เชื่อมโยงอุตฯ แฟชั่นไทย ในตลาดอาเซียน (1)

ปี2016-08-10

อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อยู่ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลเร่งสนับสนุน โดยมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้นนับจากนี้

drsaowaraj3-1
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวใน งานเสวนาโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในอาเซียน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้โครงการศึกษาการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย กับระบบการผลิต การตลาด และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยระบุถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่จะต้องวางตำแหน่งทางการตลาดและการผลิตให้สอดคล้องกับจุดแข็งของตัวเองและของประเทศ

โดยผู้ประกอบการในอุตฯ แฟชั่นไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ผู้ประกอบการกลุ่มรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ใช้แรงงานทักษะต่ำ 2.ผู้ประกอบการกลุ่มโออีเอ็มที่ใช้แรงงานทักษะสูง 3.ผู้ประกอบการกลุ่มรับจ้างผลิตและพัฒนาดีไซน์ตัวเอง (โอดีเอ็ม) และรับจ้างผลิตและมีแบรนด์ตัวเอง (โอบีเอ็ม) โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ คือ 1.ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ 2.คุณภาพสินค้าสูง 3.การส่งมอบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น สิ่งที่เอื้ออำนวยจึงขึ้นอยู่กับเครื่องจักรที่ทันสมัย ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ สิทธิพิเศษการค้าจากประเทศส่งออก และความสามารถในการบริหารจัดการ

ขณะที่ ความแตกต่างของกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย พบว่าผู้ประกอบการกลุ่มโออีเอ็มเป็นกลุ่มที่รับจ้างผลิตสินค้าตามความต้อง การของลูกค้าที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ ควรจัดตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อรับการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่กลุ่มผลิตเพื่อการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป ควรย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ขณะที่ความท้าทาย คือ ควรคำนึงถึงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ ประสิทธิภาพยังเท่าเดิม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการกลุ่มโออีเอ็มที่ใช้แรงงานทักษะสูง ยังเหมาะสมที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น อุตฯ อัญมณี เครื่องประดับ นอกเหนือจากนี้ผู้ประกอบการกลุ่มโอดีเอ็มที่ออกแบบสินค้าด้วยตัวเองเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้า และโอบีเอ็ม กลุ่มที่ออกแบบสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง มักใช้แรงงานทักษะสูง จึงเหมาะสมในการตั้งฐานการผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยับสู่ผู้ผลิตกลุ่มโอดีเอ็มและโอบีเอ็มมาก ขึ้น ซึ่งตลาดที่เหมาะสมในการยกระดับธุรกิจไทยอีกขั้น คือ ตลาดอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ที่เป็นตลาดเปิดใหม่มีโอกาสในการสร้างธุรกิจอีกมาก ทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าแบรนด์ไทย

โดยทีดีอาร์ไอทำการศึกษา 4 ประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และเมียนมา พบว่าประเทศอินโดนีเซียมีข้อดีของตลาด คือ มีสินค้าแบรนด์ไทยด้านอุตฯ แฟชั่นเข้าตลาดในช่องทางห้างสรรพสินค้าไทย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและดีไซน์ แต่มีจุดเสี่ยงที่การแข่งขันในตลาดระหว่างแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ใน ประเทศมีสูง รวมถึงข้อกฎหมายที่จำกัดการลงทุนจากต่างชาติ แต่โดยรวมถือว่าเป็นประเทศที่มีฐานการตลาดดี จากกำลังซื้อชนชั้นกลางขยายตัวต่อเนื่อง และยังเหมาะสมตั้งฐานการผลิตด้วยจำนวนประชากรที่มากและค่าจ้างแรงงานยังต่ำ ในลักษณะผู้ประกอบการกลุ่มโออีเอ็มด้วยการใช้แรงงานทักษะต่ำ แต่โดยรวมทักษะแรงงานสูงกว่าประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี

ขณะที่ความท้าทาย คือ ระบบสาธารณูปโภคโดยเฉพาะไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ รวมถึงระบบการขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) โครงสร้างพื้นฐานด้อยพัฒนา และระบบการถือครองที่ดินที่ให้เฉพาะสิทธิการใช้ที่ดิน (Using Right) มีลักษณะเป็นการเช่า (Leasehold)  โดยทำเลที่ตั้งที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งฐานการผลิต คือ ตอนกลาง และทางตะวันออกของชวา

ส่วนด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า พบว่าส่วนใหญ่ผ่านผู้กระจายสินค้าท้องถิ่นกว่า 17 บริษัท เช่น Mitra Adiperkasa (MAP) Pedder Group Delami Group และ Trans Fashion ซึ่งการร่วมทุนกับผู้กระจายสินค้าท้องถิ่น นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนโดยตรงในธุรกิจการกระจายสินค้า 67% แต่หากบริษัทใดที่ทำการผลิตในอินโดนีเซีย สามารถเป็นผู้กระจายสินค้าได้โดยตรง ไม่ต้องร่วมกับผู้กระจายสินค้าท้องถิ่น

โดยรวม อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เหมาะสมในการขยายฐานการผลิต โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการผลิตจำนวนมาก และต้องการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคในอินโดนีเซียโดยตรง


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 10 สิงหาคม 2559 ในชื่อ เชื่อมโยงอุตฯ แฟชั่นไทย ในตลาดอาเซียน (1)