tdri logo
tdri logo
23 มิถุนายน 2016
Read in Minutes

Views

BPO กับการจ้างงานในฟิลิปปินส์

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ดังที่ทราบ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการส่งออกแรงงานเป็นล่ำเป็นสันทั้งแรงงานระดับบนและระดับล่าง ฟิลิปปินส์มีประชากร 99 ล้านคน แต่ไปทำงานอยู่ทั่วโลกขณะนี้ประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ย้ายถิ่นไปอย่างถาวร 5 ล้าน เป็นแรงงานย้ายถิ่นชั่วคราว 4 ล้าน และแรงงานนอกระบบอีก 1 ล้านคน จำนวนแรงงานส่งออกแต่ละปีเกือบ 2 ล้านคน ร้อยละ 70 เป็นแรงงานระดับบนและร้อยละ 30 เป็นแรงงานระดับล่าง มีรายได้ที่ส่งกลับฟิลิปปินส์ประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะนี้ฟิลิปปินส์มีดาวรุ่งดวงใหม่ในการหาเงินเข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำโดยอาศัยทุนมนุษย์และความเจริญทางด้าน IT ในประเทศ นั่นคือ BPO ซึ่งย่อมาจาก Business Process Outsourcing หรือการจ้างคนนอกดำเนินการธุรกิจบางส่วน

BPO เป็นสายพันธุ์หนึ่งของการ Outsources ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น
1.การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) เป็นกิจกรรมด้านโลจิสติกส์เป็นส่วน ใหญ่ เช่น การบริหารจัดการสินค้าคงคลังและการขนส่ง เป็นต้น

2.การปฏิบัติการ (Operations) เช่น การวิจัยและพัฒนา การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น

3.การบริหารจัดการงานภายในองค์กร (Business Administration) เช่น งานการเงินและบัญชี การพัฒนาบุคลากร การเบิกจ่ายต่างๆ เป็นต้น

4.การบริการลูกค้า (Sales, Marketing, and Customer Care) เช่น การขาย ลูกค้าสัมพันธ์ การตลาด เป็นต้น มักจะอยู่ในรูปของ Call Center หรือ Contact Center

รูปแบบดังกล่าวอาจจำแนกต่างกันออกไป เป็นการรับจ้างบริหารจัดการธุรการภายใน (back office) ซึ่งรวมถึงงานธุรการ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ หรือการคลังและการบัญชี และการรับจ้างดำเนินงานส่วนหน้า (front office) ซึ่งรวมถึงการให้บริการลูกค้า เช่น ศูนย์ติดต่อลูกค้า หรือลูกค้าสัมพันธ์ นอกจากนั้นแล้วอาจจำแนกออกตามลักษณะการให้บริการ เช่น การให้บริการเกี่ยวกับสารสนเทศ (IT-BPO หรือ ITES-BPO: Information Technology outsourcing) ซึ่งสายนี้กำลังมาแรงและเป็นสายหลักในฟิลิปปินส์ หรือบริการด้านความรู้หรือวิชาการ (Knowledge outsourcing: KPO) หรือบริการด้านกฎหมาย (Legal process outsourcing: LPO) เป็นต้น

ฟิลิปปินส์มีรายได้จาก BPO ประมาณ 6.7 แสนล้านบาท ในปี 2557 และเพิ่มเป็น 7.8 แสนล้านบาท ในปี 2558 โดยสร้างงานได้ 1.2 ล้านตำแหน่ง

IT-BPO ในฟิลิปปินส์มีการขยายตัวอย่างกว้างขวางและไม่หยุดนิ่ง โดยไม่ได้เป็นแค่ Call center หรือ Contact center แต่มีความหลากหลาย มีทั้งการรับจ้างดำเนินงานธุรการ ให้บริการด้านความรู้หรือวิชาการ การออกแบบและวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ภาพเคลื่อนไหว เกมคอมพิวเตอร์ และการถอดความทางการแพทย์ (Medical transcription) สาขาต่างๆ เหล่านี้กำลังเติบโตโดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและสมาคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการของฟิลิปปินส์

ในอดีต BPO ของฟิลิปปินส์เริ่มจากศูนย์บริการลูกค้า (Contact center) แห่งเดียวที่ตั้งโดยชาวตะวันตกในปี 2535 หรือเมื่อราว 25 ปีก่อน พัฒนาการที่สำคัญเกิดขึ้นในเวลา 3 ปีต่อมาเมื่อรัฐบาลออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเปิดโอกาสให้มีการลงทุนที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก รวมทั้งมาตรการจูงใจทางภาษีจึงสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้จำนวนมาก เขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ครอบคลุมถึงพื้นที่สำนักงานของบริษัท BPO จึงเสียภาษีรายได้แค่ร้อยละ 5 รวมทั้งมีการตั้งสมาคมศูนย์บริการลูกค้าแห่งฟิลิปปินส์ขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจ Outsource ของประเทศ ทั้งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจ Outsource โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ในปี 2544 ศูนย์ Outsource จากอเมริกาชื่อ People Support ย้ายไปฟิลิปปินส์ มีการจ้างงาน 8,400 ตำแหน่งเกิดขึ้นในประเทศ

ในปี 2546 บรรษัท Convergys Corporation ของอเมริกาขยายกิจการเข้าไปเปิด call centers เพิ่ม 2 แห่ง

ในปี 2549 บริษัท ePLDTVentus เข้าไปบ้าง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 11,000 คน ทำรายได้เข้าฟิลิปปินส์ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

ในปี 2551 ฟิลิปปินส์แซงอินเดียในฐานะผู้นำธุรกิจ BPO บริษัท BPO ชั้นนำของอเมริกาส่วนใหญ่ได้เข้าไปตั้งสำนักงานในฟิลิปปินส์ อุตสาหกรรมนี้สามารถสร้างงานระดับบนได้เป็นแสนตำแหน่ง

ในปี 2553 ฟิลิปปินส์ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวง BPO ของโลก และจากจุดนี้ BPO ก็เติบโตต่อ สร้างรายได้และการมีงานทำในภาคเอกชนได้มากที่สุด

ในปี 2555 การจ้างงานในสาขา BPO พุ่งขึ้นถึง 7 แสนตำแหน่ง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางของฟิลิปปินส์เติบโตขึ้น กิจการ BPO กระจายไปทั่วประเทศ

สำหรับปี 2559 อุตสาหกรรม BPO ของฟิลิปปินส์ยังเติบโตต่อไป ประมาณการว่าฟิลิปปินส์จะมีรายได้จาก BPO ระหว่าง 7 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านล้านบาท ถึง 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2560

ในปี 2559 มีการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.5 ล้านตำแหน่งในปี 2560

ที่จริง BPO ไม่ใช่ของใหม่ในประเทศอาเซียน BPO ซึ่งทำกันมานานแล้ว ทั้งในไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ในไทย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) ร่วมกับทีดีอาร์ไอ สำรวจพบว่า ปี 2557 การผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มีจำนวนสถานประกอบการ IT-BPO เพิ่มขึ้นจาก 985 บริษัท เป็น 1,705 บริษัท ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป บริการซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว รวมกันทั้งสิ้นมูลค่า 5,700 ล้านบาท ในปี 2556 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ร้อยละ 53.9 การส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวร้อยละ 41.2 และที่เหลือเป็นการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูปร้อยละ 4.9 ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกด้านไอทีมีอนาคตสดใส

BPO น่าจะมีความสัมพันธ์กลับกันกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีตามข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับโลกและระดับอาเซียน เพราะ BPO ที่เป็น Off-shore BPO และ Near-shore BPO เป็นการค้าบริการข้ามชาติซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศต่อประเทศหรือต่อสมาชิกที่มีความตกลงกันในกลุ่ม เช่น WTO/GATS (World Trade Organization/ General Agreement on Trade in Services) ซึ่งเป็นระดับโลก หรือ AFAS (ASEAN Framework for Agreement on Services) ซึ่งเป็นระดับอาเซียน ซึ่งการค้าบริการข้ามชาติมี 4 รูปแบบ คือ (1) การให้บริการข้ามพรมแดน (2) การเข้าไป ใช้บริการในประเทศอื่น (3) การเข้าไปตั้งบริษัททำธุรกิจ และ (4) การเข้าไปให้บริการข้ามชาติ

BPO อยู่ในรูปแบบที่ 1 คือการค้าบริการข้ามชาติ โดยผ่านบริการ IT และไม่ต้องส่งบุคลากรไปยังประเทศลูกค้า ในกรณีของอาเซียน บุคคลสามารถเข้าไปให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศสมาชิกได้โดยอาศัยข้อตกลงร่วมกันในการยอมรับคุณวุฒิหรือคุณสมบัติของแรงงานวิชาชีพเรียกว่า Mutual Recognition Arrangement: MRA ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 8 วิชาชีพ คือ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ นักบัญชี และพนักงานธุรกิจท่องเที่ยว และเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและมีการกีดกันซึ่งกันและกันอยู่มาก

จะเห็นได้ว่า BPO สามารถลดความจำเป็นของ MRA ไปได้มาก เพราะไม่ต้องเคลื่อนย้ายบุคลากรข้ามประเทศ ดังนั้น MRA จึงไม่น่ามีผลบังคับใช้ นอกจากนั้นการใช้กลยุทธ์ BPO ยังลดความจำเป็นของบริษัทข้ามชาติในการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องติดกับดักการพึ่งพาปัจจัยการผลิตในประเทศอย่างเดียว เพราะต้นทุนการผลิตและบริหารธุรกิจในประเทศ BPO จะต่ำกว่าผลิตในประเทศหรือย้ายฐานการผลิต

อย่างไรก็ตาม รายงานของ ADB ปี 2555 ระบุว่าผลประโยชน์จากการเติบโตของ BPO ในฟิลิปปินส์ไม่ลงไปถึงประชาชนรากหญ้าส่วนใหญ่ ระหว่างปี 2548-2555 ในช่วงที่ BPO เติบโตนั้นสามารถสร้างงานได้เพียงร้อยละ 1 ของแรงงานทั้งหมดของฟิลิปปินส์ นอกจากนั้น อุตสาหกรรมนี้ยังจ้างแต่คนจบมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่

ก็แล้วแต่จะมอง แต่อุตสาหกรรมนี้น่าจะเหมาะกับประเทศไทยที่มีแรงงานจบมหาวิทยาลัยว่างงานจำนวนมาก นอกจากนั้น ถ้าเป็นงานที่มีรายได้ดีมีอนาคต คนจะได้หันไปเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกันมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจยุคดิจิตอลของไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด