“ทีดีอาร์ไอ” เปิด 4 โมเดลใหม่พัฒนาเศรษฐกิจ “พัฒนาคน-นโยบายอุตสาหกรรม-การจัดการเชิงสถาบัน-การพัฒนาสีเขียว” ดันไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลางใน 5 ปี
ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งโมเดลการขยายตัวเศรษฐกิจแบบเก่าไม่สามารถทำให้เราหลุดพ้นจากกับดักเหล่านี้ได้ ประเทศไทยต้องการโมเดลใหม่สะท้อนแนวคิดหรือวิธีบริหารจัดการรูปแบบใหม่ที่จะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักจนสามารถยกระดับเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป
การสรรหาโมเดลใหม่ ต้องทำความเข้าใจข้อบกพร่องของโมเดลเก่า ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” พร้อมจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า โมเดลการขยายตัวเศรษฐกิจแบบเก่า ไม่สามารถช่วยให้ไทยหลุดพ้นกับดักนี้ได้ โดยไทยต้องการโมเดลใหม่ที่สะท้อนแนวคิดหรือวิธีการบริการรูปแบบใหม่ที่จะนำพาไทยหลุดพ้นกับดัก จนยกระดับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป
การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมสัมมนาถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากโมเดลเก่า…สู่โมเดลใหม่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาคน นโยบายอุตสาหกรรม บทบาทภาครัฐ การจัดการเชิงสถาบันและการพัฒนาสีเขียว น่าจะทำให้ไทยหลุดพ้นรายได้ปานกลางได้ใน 5 ปีข้างหน้า
ขาดไม่ได้ในเรื่องการพัฒนาคน
ด้านแรก “การพัฒนาคน” เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ในการผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง คุณภาพของคนขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาที่ดี ทักษะแรงงานที่ยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในโมเดลใหม่ คือ ต้องลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสและคุณภาพการศึกษา ปรับหลักสูตรการเรียนให้เน้นการแก้ไขปัญหา, ปรับการบริหารจัดการการศึกษาให้มีระบบรับผิดรับชอบมากขึ้น และเพิ่มบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาการศึกษา การฝึกทักษะแรงงานควรเป็นไปตามความต้องการของตลาดมากขึ้น และเปิดเสรีนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูงมากขึ้น
ประเทศที่ไม่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ล้วนยกระดับเทคโนโลยี หลายประเทศดำเนินการเรื่องนี้ผ่าน ด้านที่สอง “นโยบายอุตสาหกรรมภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ” โดยต้องมีระบบการป้องกันความเสี่ยง หรือระบบสถาบันต้องเน้นการมีธรรมาภิบาลในการวางนโยบายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อป้องกันพฤติกรรมแสวงหาค่า
ด้านสาม “ปัจจัยเชิงสถาบัน” มีบทบาทมากในการอธิบายระดับความเหลื่อมล้ำในสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย แต่ไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาจึงควรเน้น การจัดการเชิงสถาบัน ตัวอย่าง คือ การกระจายอำนาจการคลัง และอำนาจการเมืองสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพสูงในการลดความเหลื่อมล้ำ
ใช้ธรรมชาติแบบทำลายเกินจำเป็น
ข้อบกพร่องของโมเดลเก่าที่สำคัญ คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลักษณะทำลายเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โมเดลใหม่จึงควรเน้น“การพัฒนาสีเขียว” วิธีที่ช่วยให้ไทยขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ การปฏิบัติตามกติกาการค้าระหว่างประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องมีกลยุทธ์ชัดเจน เช่น ปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้การบริโภคยั่งยืน ใช้มาตรการการเงินการคลังเบี่ยงเบนภาคผลิตไปสู่การผลิตที่สะอาดขึ้น ส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว และปฏิบัติตามมาตรฐานสากลจริงจัง
“ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ทักษะและสุขภาพ ทำให้ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีอุปสรรคสำคัญ คือ คุณภาพของคน แต่การศึกษาช่วยได้ ต้องกระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ลดสัดส่วนแรงงานนอกระบบ ที่ยังน่ากังวล โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีการศึกษากลาง และสูง กลับมาเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น”
หลักการสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การกระจายอำนาจทางการเมืองสู่ท้องถิ่น ให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ เพื่อให้มีผู้นำชุมชนแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นเอง แต่ยอมรับการที่ประชาชนรับร่างรัธรรมนูญ จะทำให้มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งในปีหน้า แต่จะมีผลเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ
ศก.ฟื้นตัวไม่กระจาย-มีความเปราะบาง
ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น และความผันผวนลดลงบ้าง แต่การฟื้นตัวยังไม่กระจาย และยังมีความเปราะบางอยู่ การประคับประคองให้เศรษฐกิจผ่านพ้นพายุคลื่นลมระยะสั้นไปได้ แม้เป็นสิ่งจำเป็น แต่การมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ อาจทำให้เราละเลยปัญหาที่ใหญ่และหนักกว่า นั่น คือ ปัญหาเชิงโรงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย
ถ้าย้อนไปดูพัฒนาการเศรษฐกิจของไทยในอดีต ตั้งแต่ก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกปี 2504 จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเติบโต 7-8% ต่อปี ยกระดับจากประเทศยากจนเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมาการเติบโตลดลงเหลือ 3-4% และดูเหมือนจะกลายเป็น new normal ไปแล้ว
ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นว่าการชะลอของเศรษฐกิจระยะหลังนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาวัฏจักรเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่หยั่งรากฝังลึกมานานและไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง
เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายจุด ทั้งขาดการลงทุนมานาน ความล้าหลังด้านเทคโนโลยี ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ความด้อยคุณภาพของระบบการศึกษา ความอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ ตลอดจนความขัดแย้งในสังคมที่ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
“ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้สั่งสมมานาน ไม่สามารถแก้ได้ในเวลาอันสั้น และไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีการทำงานเชิงรุก เพื่อผลักดันให้ประเทศหลุดจากหล่มโครงสร้างในด้านต่างๆ และปลดล็อกเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนได้”
ใช้เทคโนโลยีสู่โมเดลใหม่พัฒนาคน
ส่วน นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมสูงวัยและเทคโนโลยี จะส่งผลกระทบสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้นด้านตลาดแรงงานและนโยบายที่จำเป็นต้องรองรับการเปลี่ยนแปลง “โมเดลใหม่การพัฒนาคน”
ทั้งนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นโอกาสการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทดแทนแรงงานที่จะลดลงจากสังคมสูงวัย แต่ที่ผ่านมาตลาดแรงงานไทยตึงตัว จึงยังมีช่องว่างที่จะดูดซับแรงงานจากสาขาที่จะได้รับผลกระทบ การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ต้องบูรณาการทุกมิติและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 9 สิงหาคม 2559 ในชื่อ เปิด4โมเดลใหม่พัฒนาเศรษฐกิจ ดึงไทยพ้นกับดัก