tdri logo
tdri logo
4 กรกฎาคม 2016
Read in Minutes

Views

เปิดทางตรวจทุจริต เสนอขีดเส้นแบ่ง ‘ฟ้องหมิ่นประมาท’ แยกเรื่องส่วนตัว ป้องประโยชน์สาธารณะ

เสวนาวิชาการ ทีดีอาร์ไอ – สกว. เสนอ ขีดเส้นแบ่ง ‘ฟ้องร้องหมิ่นประมาท’ ระหว่างปกป้องชื่อเสียงส่วนตัว กับรักษาประโยชน์ส่วนรวม ถกทบทวนเจตนารมณ์แท้จริงกฎหมาย ป้องเหตุผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือสกัดกั้นตรวจสอบทุจริต ชี้หลายคดี พ่วงความผิด พ.ร.บ. คอมฯ เพิ่มภาระและโทษหนักปิดปากผู้เปิดโปง เสนอหลักการแก้ไข โทษหมิ่นไม่เป็นอาญา ให้เกียรติบุคคลยังคงได้รับการคุ้มครอง แต่การตรวจสอบประเด็นสาธารณะยังต้องเดินหน้าต่อไปได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  จัดเสวนา “การฟ้องหมิ่นประมาท: จุดสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม” โดยมีภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักกฎหมายและสื่อ  ร่วมเสนอกรอบแนวคิด ทบทวนกรณีตัวอย่าง การใช้กฎหมายฟ้องหมิ่นประมาทบุคคลที่เปิดโปง วิจารณ์การทำงานของรัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐ จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นกังวลใจ ระแวงและไม่กล้าทำหน้าที่ตรวจสอบอีกต่อไป หรือ เรียกว่า Strategic Lawsuit against Public Participation (SLAPP)

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ประธานกล่าวเปิดงาน ระบุ การจัดเสวนาครั้งนี้ มีเป้าหมายหาข้อสรุปแก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อต่อการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อยับยั้งการตรวจสอบจากภาคประชาชน ที่ช่วยทำให้เส้นแบ่งจุดสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมชัดเจนขึ้น

หนึ่งในกรณีตัวอย่างจากวงเสวนา คือ คดีสำนักข่าว “ภูเก็ตหวาน” ที่ภาครัฐใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฟ้องร้องสื่อมวลชน หลังรายงานข้อมูลว่า “กองกำลังทางเรือ” มีส่วนได้รับผลประโยชน์จากกระบวนค้ามนุษย์โรฮิงญา   ซึ่ง นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw ระบุว่า กรณีนี้มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในคดีหมิ่นทางอาญาที่พ่วง พ.ร.บ.คอมฯ ที่แม้ว่าศาลยกฟ้องแล้วก็ตาม แต่ระหว่างการฟ้องร้องจำเลยก็ได้รับผลกระทบ มีความเสี่ยงถูกควบคุมตัวมาบีบคั้น ต้องหาเงินเพื่อประกันตัว ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้   อีกทั้งทำให้เกิดความกลัวแก่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่นักข่าวพลเมือง

ด้าน รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ยกแนวคิดการขีดเส้นแบ่งความเหมาะสมของการฟ้องหมิ่นประมาทผ่าน “สมการป้องกันการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก” ที่บอกว่า เสรีภาพในการแสดงออกมีค่าเท่ากับสิทธิในการปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศ แต่เสรีภาพในการแสดงออกบวกกับประโยชน์สาธารณะนั้นมีค่ามากกว่าสิทธิในการปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศ พูดง่าย ๆ ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องประโยชน์สาธารณะนั้นควรมาก่อนการเสื่อมเสียชื่อเสียงของคน ๆ หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการวิพากษ์วิจารณ์นั้น

กรณีต่างประเทศมีหลักว่า หากการแสดงออกกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม (public order) อย่างการวิจารณ์บุคคลในเรื่องเชื้อชาติ หรือการนำเสนอประเด็นที่ทำให้เกิดการบานปลายจนสังคมแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย  จะถือเป็นโทษทางอาญา แต่หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล บางประเทศจะมีโทษทางแพ่งเท่านั้น

“บ้านเราฟ้องหมิ่นประมาททางอาญาถูกนำมาใช้มาก เพราะถูกและดีสำหรับผู้ฟ้องในแง่ที่ว่าไม่มีค่าขึ้นศาล และมีคุกบีบให้ผู้ถูกฟ้องมาจ่ายค่าเสียหาย ถ้าฟ้องทางแพ่งไม่มีใครกลัว เพราะไม่มีก็ไม่จ่าย แต่การฟ้องอาญาไม่มีประโยชน์กับสาธารณะเลย เพราะทำคนไม่กล้าติดตามเรื่องสาธารณะ และรัฐก็ต้องมาจ่ายแพงกว่ามาก…ถ้า SLAPP เยอะ ๆ ก็เท่ากับขัดขวางการแสดงความเห็นในเรื่องสาธารณะ ทำให้กิจการสาธารณะไม่โปร่งใส” รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท กล่าว

เช่นเดียวกับผู้ร่วมเวทีหลายรายเห็นตรงกันว่า  การลงโทษทางอาญาต่อกรณีนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา  ดังที่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เห็นว่า การทำให้ติดคุก ไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงของผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดีขึ้น ทางออกคือ การใช้สิทธิโต้แย้ง แก้ไขข้อเท็จจริงนั้น ๆ โดยเฉพาะหากเกิดกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งก็ต้องมีความอดทนต่อเสียงวิจารณ์และการตรวจสอบ เพราะเป็นราคาที่ผู้มีอำนาจต้องจ่าย

นายไพโรจน์ พลเพชร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เห็นเช่นเดียวกันว่า การฟ้องหมิ่นประมาทต้องไม่มีโทษทางอาญา หรือ แก้กฎหมายให้ชัดเจนว่า การติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องไม่มีโทษทางอาญาอีกต่อไป และเป็นเรื่องยอมความกันได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิการวิจารณ์นโยบายรัฐ ให้ประชาชนไม่กลัวการถูกปิดปาก

ส่วนกรณีการฟ้องหมิ่นทางอาญาพ่วงความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  หรือ พ.ร.บ. คอมฯ  ได้สร้างภาระและความผิดทวีคูณต่อผู้ถูกฟ้องนั้น  ดร. จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ย้ำว่า การฟ้องหมิ่นประมาทไม่มีความจำเป็นต้องพ่วงความผิด พ.ร.บ. คอมฯ เพราะซ้ำซ้อนมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่กล่าวถึงการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเจตนารมณ์พื้นฐาน พ.ร.บ. คอมฯ มีไว้เพื่อเอาผิดกับการทำข้อมูลปลอม เทียบเคียงกับเอกสารปลอมที่อยู่นอกระบบคอมพิวเตอร์ แต่ที่ผู้ฟ้องนิยมพ่วง พ.ร.บ.คอมฯ เพราะทำให้คดีหมิ่นประมาทเป็นเรื่องยอมความไม่ได้

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา สะท้อนปัญหาเดียวกันพร้อมให้ข้อเสนอแนะ ในฐานะสื่อมวลชนและเคยถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทว่า “การใช้ พ.ร.บ. คอมฯ เปราะบางมาก โดยเฉพาะ มาตรา 16 ที่มีถ้อยคำเกือบเหมือน มาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญาแต่ที่น่ากลัวคือ การเอามาโยงความผิดอื่น ๆ ได้หมด อีกหน่อยจะแย่กว่านี้ ทางแก้คือ พ.ร.บ. คอมฯ ต้องมีโทษไม่หนักเกินกว่ากฎหมายทั่วไป”

ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่าสิ่งที่น่าห่วงคือ ภาวะคุกคามสื่อที่ยังมีอยู่ แม้ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์ที่เปิดกว้างสำหรับเสรีภาพในการแสดงความเห็นแล้วก็ตาม ผลวิจัยของตนเองพบว่า ผู้ให้บริการเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ ร้อยละ 80-90 ตัดสินใจเซ็นเซอร์เนื้อหา ด้วยเกรงว่าจะมีความผิด 3 กรณีเรียงตามลำดับ คือ ความผิดภายใต้ พ.ร.บ. คอมฯ ความผิดหมิ่นประมาท และการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจะทำให้เสียเงินและเวลาไปกับการต่อสู้คดีความ ซึ่งการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อก็คือการเซ็นเซอร์ไม่ให้สาธารณะเข้าถึงและรับรู้ปัญหาความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับข้อเสนอจากวงเสวนาเพื่อทำให้การขีดเส้นแบ่งชัดขึ้น รศ. ดร. ปกป้อง ศรีสนิท เสนอว่า ไทยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย เพื่อป้องกันการฟ้องร้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากหรือ กฎหมาย Anti-SLAPP ก็ได้ เพราะกฎหมายที่มีอยู่ก็สามารถใช้แก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่เปิดช่องให้แสดงความเห็นในกิจการสาธารณะได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 25 ให้ศาลชี้ขาดยุติคดีได้ หากศาลเห็นว่าไม่ได้หมิ่นประมาท และให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนคนถูกฟ้อง ส่วนที่ควรปรับแก้คือ มาตรา 423 คดีแพ่ง เป็นว่า “ผู้ใดกล่าวข้อความแสดงความเห็นในเรื่องสาธารณะ ไม่ต้องรับผิดเสียค่าสินไหมทดแทน”

อย่างไรก็ตาม นายประสงค์ เห็นว่า หากแก้ไขกฎหมายใด ๆ ไม่ได้ ศาลก็ต้องออกแนวปฏิบัติการไต่สวนที่ชัดเจน มิเช่นนั้น หากศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กลับสั่งไต่สวนใหม่ ดังที่ตนเคยเจอ ทำให้คดีความยืดเยื้อออกไปอีกและเป็นภาระผู้ถูกฟ้อง

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูลจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยซึ่งเคยถูกฟ้องหมิ่นประมาทสมัยที่เคยเคลื่อนไหวตรวจสอบคดีทุจริตยาและการแปรรูป กฟผ.ได้ถอดบทเรียนกรณีของตนว่า การเคลื่อนไหวของตนก็เหมือนการทดลองเครื่องมือทางกฎหมาย ที่ทุกคนมีส่วนใช้ได้ แต่ที่ผ่านมากลับถูกใช้โดยฝ่ายบริหารเพื่อฟ้องปิดปากประชาชน เป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียม เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรส่วนรวมมาฟ้อง เช่นเดียวกับนายไพโรจน์ ที่ย้ำว่า “การฟ้องหมิ่นบุคคล ก็ต้องสู้กันด้วยบุคคล อย่าใช้กลไกของรัฐเพราะผู้ฟ้องกำลังใช้เครื่องมือรัฐในเรื่องส่วนบุคคล”

ก่อนจบการเสวนา ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า “กระบวนการคดีความใด ๆ  พื้นฐานสำคัญอีกประการคือ ความรวดเร็ว เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนาน ก็คือ อยุติธรรม”

“การเสวนานี้ ผู้ร่วมเวทีได้พยายามเสนอแนวทางขีดเส้นแบ่งการฟ้องร้องหมิ่น เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมให้ชัดขึ้นแล้ว โดยต้องกระบวนการพิจารณาต้องยึดหลักการ แยกผลกระทบต่อเรื่องส่วนตัวกับสาธารณะออกจากกัน แต่ถ้าเส้นไม่ชัดเจนก็จะขึ้นกับดุลยพินิจผู้มีอำนาจพิจารณา ก็จะเป็นช่องให้มีการใช้อิทธิพลเข้ามาได้ ทั้งนี้ต้องคิดเป็นวงจร ต้องช่วยผู้ถูกคุกคาม เพื่อให้การตรวจสอบคอร์รัปชันเดินต่อไปได้” ดร.เดือนเด่น ให้ข้อคิดเห็นทิ้งท้าย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด