สูงวัยอย่างมีคุณภาพ เร่งเข้าสู่ระบบการออมให้มากที่สุด

ปี2016-07-10

วิรวินท์ ศรีโหมด

ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ แต่อีกด้านประชากรไทย กำลังเตรียมก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” เต็มตัว คาดการณ์กันว่าในปี 2568 คนไทย ที่มีอายุเกิน 60 ปี จะมีประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งการเตรียมรับมือเรื่องนี้รัฐบาลได้กำหนด เป็นแผนยุทธศาสตร์การดูแลสังคมสูงอายุ วางไว้หลายแนวทาง ตั้งแต่การตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ จัดโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับ ผู้สูงอายุ ขยายเวลาการเกษียณอายุราชการไปถึงอายุ 65 ปี และล่าสุดเตรียมขอความร่วมมือภาคเอกชน องค์กรต่างๆ รับผู้สูงอายุหลังเกษียณเข้าทำงานโดยจะได้รับการตอบแทน คือการลดหย่อนภาษี นโยบายทั้งหมดนี้เพื่อต้องการให้ผู้สูงอายุมีเงินเก็บสะสมเงินไว้ดูแลตัวเอง ในอนาคต

dr worawan
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลกำลังเร่งระดมสรรพกำลังทั้งหมดในการรับมือสังคมผู้สูงอายุ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ สะท้อนมุมมองว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้สูงอายุของไทยยังไม่รุนแรง แต่จำนวนประชากรผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ ปัจจุบันมีผู้ที่อายุ 60 ปี ในไทยกว่า 10 ล้านคน และอีก 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นประมาณเป็น 20 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ถึงอย่างไรการเพิ่มขึ้นนี้ก็จะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ แต่จะค่อยๆ เพิ่ม

“ถ้าไม่เตรียมตัวและรอให้วันนั้นมาถึง ก็อาจทำอะไรไม่ได้แล้ว ดังนั้นวันนี้ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมการแก้ปัญหาจำนวนผู้สูงอายุ ที่จะมีเพิ่มขึ้นว่าควรทำอย่างไรบ้าง เพราะผู้สูงอายุคือบุคคลที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ยังต้องใช้เงินอยู่ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องหลักประกันด้านรายได้เป็นหลัก ซึ่งรัฐควรส่งเสริมให้คนไทยเกิดการออม เหมือนเช่นนโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีเงินสะสมไว้ ใช้ในวันที่ไม่สามารถทำงานได้” ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าว

อีกทั้ง การออมวันนี้รัฐต้องคิดวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ยังไม่ถึงวัยผู้สูงอายุ เข้ามาสู่ระบบการออมให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อถึงวันที่ต้องเกษียณจะได้ไม่มีปัญหา ซึ่งตอนนี้รัฐบาลมีโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ผู้ที่เข้าร่วมก็ยังมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นควรส่งเสริมในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ทำให้ คนตระหนักรู้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง เรื่องของการออมทุกคนต้องได้ใช้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ รัฐก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องสุขภาพ เพราะเมื่อเข้าสู่สังคมผู้อายุ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี สุขภาพจะแย่ลง ดังนั้นต้อง เตรียมการเพื่อไม่ให้สุขภาพทรุดลงอย่างรุนแรง เช่น ควรสนับสนุนให้มีการดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อจะได้ไม่มีโรคเรื้อรังในอนาคต มิฉะนั้นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศจะเพิ่มขึ้นด้วย

ที่สำคัญ รัฐต้องเตรียมแผนแก้ปัญหา ไว้ล่วงหน้า แม้สถานการณ์จะยังมาไม่ถึง ไม่เช่นนั้นภาระจะตกกับคนรุ่นหลัง เพราะปัจจุบันร้อยละ 30 ของผู้สูงอายุยังคงพึ่งการช่วยเหลือจากบุตร สุขภาพจึงเป็นโรคหลักของผู้สูงอายุ และเมื่อเรารู้ว่าเรื่องพวกนี้เป็นโรคหลักที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม ถ้ารอวันนั้นมาถึงจะแก้ไขยาก ดังนั้นเมื่อมองอนาคตออก ควรเตรียมตัวเพื่อไม่ให้เป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง หรือส่งเสริมการทำกิจกรรมเพื่อป้องกันต่างๆ

แนวคิดนโยบายรัฐที่จะให้ภาคเอกชน ดึงผู้สูงอายุเข้าทำงานหลังเกษียณ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย มองว่า

สภาพความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันบริษัทเอกชนไม่ได้ห้ามรับสูงอายุเข้าทำงาน เพราะเรื่องอายุพนักงาน ไม่สำคัญกับบริษัทเอกชน แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ การที่รัฐจะให้ภาคเอกชนจ้างงานบุคคลใดเข้าทำงาน แต่ถ้าเอกชนมองว่าไม่คุ้มก็อาจไม่มีการจ้าง เพราะบริษัทคิดว่าไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร
ดังนั้น รัฐควรทำให้ผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพ มีความสามารถเพื่อให้เอกชนเลือกจ้างต่อ เพราะการที่รัฐใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้ภาคเอกชน ก็ต้องมองว่าจะคุ้มหรือไม่ เพราะไม่ใช่มีแค่เรื่องเงินเดือน แต่ยังมีเรื่องของสวัสดิการอื่นด้วย ฉะนั้นรัฐควรใช้ภาษีเป็นแรงจูงใจให้บริษัทจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพพนักงานผู้สูงอายุให้มีคุณภาพมากขึ้น และรัฐอาจเอาค่าใช้จ่ายในการลงทุนอบรมพนักงานมาเป็นแรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี ซึ่งวิธีการนี้จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้สูงอายุไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานเมื่ออายุมากขึ้น

ประเด็นการต่ออายุการเกษียณราชการ ไปถึง 65 ปี ดร.วรวรรณ มองว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรต่อให้กับข้าราชการทุกคน ที่สำคัญควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน เช่น อิงกับความต้องการของหน่วยงาน หรือฝ่ายที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้านมากกว่า ส่วนการจ้างงานควรทำสัญญาการทำงานเป็นช่วง เนื่องจากอนาคตไม่ทราบว่าประสิทธิภาพของผู้สูงอายุจะทำงานได้นานเท่าไหร่ เช่น อาจมีโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคอะไรที่มีปัญหาต่อการทำงานเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ส่วนประเด็นสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดร.วรวรรณ แนะนำว่า สิทธิผู้สูงอายุตรงนี้ไม่ควรตัดออก แต่ควรส่งสัญญาณให้ประชาชนได้รับทราบว่าอนาคตเบี้ยยังชีพที่รัฐให้ อาจไม่พอใช้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นควรกระตุ้นใน ทุกคนตื่นตัวในเรื่องการออมควบคู่กันไปด้วย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่ทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจปัญหาของจำนวนประชากร เนื่องจากขณะนี้อัตราการเกิดของคนรุ่นใหม่มีจำนวนน้อยลง แต่ประชากร ผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ปกครอง รุ่นใหม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในเลี้ยงดูบุตร รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงทำให้โครงสร้างสัดส่วนของประชากรยุคปัจจุบันลดลง ซึ่งต่างกับ คนรุ่นก่อนมาก

ดังนั้น ถ้ารัฐอยากให้จำนวนประชากร เพิ่มขึ้น รัฐต้องสนับสนุนให้คนมีบุตรมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าอนาคตประเทศหรือสังคมโลกต้องการจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่การดูแลประชาชนที่ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่รัฐควร วางนโยบาย สร้างระบบให้ดี และควรทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะถ้ารัฐทำได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาด้านสังคมของประเทศในอนาคตให้ลดลงได้มาก


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 10 กรกฎาคม 2559 ในชื่อ ‘แก่’อย่างมีคุณภาพ เร่งเข้าสู่ระบบการออมให้มากที่สุด