ฟังเสียงผู้โดยสารรถสาธารณะ สู่ทางแก้ไขทั้งระบบ

ปี2016-06-30

ณัชชา โอเจริญ

ข่าวอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะไทยทั้งรถเมล์รถตู้ในกรุงเทพฯ และรถโดยสารระหว่างจังหวัดมีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

สถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกแสดงให้เห็นว่ามีรถโดยสารที่เกิดอุบัติเหตุมากถึง เกือบ 1,500 คันในปี 2558 มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยต่อรถจดทะเบียน 10,000 คัน จากอุบัติเหตุรถบัส 2 ชั้น สูงถึง 47.8 คน รถตู้ 16.1 คน และรถบัสชั้นเดียว 8.5 คน ได้สะท้อนว่าคุณภาพความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะไทยต้องปรับปรุง และด้วยเหตุนี้เองที่อาจมีส่วนทำให้รถโดยสารสาธารณะมีจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตามสถิติในช่วงปี 2554-2558 ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ลดลงร้อยละ 13 และ ร้อยละ 26 ตามลำดับ งานวิจัย “การประเมินคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของระบบรถโดยสารสาธารณะ” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่สำรวจศึกษาปัญหานี้โดยตรงมีผลตอกย้ำว่า รถโดยสารสาธารณะไทยยังมีอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไขยกใหญ่ทั้งระบบ ตั้งแต่ตัวรถ คนขับ จุดจอด ไปจนถึงตัวผู้ใช้บริการเอง

การสำรวจผู้โดยสารกว่า 1,000 ราย พบว่ามีความกังวลต่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งพบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ไม่ครบถ้วน การไม่พบเห็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างค้อนทุบกระจก และถังดับเพลิง รถโดยสารที่ไม่มีประตูฉุกเฉิน พฤติกรรมการขับขี่ที่รวดเร็วเกินไปสำหรับรถเมล์ในกรุงเทพฯ และรถตู้ การรับผู้โดยสารของรถตู้ที่เกินจำนวนกฎหมายกำหนด และการมีรถตู้โดยสาร “ป้ายดำ” หรือ รถตู้โดยสารที่ผิดกฎหมายให้บริการอยู่ ซึ่งผู้ที่ไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องยอมรับสภาพการใช้รถโดยสารสาธารณะเหล่านี้ต่อไป

ผลการวิจัยยังพบว่า ด้านผู้โดยสารเองก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังขาดการตระหนักถึงการใช้รถโดยสารอย่างปลอดภัยโดยเฉพาะ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งพบว่าผู้โดยสารรถตู้ในกรุงเทพฯ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมากถึง ร้อยละ 81 รองลงมาคือรถตู้ระหว่างจังหวัด ร้อยละ 53 และรถเมล์ระหว่างจังหวัด ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 34 อีกทั้งยังมีบางส่วนที่ใช้รถตู้โดยสารผิดกฎหมาย

นอกจากปัญหาด้านความปลอดภัยแล้ว การเข้าถึงรถโดยสารประจำทางก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการพัฒนา โดยการศึกษาในครั้งนี้พบว่า จุดจอดรถเมล์ในกรุงเทพฯยังมีจุดบอดในเรื่องการกำหนดตำแหน่งที่ตั้ง สิ่งกีดขวาง การขาดไฟส่องสว่าง การขาดข้อมูลการเดินรถที่จุดจอด และสภาพทรุดโทรมของหลังคาศาลาและที่นั่ง ส่วนสถานีขนส่งยังขาดความสะดวกในการเข้าถึง

จุดบอดของจุดจอดรถเมล์ เกิดจากการกำหนดจุดจอดที่ยังขาดการคำนึงถึงรูปแบบผังเมืองและการขยายตัวของเมือง และการจัดสรรงบประมาณ อีกทั้งยังมีปัญหาในด้านสัญญากับเอกชนที่ดูแลป้ายแลกกับการติดตั้งป้ายโฆษณาที่จุดจอดรถเมล์ ที่สำคัญคือ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ขาดการวางแผนระยะยาว และขาดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะของผู้ใช้งาน จึงต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้ได้จุดจอดรถเมล์ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเดินทาง มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม มีความปลอดภัย และผู้โดยสารเข้าถึงได้ง่าย

ส่วนสถานีขนส่งรถโดยสารที่ยังมีปัญหา ในด้านความสะดวกในการเข้าถึงผู้โดยสารต้องอาศัยแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงค่อนข้างสูง ปัญหามาจากการที่สถานีขนส่งบางส่วนอยู่ไกลจากตัวเมือง ขาดระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกับเมือง และไม่ได้คำนึงถึงถึงผู้สูงอายุและผู้พิการ

เพื่อปรับปรุงคุณภาพความปลอดภัย ภาครัฐควรเพิ่มความเข้มข้นกำกับดูแลผู้ประกอบการรถโดยสาร ทบทวนเกณฑ์ออกใบอนุญาตฯ ให้เข้มงวด อีกทั้งประเมินคุณภาพผู้ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการร่วมต่อเนื่อง ผลการประเมินคุณภาพนี้ ควรจะมีผลต่อการต่อใอนุญาตฯ ของผู้ประกอบการด้วย ในส่วนของผู้โดยสาร ตามกฎหมายหากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มีโทษปรับ 5,000 บาท จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวด

ในด้านการกำหนดมาตรฐานรถโดยสาร ภาครัฐจะต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารให้ได้มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างภายนอก ดังเช่นความแข็งแรง ของโครงสร้างตัวถัง และโครงสร้างภายในอย่างความแข็งแรงของเก้าอี้และจุดจับยึด การเพิ่มข้อกำหนดอื่นๆ เช่น การเพิ่มความถี่และอุปกรณ์ในการตรวจสภาพรถ การติดตั้ง อุปกรณ์นิรภัย ได้แก่ ค้อนทุบกระจก และถังดับเพลิง จากเดิมให้ติดตั้งเพียง 1 ตำแหน่ง เพิ่มเป็นอย่างน้อย 2-3 ตำแหน่ง การเพิ่มการทดสอบระบบเบรกภายหลังการดัดแปลงรถ และการติดตั้งระบบที่ช่วยลดอุบัติเหตุในรถโดยสารเมื่อคนขับรถเกิดผิดพลาดอย่างระบบ ABS (Anti-lock Brake System) เป็นต้น จะช่วยให้รถโดยสารสาธารณะ ในไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น

สุดท้าย การพัฒนาปรับปรุงจุดจอดต้องมีการวางแผน ออกแบบ และปรับปรุงจุดจอดรถเมล์และสถานีขนส่งโดยคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้งานโดยเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ พร้อมทั้งคำนึงถึงรูปแบบผังเมือง และการขยายตัวของเมือง อีกทั้งต้องมีการวางแผนระยะยาวแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณในดูแลรักษาจุดจอด


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ฟังเสียงผู้โดยสารรถสาธารณะ สู่ทางแก้ไขทั้งระบบ