เทียนสว่าง ธรรมวณิช
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล และจากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลปัจจุบันผลักดันให้ “อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพและน่าจับตามองในการ ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นชาติการค้า
ปัจจุบัน ไทยมีผู้ขอจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 2,289 บริษัท และผู้ผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว จำนวน 84 บริษัท โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ร่วมกับทีดีอาร์ไอ สำรวจพบว่าในปี 2557 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวของประเทศไทยมีมูลค่ารวมกัน ทั้งสิ้นประมาณ 5.78 หมื่นล้านบาท รวมถึงมีสัดส่วนการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์ร้อยละ 3.7 และ ร้อยละ 7.4 ตามลำดับ
โดยสำหรับซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวมีสัดส่วนการส่งออกที่โดดเด่นมากคือ สูงถึงร้อยละ 38 โดยบริษัทซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของ ผู้ประกอบการไทย หรือซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ที่มีทีมพัฒนาเป็นคนไทยเกือบทั้งหมดสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้พอสมควร เพราะผู้ประกอบการไทยมีการสั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจมาอย่างยาวนาน จนมีความเข้าใจในธุรกิจและสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มี features และ functions ที่เข้าใจผู้ใช้งานทำให้แตกต่างไปจากคู่แข่งได้ สอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติการค้าของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ในใช้การตลาดนำการผลิต ตัวอย่างเช่น
1) สาขาท่องเที่ยว เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานจนเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับโลก เช่น ระบบการบริหารจัดการห้องพัก (front office, back office, restaurant, reservation, telephone billing, room service & entertainment) ระบบการจองโรงแรม ระบบบริหารงานท่องเที่ยวสำหรับ travel agency ตัวอย่างบริษัทที่แข่งขันในระดับนานาชาติได้ คือ Comanche, Agoda
2) สาขาค้าปลีกร้านอาหาร ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องเช่น ระบบ Point-of-Sales (POS) ระบบบริหารสินค้าคงคลัง เช่น Synature Technology, Touch Technology 3) สาขาเกษตรกรรม ใช้ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (embedded system software) ที่ติดตั้งในอุปกรณ์ควบคุมต่างๆ เช่นอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ/ไฟฟ้า การให้ปุ๋ย การให้อาหารสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ปลา หรือ RFID ที่ใช้ในฟาร์มปศุสัตว์เพื่อเก็บข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ตามข้อกำหนดด้าน Food safety บริษัทที่โดดเด่น คือ Crop Tech Asia, Silicon Craft Technology
ในส่วนธุรกิจของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือที่ software house ก็เริ่มมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จากการนำซอฟต์แวร์ไปแข่งขันในเวที ต่างประเทศเพื่อให้เป็นที่รู้จัก หรือติดตามไปกับลูกค้าในประเทศไทยที่ขยายสาขาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้บางรายยังเริ่มเปลี่ยนลักษณะการประกอบธุรกิจจากเดิมที่มีรายได้จากการรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สู่การให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a Service หรือ SaaS) ผ่านระบบคลาวด์ร่วมด้วย โดยมีรูปแบบการหารายได้แบบใหม่ๆ เช่น ไม่คิดค่าบริการใช้ซอฟต์แวร์ แต่มีรายได้ จากการโฆษณาในเว็บไซต์ และบริการเสริม อื่นๆ ผ่านทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตัวอย่างเช่น Builk ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง หรือ Ookbee ผู้พัฒนา ซอฟต์แวร์หนังสือและนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ ให้สำนักพิมพ์ใช้ฟรีโดยคิดส่วนแบ่งรายได้ จากค่าสมาชิกผู้ใช้บริการ e-book และ e-magazine ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาต่างๆ
เช่นเดียวกับ ธุรกิจรับจ้างผลิตซอฟต์แวร์หรือให้บริการซอฟต์แวร์ (IT service outsourcing) ก็มีส่วนสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เช่นกัน โดยพบว่ามีบริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทยที่รับงานจากต่างประเทศ และบริษัทซอฟต์แวร์ข้ามชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานสาขา (offshore service center) ในไทยหลายบริษัท เช่น บริษัท DST Worldwide (Thailand) จำกัด บริษัท BRED IT จำกัด และบริษัท รอยเตอร์ส ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ ของธุรกิจรับจ้างผลิตจะมีสัดส่วนการส่งออกสูง แต่การเติบโตของรายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่บริษัทแม่ในต่างประเทศเป็นผู้จัดสรรมาให้
เห็นได้ว่า จากข้อมูลข้างต้นภาคบริการในสาขาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยมีแนวโน้มที่น่าจะสดใส แต่ก็กลับพบกับปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมคือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำให้ ไม่สามารถรับงานเพิ่มได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งยังมีหลักเกณฑ์ ที่เข้มงวดในการพิจารณาออกใบอนุญาต ทำงานและใช้มาตรฐานเดียวกันสำหรับแรงงานทักษะสูงและแรงงานไร้ทักษะจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงมีความยากลำบากในการเพิ่มบุคลากร
ดังนั้น หากสามารถขจัดปัญหาในเรื่องบุคลากรและปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ และยกระดับ ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น ความสำเร็จของนโยบายยุทธศาสตร์ชาติการค้าที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งเดินหน้าอยู่นั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินคาดหวัง
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ชูธงซอฟต์แวร์ไทยไปกับชาติการค้า