tdri logo
tdri logo
1 มิถุนายน 2016
Read in Minutes

Views

บทสัมภาษณ์ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์: 30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย: 

สนทนากับ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย และบทบาททีดีอาร์ไอ

สัมภาษณ์: 2 กรกฎาคม 2557

อะไรเป็นความสำเร็จ อะไรเป็นความล้มเหลวของเศรษฐกิจไทย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

30 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มตั้งทีดีอาร์ไอ ประเทศได้เข้าสู่ยุคการพัฒนาสมัยใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ปี 2504 ที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งไทยได้ผ่านขั้นตอนการพัฒนาตามปกติสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย เป็นเกษตรกรรมส่วนใหญ่ เริ่มเข้าสู่กระบวนการ industrialization มี พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน มีการจัดการทางด้านการคลัง มีสำนักงบประมาณ มีกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับการคลัง

ยุคแรกเป็นยุคที่ปรับตัวจากฐานที่เกือบไม่มีอุตสาหกรรม ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นที่ทันสมัยที่สุดก็คือโรงไฟฟ้าวัดเลียบนอกนั้นก็เป็นโรงเหล้า โรงเลื่อย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นๆ

ช่วงนั้นก็มีทุนจากต่างประเทศเข้ามา โดยการสนับสนุนของแนวความคิดเสรีนิยม  เมื่อทุนเข้ามา ก็แน่นอนว่าต้องอาศัยตลาดในประเทศ อาศัยทรัพยากรในประเทศ ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือเมื่อมีทุนเข้ามาบวกกับทรัพยากรในประเทศ อัตราการเจริญเติบโตก็สูง เพราะอยู่บนฐานที่ต่ำมาก

จนมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ห้า (พ.ศ. 2525-2529) ประเทศไทยก็เริ่มมีอุตสาหกรรมเบาและมีการส่งออก แต่ยังขาดอุตสาหกรรมพื้นฐานหรืออุตสาหกรรมหนัก เผอิญในยุคนั้นมีการค้นพบก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

ในตอนนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้วางกรอบนโยบายและให้เป็นผู้ประสานงาน นายกฯ เปรมท่านไว้วางใจอาจารย์เสนาะ และอาจารย์เสนาะก็มีคณะบุคคลคอยช่วยทำงาน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผมรับผิดชอบในส่วนของการพัฒนาชนบท การแก้ปัญหาความยากจน ตอนนั้นผมก็ทำงานกับเกือบทุกมหาวิทยาลัย เหตุผลก็คือ เมื่อจะวางแผนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการจะต้องมีการศึกษาเยอะมาก ซึ่งสภาพัฒน์ก็ต้องพยายามหาผู้ที่มีความรู้มาร่วมงาน ผมและอีกหลายคนก็เข้าไปเพื่อสนองนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ห้า

หลังจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ห้า ประเทศไทยก็เข้าสู่อีกยุคหนึ่ง เราเริ่มมีโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างแผ่กว้าง มีทั้งอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนักที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดและรอบๆ กรุงเทพ

ระหว่างที่กำลังทำงานพวกนี้อาจารย์เสนาะก็มีความคิดว่า ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต ท่านมองการณ์ไกลว่าการศึกษาและวิจัยสำคัญมาก และเราก็มีบุคลากรอยู่ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำอย่างไรบุคลากรเหล่านั้นจะได้มาร่วมกันรับใช้ประเทศชาติ ซึ่งก็เป็นที่มาของการจัดตั้งทีดีอาร์ไอ

 

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 เป็นหลักไมล์ที่สำคัญ ที่มาที่ไปหรือเบื้องหลังของมันเป็นอย่างไร

20 ปีก่อนหน้านั้น คือจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่หนึ่งถึงสี่ ประเทศมาถึงจุดที่คนซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในชนบท ยังมีความยากจนเยอะมาก เราจำเป็นต้องหาทางเข้าให้ถึงและสร้างรากฐานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระยะยาว

ในขณะเดียวกัน การที่เราจะพัฒนาอุตสาหกรรมในขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีประเภทของกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนซึ่งกันและกันมากขึ้น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ห้าก็เลยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประสานระหว่างทุนกับทรัพยากรในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนี่งก็คือการสนับสนุนให้โครงการของรัฐเข้าถึงคนยากจน เพื่อสร้างความรู้ความสามารถให้พวกเขามีโอกาสได้รับผลจากการพัฒนามากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จัดสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึงในพื้นที่ชนบทยากจน

ถ้าเราไม่ทำเรื่องความยากจน การพัฒนาก็จะขาดความสมบูรณ์ และจะก่อให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้าง การเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างยั่งยืนก็จะเป็นไปได้ยาก

 

หลังจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ห้า เศรษฐกิจไทยในช่วงต่อมาเป็นอย่างไร

หลังจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ห้า ก็มาถึงอีกจุดหนึ่ง คือการเปิดเสรีทางการเงินหลังจากยุคนายกฯ เปรม ที่สำคัญก็คือ กิจกรรมเปิดเสรีทางการเงินที่เรียกกันว่า บีไอบีเอฟ (Bangkok International Banking Facility: BIBF) ซึ่งหลังจากนั้นทุกคนก็รู้ว่าแนวความคิดดังกล่าวอยู่ในลักษณะหวังผลเลิศที่ไม่ได้คิดถึงความเป็นจริง ไม่เข้าใจความเสี่ยง ไม่มีมาตรการรองรับ และก็เป็นสิ่งที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ที่เป็นเรื่องขึ้นมาในตอนนั้นก็เพราะธุรกิจไทยเห็นโอกาสว่ามีเงินตราต่างประเทศมาให้กู้ดอกเบี้ยถูกๆ ซึ่งการลงทุนที่ดีจริงก็มีบ้าง แต่ประเภทเก็งกำไรหรือโครงการที่ลงทุนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอก็เยอะ  ในที่สุดปริมาณการลงทุนก็สูงมาก และเป็นการลงทุนที่มาจากเงินกู้ต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนเงินกู้ระยะสั้นจำนวนมาก จนกระทั่งในที่สุด เมื่อเป็นหนี้ต่างประเทศมากขึ้นและเงินทุนเหล่านี้เริ่มไหลออก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund: IMF) มีการเปลี่ยนระบบค่าเงิน มีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน วิกฤตในช่วงนั้นเรียกว่า banking and currency crisis เพราะวิกฤตมันมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ของเรามันเกิดขึ้นเพราะเราพึ่งเงินออมจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศเคลื่อนย้ายออกไป เราก็ไปต่อไม่ได้

ปี 2540 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีวิกฤต ซึ่งวิกฤตนี้ออกฤทธิ์กับจุดสำคัญจุดหนึ่งของเศรษฐกิจไทยก็คือสถาบันการเงิน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารในสถาบันการเงิน มีการควบรวม มีการอนุญาตให้สถาบันการเงินจากต่างประเทศมาซื้อกิจการ มีการปรับตัวกันขนานใหญ่ รัฐบาลก็มีนโยบายที่จะเข้าไปสนับสนุนธนาคารด้วยวิธีการต่างๆ

เราใช้เวลาแก้ปัญหาอยู่ 5 ปี ซึ่งใน 5 ปีนั้น อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของประเทศไทยก็ติดลบ  ผมคิดว่าตอนนั้นไม่ใช่แค่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเท่านั้น ชาวบ้านหลายคนก็เห็นว่าการที่เราทำอะไรที่มันเกินตัวหรือฝืนธรรมชาติมากเกินไป มันจะทำให้มีปัญหา แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีความใฝ่ฝันว่าจะมีคนมากอบกู้ให้เกิดความเฟื่องฟู มันก็เริ่มเป็นปฐมบททางการเมือง ฝั่งการเมืองเขาก็สื่อสารให้สังคมเชื่อว่าเขามีผีมือ เขาแก้ได้ ซึ่งเป็นที่มาของเกมประชานิยมโดยฝ่ายการเมือง

เรามีการปรับโครงสร้างตั้งแต่ปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสถาบันการเงิน และหลังจากปี2545 ก็เป็นยุคฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวในยุคนี้อยู่ในลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ  จีดีพีขึ้นๆ ลงๆ ด้วยสาเหตุหลายประการ รวมทั้งการที่ประเทศไทยโชคร้าย คือเราได้รับผลกระทบจากตัวเราเอง เช่น น้ำท่วมใหญ่ และได้รับผลกระทบจากโลกเช่น วิกฤตของสหรัฐอเมริกา และถัดมาก็เป็นวิกฤตที่ยุโรป ในขณะที่การกระตุ้นด้วยประชานิยมก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งขึ้น

โดยพื้นฐานแล้วเนื้อหาสาระสำคัญของเศรษฐกิจก็คือผลิตภาพ (productivity) ซึ่งไทยยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้มากนัก ที่มันยังดีอยู่บ้างก็เพราะมีทุนจากต่างประเทศเข้ามาตลอดเวลาจนถึงขณะนี้ และรัฐบาลก็ปั๊มเงินเข้าไปเต็มที่  ส่วนที่มันแย่บางครั้งก็เพราะโชคไม่ดีเช่นน้ำท่วมใหญ่ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรายังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องระยะยาว เช่น การเพิ่มผลิตภาพหรือการศึกษาเท่าที่ควร

 

เรื่องการพัฒนาชนบท การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความยากจน นับจากวันที่อาจารย์เป็นคนผลักดัน จนมาถึงวันนี้ สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นหรือแย่ลง

ปัญหาความยากจนตามสถิติก็ลดลงเรื่อยๆ คนยากจนจำนวนมากมีความสามารถที่จะมีการศึกษาและมีงานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่างานเกษตร อย่างไรก็ดี งานเหล่านี้เป็นไปตามการเจริญเติบโตของประเทศซึ่งเป็นการเจริญเติบโตในกรุงเทพฯ ในภาคตะวันออก ในเมืองบางเมือง และงานเหล่านี้ให้ผลตอบแทนที่ต่างกันมาก ดังนั้น นอกจากเรื่องความยากจนแล้วมันก็มีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งจะต้องแก้ไขกันต่อไป

แม้ความเหลื่อมล้ำนี้แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ขณะนี้มีอีกเรื่องที่ทำท่าจะใหญ่กว่า คือเรื่องโครงสร้างประชากร เพราะระหว่างที่เศรษฐกิจของเราเติบโต ผู้คนก็อพยพเข้าสู่เขตเมือง มีการเปลี่ยนอาชีพ และคนมีลูกน้อยลง รวมทั้งบริการและความรู้ทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น ก็ทำให้คนมีอายุยืนมากขึ้น

ช่วงที่ผมเริ่มทำงานที่สภาพัฒน์ในปี 2508 อัตราเจริญพันธุ์ของเราตอนนั้นคือ 6 หมายความว่าผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 คน มีลูก 6 คน แต่ในปี 2553 อัตราเจริญพันธุ์เหลือแค่ 1.6 คน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจะเป็นโจทย์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศยุคต่อไป เพราะโครงสร้างประชากรมีอิทธิพลต่อเรื่องอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีความเหลื่อมล้ำระหว่างวัยให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น เพราะคนที่เกษียณแล้ว ดูแลตัวเองไม่ได้ ก็มีชีวิตที่ยากลำบากเมื่อเทียบกับคนที่มีงานทำ ดังนั้น เรื่องนี้จึงสร้างความเหลื่อมล้ำซึ่งอาจจะมากกว่าเรื่องพื้นที่ เช่น คนที่อยู่กาฬสินธุ์กับคนที่อยู่กรุงเทพฯมีความเหลื่อมล้ำก็ใช่ แต่คนแก่ที่ไม่มีรายได้เลยกับคนแก่ที่ช่วยตัวเองได้ มีทรัพย์สินมีรายได้ มันเหลื่อมล้ำกว่ากันมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

เพราะฉะนั้นงานของทีดีอาร์ไอน่าจะมีเยอะแยะไปหมด เพื่อหาทางขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะการเจริญเติบโตมีความสำคัญต่อเงินงบประมาณที่เราจะมีเพียงพอสำหรับการดูแลสวัสดิการเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ลดลง

วันนี้การเมืองหยุดนิ่ง เราไม่รู้ว่าปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลางจะยาวนานไปถึงไหน เรื่องความเหลื่อมล้ำ เราก็ยังคงต้องให้ความสนใจ และเรื่องโครงสร้างประชากรซึ่งมันมากกว่าประเด็นการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (aging society) เพราะโครงสร้างประชากรในลักษณะนี้ จากการศึกษาในหลายประเทศ พบว่าจะทำให้ศักยภาพการเจริญเติบโตมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เพราะมีคนทำงานน้อยลง ในขณะที่มีคนแก่มากขึ้น เพราะฉะนั้น แรงงานของเราจึงจำเป็นต้องมีทักษะและความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นอีกสถาบันสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้

บริษัทเอกชนต่างๆ คือตัวละครหลักในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จึงมีเหตุผลที่มหาวิทยาลัยจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมธุรกิจ แต่ขณะนี้เรายังถือว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเพื่อประชาสังคมมาเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาคมธุรกิจด้วยไม่ได้ เราก็จะไม่มีกำลังในการสร้างประสิทธิภาพ ตลอดจนนวัตกรรม และเราก็จะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปไม่ได้

 

อาจารย์มีแนวทางในการรับมือกับโจทย์เหล่านี้อย่างไร

บางเรื่องผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เช่นการเมือง แต่ที่ผมเห็นความสำคัญในขณะนี้ก็คือเรื่องการออม ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่ประเทศนี้ต้องมีเงินออมในภาคครัวเรือนสูงขึ้น เพราะคนต้องดูแลตัวเองเป็นเวลานานมากหลังเกษียณ เช่น 20 ปี ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือดูแลจากครอบครัวก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต เพราะขณะนี้ครอบครัวไทยมีสมาชิกโดยเฉลี่ยแค่ 3 คน การมีเงินออมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับประชาชน และสำหรับประเทศที่จะไม่ต้องพึ่งพาเงินออมจากต่างประเทศเหมือนก่อนปี 2540

การที่ประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันสำหรับตัวเองและครอบครัวคงต้องมีการออม ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่ความคิดของคนจำนวนมากในขณะนี้กลายเป็นว่าถ้าอยากให้ประเทศโตเร็วๆ ประชาชนก็ต้องใช้จ่ายเยอะๆ ซึ่งเป็นความคิดหลักโดยเฉพาะในซีกทางการเมือง

ถ้าประชาชนเชื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งบอกว่าต้องใช้จ่ายเพื่อจะทำให้ประเทศร่ำรวย แต่เมื่อเกษียณไปแล้วประชาชนก็คงต้องดูแลตัวเอง เพราะรัฐบาลยังไม่มีปัญญาที่จะช่วยอะไรได้มากนัก ดังนั้นถ้าประชาชนเชื่อโดยใช้จ่ายเกินตัวประชาชนก็ตายลูกเดียว เพราะดูแลตัวเองไม่ได้เมื่อมีอายุสูงขึ้น นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องต่อสู้กันระหว่างสองทิศทาง

 

บนเส้นทางการพัฒนา 30 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยเปลี่ยนไปอย่างไร

ในยุคที่เรียกว่าเผด็จการ ทหารเขาก็เป็นผู้จัดการ การจัดการของทหารในยุคก่อนนั้นก็อาศัยองคาพยพของระบบราชการ เขาก็พยายามหาคนดีๆ เข้ามาในระบบราชการ คนดีๆ ก็เต็มใจและยินดี  เพราะอะไร ก็เพราะทหารเขามอบหมายให้รับผิดชอบการออกแบบนโยบายต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้น คนเก่งๆ ทั้งหลายก็เข้าไปในระบบนี้

ต่อมา เมื่อมีพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็เป็นผู้กำหนดนโยบาย คนเก่งๆ ก็ต้องไปอยู่กับพรรคการเมือง  เพราะระบบราชการไม่ได้ออกแบบอะไร มีพรรคการเมืองออกแบบนโยบายมาให้ แล้วเขาก็ทำ

 

สถานการณ์มันเปลี่ยนตั้งแต่ช่วงไหน

ผมคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตามโครงสร้างอำนาจของพรรคการเมือง แต่คุณทักษิณเขามีโอกาสสูงเพราะเขาเป็นพรรคเสียงข้างมาก ดังนั้น ผู้ที่มีน้ำหนักในพรรคก็คือผู้ออกแบบประเทศ ไม่ใช่ข้าราชการหรือนักวิชาการ

 

การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ดีหรือไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย

ผมคิดว่าในที่สุดมันต้องเป็นประชาธิปไตย ซึ่งพรรคการเมืองมีความสำคัญ ผมเข้าใจว่าแต่ละประเทศต่างก็อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นของปวงชน คือพรรคที่ไม่มีเจ้าของ อยากเห็นมีพรรคทางเลือกพอสมควร เพียงแต่ว่าขณะนี้เรายังไม่มีบรรยากาศแบบนี้ พรรคการเมืองจำนวนมากของเรายังมีเจ้าของที่เห็นได้ชัดเจน

 

ตอนนี้เทคโนแครตตายไปจากเศรษฐกิจการเมืองไทยหรือยัง

ผมคิดว่าเทคโนแครตยังมีความสำคัญกับธุรกิจ เดี๋ยวนี้ธุรกิจสร้างเทคโนแครตขึ้นมาเยอะ อย่างธุรกิจการเงินเขามีคนที่ทำงานเฉพาะเยอะมาก

 

คือไม่จำเป็นต้องทำงานในภาครัฐ แต่เป็นนักเทคนิคที่อยู่ที่ไหนก็ได้

ใช่ แต่โดยทั่วไปเวลาพูดถึงเทคโนแครต เขาหมายถึงเทคโนแครตในระบบราชการ แต่ถ้านิยามเทคโนแครตว่าเป็นคนมีความรู้ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและมีทักษะ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีความคิดริเริ่ม อย่างนี้เทคโนแครตในระบบบราชการหายไปมากแล้ว

 

เมื่อการเมืองเปลี่ยนไป การกำหนดนโยบายเปลี่ยนไป ทีดีอาร์ไอจะอยู่กับการเมืองยุคใหม่อย่างไร

เราปรับตัวมาระดับหนึ่งแล้ว ผมคิดว่าด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้เราทำได้เพียงบางเรื่อง แต่ผมก็คิดว่าเป็นการปรับตัวที่ใช้ได้ และหลายเรื่องเราก็ทำต่อเนื่องจนมีความชำนาญเฉพาะ

อีกเรื่องหนึ่งคือเราต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างความเป็นอิสระกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบาย แน่นอนว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบาย เราไม่ควรทำโดยวิ่งเต้นทางการเมือง ดังนั้น ที่เราทำได้ ก็คือเราไปทำในขั้นตอนการดำเนินตามนโยบาย โดยเฉพาะกับระบบราชการ โดยการศึกษาวิจัยต่างๆ และมีข้อเสนอที่มีเหตุมีผลเราเป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น เราก็ต้องรักษาความเป็นอิสระของเราด้วย

 

ที่ผ่านมาเราทำได้ดีไหม

ผมคิดว่าเราก็พยายามทำทั้งสองมิติ มิติที่หนึ่งคือความลึกกับความกว้าง มิติที่สองคือความเป็นอิสระกับการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนโยบาย แต่สิ่งที่ยากก็คือ ไม่ว่าเราจะเลือกทางเดินอย่างไร เราก็คงอยากเห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งการจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมันยากกว่าการให้ความเห็น

 

30 ปีของทีดีอาร์ไอ อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว

ผมคิดว่าความสำเร็จก็คือเรามีคณะบุคคลที่มีความรู้จำนวนหนึ่ง และเราก็ได้ประโยชน์จากบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ เวลา 30 ปีก็ไม่น้อย และคนเหล่านี้ ณ เวลานี้ ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง มีคนติดตามรับฟัง นี่คือความสำเร็จ

 

อะไรที่เราทำให้ดีขึ้นได้อีก

ขณะนี้เราต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างความเป็นอิสระ กับการไปช่วยผลักดันนโยบายภายใต้อาณัติของใครก็ตาม ต้องหาวิธีทำให้ได้ผลอย่างสมเหตุสมผลด้วย

 

ที่ผ่านมาอาจารย์มองเห็นบทเรียนอะไรของคนที่ทำงานวิจัยและต้องการผลักดันไปสู่ความสำเร็จในเชิงนโยบาย

บริบทมันไม่ได้เปลี่ยนไปมาก คือความถูกต้องทางทฤษฎีกับความต้องการของประชาชนควรจะต้องไปด้วยกัน แต่เมื่อนักการเมืองเขามาจากประชาชน เขาก็สั่งโดยไม่คำนึงถึงทฤษฎีหรือวิชาการ ที่แล้วมาเราก็ไปช่วยในระดับราชการบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากเป็นอิสระ เราจึงต้องรักษาสมดุลให้ดี

 

สถานการณ์ในปัจจุบัน ภายใต้รัฐบาลจากกองทัพ ทีดีอาร์ไอจะยืนอยู่ตรงไหน

ผมคิดว่าเรายืนอยู่ถูกที่ คือใครจะมาหรือใครจะไป เราก็ไม่เกี่ยวด้วย แต่ไม่ว่าเวลาไหน ใครอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าเราก็อยากจะมีประโยชน์ ซึ่งการที่เราอยากจะมีประโยชน์ มันก็ทำได้สองอย่าง อย่างแรกคือฟังเขาก่อน แล้วเราค่อยศึกษา ซึ่งอาจเป็นได้ว่าบางเรื่องไม่น่าจะถูกต้องตามความเห็นของเรา หรืออะไรที่เขาสั่งลงมาแล้วเราคิดว่าก็ดีเหมือนกัน เราก็ช่วยเขาคิดหรือช่วยเขาหาแนวทางที่ตรงกับหลักวิชาหรือความเชื่อของเรา

 

อาจารย์บอกว่ามหาวิทยาลัยควรทำงานกับภาคเอกชนมากขึ้น บทบาทตรงนี้ของทีดีอาร์ไอควรจะอยู่ตรงไหน

ผมคิดว่าภาคเอกชนต้องสวมบทบาทเป็นผู้เล่นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เดิม ภาคเอกชนของเรายังอ่อนแอ แต่วันนี้ ผมคิดว่าภาคเอกชนโตขึ้น และก็ต้องเข้าใจว่าภาระในการแข่งขันเป็นภาระของภาคเอกชน  เพื่อการนั้น ภาคเอกชนก็ต้องเตรียมความพร้อม ถ้าจะยืมประสบการณ์ของราชการมาใช้ก็คือต้องสร้างเทคโนแครตขึ้นมา ซึ่งเขาก็สร้างกัน เดี๋ยวนี้ก็จะเห็นได้ว่ามีผู้รู้ในภาคเอกชนปรากฏตัวในสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับภาคเอกชนในวันนี้ก็คือยังทำงานกับมหาวิทยาลัยไม่ได้ ซึ่งสาเหตุมันมีร้อยแปด แต่จากตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ถ้าเราจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มันต้องหาทางทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จให้ได้ คือทั้งสองส่วนจะต้องเป็นประชาคมซึ่งกันและกัน

ในต่างประเทศ ภาคธุรกิจจะสนับสนุนมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยก็จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน คือมหาวิทยาลัยเขามีสองสถานะ สถานะหนึ่งคือผลิตคนให้ อีกสถานะหนึ่งคือเขาช่วยตอบโจทย์ที่เอกชนติดขัดหรือมีความรู้ไม่พอ วิธีนี้จะทำให้แข็งแรง แต่เรายังหาวิธีแบบนี้ไม่เจอ

ทำอย่างไรเราจึงจะมีการระดมสมองเพื่อตอบโจทย์ เพราะโจทย์ของส่วนรวมซึ่งทีดีอาร์ไอทำอยู่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่โจทย์ของภาคธุรกิจเนี่ย ถ้าตอบได้ มันก็แข่งขันได้ ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์ให้เอกชนแข่งขันได้หรือเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ กระบวนการเรียนรู้ก็จะหายไป เพราะกระบวนการเรียนรู้ควรควรต้องเริ่มจากการปฏิบัติ แล้วก็มีความเข้าใจลักษณะของปัญหา แล้วจึงมีความพยายามที่จะเข้าใจเหตุของปัญหาและหาความรู้เพื่อแก้ปัญหา เมื่อครบถ้วนแบบนี้แล้ว ค่อยเอาไปสอนลูกศิษย์ก็จะรู้เรื่องจริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดแรงงานด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเอาภาคเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสามเส้า คือการปฏิบัติส่วนหนึ่ง การวิจัยส่วนหนึ่ง และการสอนอีกส่วนหนึ่ง อย่างนี้มันก็จะได้ผลมากขึ้น เพราะการปฏิบัติมันคือโจทย์ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ลงไปเกลือกกลั้วกับโจทย์ มหาวิทยาลัยก็ไม่มีโจทย์ที่เป็นของจริง แล้วก็ปฏิบัติไม่ได้ด้วย แต่ถ้าพอมีโจทย์ที่เหมาะสมมาแล้ว มหาวิทยาลัยมีหลักวิชาก็เอาไปศึกษาทดลอง มันก็ตอบโจทย์ได้ พอตอบโจทย์ได้ มันก็คือความรู้ ก็เอาไปสอนเพื่อผลิตบุคคลากรที่จบออกมาแล้วใช้งานได้

บ้านเราตอนนี้ขาดเรื่องนี้ และตราบใดที่เราไม่สามารถเชื่อมสามเส้านี้เข้าด้วยกันเป็นกระบวนการ เราก็จะยังไม่เข้มแข็ง

 

อะไรที่จะทำให้ธุรกิจไทยออกไปแข่งกับโลกได้

คำสำคัญในเวลานี้คือ ‘ความร่วมมือ’ (collaboration)  ในมุมของธุรกิจก็หมายถึงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)  ถ้าคุณมีห่วงโซ่  จุดในห่วงโซ่ที่อ่อนแอที่สุดคือจุดแข็งที่สุดของคุณ  จุดแข็งของประเทศไม่ได้อยู่ที่ห่วงโซ่ที่แข็งแรงที่สุด มันอยู่ที่ห่วงโซ่ที่อ่อนแอที่สุดต่างหาก เหมือนกับเวลาคุณเล่นแบดมินตัน ถ้าคู่ของคุณอ่อน ฝ่ายตรงข้ามก็จะตีใส่คู่ของคุณอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นมันจะต้องเข้มแข็งทั้งห่วงโซ่ ซึ่งการเข้มแข็งทั้งห่วงโซ่เป็นเรื่องของความร่วมมือทั้งระหว่างภาคธุรกิจด้วยกันและระหว่างธุรกิจกับภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย

 

อาจารย์สนใจเรื่องทุนเล็ก ทุนเล็กของไทยจะแข็งแรงได้อย่างไร

ความจริงทุนเล็กได้เปรียบทุนใหญ่หลายด้าน เพราะทุนเล็กมาจากความถนัด แต่ข้ออ่อนด้อยของทุนเล็กก็คือจำนวนมากยังไม่สามารถสะสมประสบการณ์ภาคปฏิบัติ ที่เขาเรียกว่า know-how หรือไม่มีทรัพยากรสำหรับงานวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ดี ทุนใหญ่จะมองหาทุนเล็กเพื่อร่วมงานด้วย หรือบางทีก็เพื่อจะซื้อกิจการ เพราะฉะนั้นมันเป็นหน้าที่ของทุนเล็กที่จะพัฒนาตัวเองให้อยู่ได้ ไม่ว่าจะโดยตนเองหรือร่วมมือกับทุนใหญ่ก็ตาม

ความเข้มแข็งของทุนเล็กอยู่ที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไปแล้วมีความถนัดที่ชัดเจน มี know-how ที่เข้มแข็ง ซึ่งทุนเล็กก็จะได้ประโยชน์จากการทำงานที่รวดเร็วและมีเจ้าของที่คอยเอาใจใส่ สำหรับทุนใหญ่บางทีเขาอุ้ยอ้าย นอกจากนั้น หลายๆเรื่อง ทุนใหญ่อาจต้องไปตามกระแสซึ่งอาจเป็นการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล ตอนนี้ทุนใหญ่หลายแห่งเขาไม่อยากรุงรัง บางงานบางเรื่องเขามอบให้ทุนเล็กเป็นผู้ดำเนินการ บริษัทเล็กๆ จึงมีความยิ่งใหญ่ได้ เช่น ในอิสราเอล ทุนขนาดเล็กเป็นที่หมายปองของคนทั้งโลกเพราะเขาเก่งทางด้านใดด้านหนึ่ง บริษัทเล็กๆ ในไต้หวันก็เช่นเดียวกัน

 

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว อาจารย์เคยคิดไหมว่าอีก 30 ปี ซึ่งก็คือวันนี้ หน้าตาของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ตอนที่ผมเรียนหนังสือ ตอนนั้นมีบทความชื่อ “Economic Development with Unlimited Supply of Labor” ของอาร์เธอร์ ลูอิส (Arthur Lewis) ตอนนั้นผมก็นึกเอาเองว่าเรื่อง unlimited supplies of labor ไม่น่าจะมีประโยชน์ เพราะตอนที่ผมเริ่มรับราชการ มีประชากรเพิ่มเยอะมาก จนน่าจะเป็นปัญหาด้วยซ้ำ ที่เขาเรียกว่า “ลูกมากจะยากจน”

เมื่อเวลาผ่านไป จนกระทั่งจีนเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยมผมจึงตระหนักว่าจีนเขาใช้ unlimited supply of labor ให้เป็นประโยชน์ โดยการดึงดูดทุนจากต่างชาติเข้าไป ทุนทั้งหลายก็อยากจะเข้าไปในตลาดที่ใหญ่ มีแรงงานเยอะ แล้วหลังจากนั้น จีนเขาก็ทั้ง copy ทั้ง develop

ในตอนนั้น ถ้าเราใช้ supply of labor ได้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เราอาจจะไปไกลกว่าในปัจจุบันก็เป็นไปได้ จีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า supply of labor ของเขาสามารถดึงดูดเงินทุนต่างชาติ ซึ่งเราก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่สำหรับเรา เมื่อเงินทุนเข้ามา เราไม่มีวิธีจัดการ จีนเขาอาจเรียนรู้จากเราว่าสิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างงานที่อาศัยทักษะและเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องถ่ายโอนจากต่างชาติด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจเป็นไปได้ว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีพื้นฐานทางอุตสาหกรรมดีพอสมควรเมื่อเทียบกับเราก็ได้ เขาจึงพัฒนาได้เร็ว

ผมคิดว่าประเทศต่อๆ ไปที่กำลังจะเข้ามาในวงการ เช่น อินโดนีเซีย ก็คงเรียนรู้จากจีน ว่าเมื่อเขามีแรงงานอยู่เยอะ เขาจะจัดการให้เงินทุนจากต่างชาติทำให้เขาเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร

 

ถ้าเราทำได้แบบจีน เราจะมีพื้นฐานที่ดีกว่านี้?

เราต้องบริหารเรื่องการสร้างงาน บริหารเรื่องทักษะและเทคโนโลยี แต่ที่แล้วมา เราเพียงแค่เอาเงินทุนเข้ามา เราไม่ได้ทำการถ่ายทอดความรู้ และเราไม่ได้เพาะบ่มทักษะ เหมือนกับที่จีนกำลังทำ ซึ่งทำให้เราเสียโอกาสในการใช้เงินทุนต่างชาติสร้างพื้นฐานของการเติบโตเมื่อเทียบกับจีน

 

 สัมภาษณ์: ปกป้อง จันวิทย์  เรียบเรียง: กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ ถ่ายภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ