากษ์วิจารณ์โดยการบังคับให้คนที่พูดหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องสาธารณะ ต้องใช้เงินมหาศาลในการต่อสู้กับข้อกล่าวหา หรือผู้ดำเนินคดีไม่มีเจตนาที่จะฟ้องร้องอย่างยุติธรรมแต่ดำเนินคดีเพื่อจะข่มขู่คนที่ไม่เห็นด้วยกับตนหรือกิจการที่ตนทำอยู่ ทำให้ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดำเนินคดี แต่ไทยมี SLAPP ในทางอาญา ถูกใช้โดยบริษัทใหญ่และเจ้าหน้าที่รัฐ ก็คือ นักการเมือง ดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องใช้เวลาในการต่อสู้ ใช้เงินจำนวนมาก ทำให้คนที่แสดงออกถอนใจ ยุติคดี เจรจา ถอนฟ้อง แก้ข่าวไปเองและการติดตาม ตรวจสอบก็จะยุติลง การคอร์รัปชันก็จะมีมากขึ้น ถ้าปล่อย SLAPP เกิดขึ้นจำนวนมาก ในที่สุดจะขัดขวางคุณค่าที่สำคัญ คือ คุณค่าของการสนับสนุนคุ้มครองและเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกในเรื่องสาธารณะเพื่อทำให้กิจการสาธารณะเกิดความโปร่งใส
ส่วนกฎหมาย Anti-SLAPP ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกาไม่ได้ห้ามโจทก์ฟ้องคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ แต่กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานพิเศษเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ (special motion to strike) คือ เปิดช่องให้จำเลยขอยุติการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและกำหนดภาระให้โจทก์ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายและค่าทนายให้กับจำเลย
สำหรับการใช้เสรีภาพซึ่งการแสดงออกแล้วไปกระทบความสงบเรียบร้อยของประชาชนในไทยนั้นเป็นทั้งความผิดแพ่งและอาญา เป็นเรื่องแปลกมากที่การพูดไม่จริงซึ่งเป็นความผิดทางแพ่งต้องชดใช้สินไหมทดแทนไม่ว่าจะประมาทหรือจงใจ แต่ความผิดทางอาญาดูเพียงเจตนา และมีทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หมิ่นประมาทธรรมดา มาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 329 หมิ่นประมาทที่มีมิติทางสาธารณะ ซึ่งน่าจะเอามาแก้ปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (SLAPP) ได้ โดย มาตรา 329 (3) เป็นข้อยกเว้นของความผิดหมิ่นประมาทโดยระบุว่า ผู้ใดก็ตามได้ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งเป็นบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมทำได้
แนะพิจารณาความผิดหมิ่นประมาทให้คำนึงถึงประเด็นสาธารณะ
“ถ้าเราให้เขาพูด ให้เขาวิพากษ์วิจารณ์ และให้เขาเปิดโปงการทำทุจริตในภาครัฐต่อไป มันจะเป็นเครื่องป้องกันคอร์รัปชันได้ดีที่สุด ตรงกันข้ามถ้าเราบอกว่าการแสดงออกในเสรีภาพซึ่งความคิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณะเรื่องส่วนตัว จะไปละเมิดชื่อเสียงเกียรติยศคนอื่นไม่ได้ ติดคุกหมด ประโยชน์สังคมจะลดลง จะไม่มีใครกล้าออกมาตรวจสอบในวงราชการ” ปกป้อง กล่าวและเสนอ 2 ประเด็น คือ
1.เพิ่มข้อความต่อไปนี้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวข้อความแสดงความคิดเห็นหรือไขข่าวแพร่หลายโดยสุจริตในกิจการสาธารณะ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน”
2.เมื่อบุคคลใดถูกดำเนินคดีแพ่ง เพราะเหตุ SLAPP ให้ยื่นคำขอต่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแห่งมาตรา 25 โดยไม่ต้องพิจารณาสืบพยาน เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปจากศาลโดยไม่เนิ่นช้า
ปกป้องทิ้งท้ายว่าไม่ต้องถึงขั้นแก้กฎหมายในทางอาญา เพียงแค่ตั้งประเด็นว่าคดีหมิ่นประมาททั้งหลายที่เอกชนฟ้องเอกชนนั้น เป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่
จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงกรอบแนวคิดการฟ้องหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยชี้ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มีต้นแบบจาก Convention on Cybercrime ของ Council of Europe ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่แบบที่วางไว้ว่าจะกำหนดให้ประเทศสมาชิกที่ลงนามและให้สัตยาบันกำหนดกฎหมายภายในว่าจะมีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้ไทยเองจะไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีการไปดึงกรอบแนวคิดนี้มาปรับใช้ จนได้เป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14
“เวลามีอะไรเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต คนส่วนใหญ่มักจะดู พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อน แม้กระทั่งเรื่องเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ก็ตาม ทั้งที่มีกฎหมายเดิมของเครื่องหมายการค้า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์อยู่แล้ว และเมื่อมาดู พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้เริ่มต้นจากกฎหมายอาญามาตรา 326 (หมิ่นประมาท) ทำให้มีความพยายามจะตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 14 (1) ให้ไปถึงกรณีหมิ่นประมาทด้วย” จอมพลกล่าว
จอมพล กล่าวต่อว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีชัดเจนอยู่แล้วทั้งในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 รวมถึงข้อยกเว้น ซึ่งเป็นคดียอมความได้ แต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (1) เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการดึงกรอบแนวคิดของต่างประเทศเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์มาใช้ ทำให้สุดท้ายกลายเป็นบทบัญญัติที่คลุมเครือ
ชี้ผล ‘ฟ้องหมิ่นประมาท’ ไม่ใช่แค่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เซ็นเซอร์การรับรู้สาธารณะด้วย
ช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาเรื่อง การฟ้องหมิ่นประมาท: จุดสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและ ประโยชน์ส่วนรวม โดยวิทยากรประกอบด้วย สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ไพโรจน์ พลเพชร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุภิญญา เล่าถึงประสบการณ์ต่อสู้คดีหมิ่นประมาทของตนเองว่า ต้องมีการพิสูจน์ตัวเองค่อนข้างมาก เพราะศาลต้องการพิสูจน์เจตนาแล้วดูว่าเป็นประเด็นสาธารณะหรือไม่ ไม่ได้ดูหรือโต้เถียงกันว่าถูกหรือผิด เหมือนกับว่าเมื่อถูกฟ้องต้องลงทุนมหาศาลในการพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่ได้ขัดแย้งกับผู้ฟ้อง และประวัติชีวิตไม่ได้มีปัญหา
สุภิญญาตั้งคำถามว่า หลังแสดงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องพิสูจน์ทั้งชีวิตขนาดนี้เลยหรือ ทั้งที่สิ่งที่พูดเป็นประเด็นสาธารณะ ราคาที่ต้องเสียมากไปหรือไม่กับการตั้งคำถามต่อบุคคลสาธารณะหรือองค์กรที่อาจจะมีผลกระทบต่อสังคม
“ท้ายที่สุดแล้วต้องตัดสินใจว่าจะพูดหรือไม่พูด เมื่อพูดแน่นอนว่ามีผลตามมา แต่ถ้าชั่งน้ำหนักแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญในงานของเราและสังคมควรจะรู้ก็พูด แต่แน่นอนว่าเรารอบคอบมากขึ้นในเรื่องของการใช้คำ หรือไม่ใช้ถ้อยคำที่ล่อแหลมมากเกินไปแต่ยังคงสาระสำคัญอยู่” สุภิญญากล่าวทิ้งท้าย
ประสงค์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่คดีที่ตนเองถูกฟ้องหมิ่นประมาทมาไม่ถึงขั้นไต่สวน เพราะมักมีการเจรจาหรือถอนฟ้องกันก่อนโดยเฉพาะในคดีใหญ่ และถ้าจะอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน ต้องรับสภาพแบบนี้ต่อไป ส่วนตัวแม้เคยถูกฟ้องเป็นหมื่นล้าน แต่คิดว่าวิธีการคำนวณความเสียหายของศาลค่อนข้างโบราณ การลงโทษของระบบกฎหมายไทยไม่จ่ายตามจริง ฟ้องสูงไว้เป็นแค่จิตวิทยาและทำให้คู่ต่อสู้ได้เปรียบเสียด้วยซ้ำ
“ผมรู้ดีอยู่แล้วว่าทำอาชีพนี้ก็อาจมีสิทธิถูกฟ้อง แต่จริงๆ ตั้งแต่สมัยก่อนถึงปัจจุบัน สื่อมวลชนคุกคามด้วยเหตุอื่น ดังนั้นวิธีฟ้องหมิ่นประมาทดีกว่าที่จะมาทุบ มาอุ้ม ให้โอกาสเราได้สู้ในที่สว่างในทางเลือกที่จำกัดการฟ้องยังดีกว่าในกรณีอื่นๆ” ประสงค์ กล่าว
รสนา กล่าวว่า การเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ แล้วถูกฟ้องหมิ่นประมาท ถือว่าเป็นการทดลองกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นกลไกและเครื่องมือของรัฐ ว่ามีจุดอ่อนและจะใช้กันต่อไปอย่างไร โดยอีกด้านหนึ่งคิดว่ากฎหมายเป็นทรัพยากรของบ้านเมืองที่ทุกคนจะต้องมีโอกาสได้ใช้ แต่ส่วนใหญ่ถูกใช้โดยฝ่ายบริหาร
ประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ผู้มีอำนาจรัฐต้องการจะสกัดประชาชนที่ตรวจสอบอำนาจนั้นทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การฟ้องหมิ่นประมาทแต่ยังมีอีกหลายวิธีที่พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของประชาชน พร้อมชี้ว่าขณะที่ประชาชนใช้เงินของตัวเองในการต่อสู้คดี แต่หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณของแผ่นดินมาฟ้องประชาชน นี่เป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน
ไพโรจน์ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 งานประโยชน์สาธารณะไม่ได้เป็นของราชการอย่างเดียวอีกต่อไป จึงเกิดการฟ้องหมิ่นประมาทปิดปากเพื่อจะสกัดการตรวจสอบงานสาธารณะ และส่วนใหญ่ผู้มีอำนาจที่ทำงานสาธารณะเป็นผู้ฟ้อง ดังนั้นเราต้องเชื่อมให้ได้ว่าบุคคลสาธารณะกับงานสาธารณะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย
“หลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าไม่ยอมให้ประชาชนตรวจสอบประเด็นสาธารณะก็เท่ากับว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย และถ้าใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันรุนแรงกว่า ยอมความก็ไม่ได้ แล้วเมื่อบุคคลสาธารณะหรืองานสาธารณะถูกตรวจสอบก็จะใช้เครื่องมือทางกฎหมายนี้ให้อีกฝ่ายเกิดความกลัวทั่วไป ยิ่งในบรรยากาศไม่ปกติอย่างนี้ ยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่” ไพโรจน์กล่าว
พิรงรอง กล่าวว่า แม้เราจะมองว่าสื่อออนไลน์เปิดกว้างทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบสาธารณะมากขึ้น แต่การฟ้องหมิ่นประมาทก็ยังเป็นภาวะคุกคาม งานวิจัยชิ้นหนึ่งมีการไปสัมภาษณ์ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเนื้อหา จำนวน 12 รายพบว่ามีการเซ็นเซอร์ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายหมิ่นประมาทไม่ใช่แค่การเซ็นเซอร์ตัวเองแต่เป็นการเซ็นเซอร์สาธารณะด้วย เพราะจะก่อเป็นต้นทุนที่องค์กรต้องจ่ายและส่งผลกระทบต่อบทบาทของสังคม
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไชต์ประชาไท เมื่อ 17 มิถุนายน 2559 ในชื่อ: ชี้ผล ‘ฟ้องหมิ่นประมาท’ ไม่ใช่แค่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เซ็นเซอร์การรับรู้สาธารณะด้วย