ทีดีอาร์ไอแนะ 5 มาตรการเร่งด่วน รื้อใหญ่ระบบธรรมาภิบาลภาครัฐ

ปี2016-08-11

วานนี้ (10 ส.ค.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดสัมมนาเรื่อง แนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) โดยมีการเสนอมาตรการเร่งด่วนและแผนต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบธรรมาภิบาล ดังนี้

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอ มองว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตทำให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในเชิงคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ของภาครัฐจะต้องมีความโปร่งใส รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจก) มีแนวโน้มจะต้องใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลทำให้ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการโครงการของรัฐมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเรื่องธรรมาภิบาลกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหาที่สำคัญหลายประการ โดยสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจทางด้านธรรมาภิบาล ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังมีความเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของธรรมาภิบาลแตกต่างกัน การบริหารจัดการภาครัฐที่ยังรวมศูนย์ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลในการบริหารงานภาครัฐยังไม่มีความโปร่งใสหลายมิติ จนบางครั้งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน  ส่วนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนยังมีมาตรฐานที่แตกต่างกันระหว่างบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งระบบธรรมาภิบาลในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

“ปัญหาของความอ่อนแอของระบบธรรมาภิบาลในประเทศจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการด้อยคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาของคุณภาพการบริการภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งปัญหาในเรื่องของการสร้างความเหมาะสมและความเป็นธรรมในทางสังคม เป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดข้อขัดแย้งทางสังคมและการเมืองได้ในอนาคต”

สำหรับประเด็นปัญหาด้านธรรมาภิบาลในมิติเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆได้แก่

1.กฎระเบียบของภาครัฐและนโยบายการสนับสนุนภาคเอกชนที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทำให้ต้นทุนภาคเอกชนอาจจะสูงขึ้นจากกฎระเบียบและข้อบังคับที่มีมากเกินไป

2.ฐานะทางการคลังขาดความยั่งยืน เนื่องจากพบว่ามีการใช้เงินนอกงบประมาณ และนโยบายประชานิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ

และ 3.ภาครัฐไม่สามารถสร้างความเหมาะสมและความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ จากการที่ยังไม่สามารถผลักดันกฎหมายแข่งขันทางการค้าและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายพสิษฐ์ วงษ์งามดี นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลของประเทศไทยจะต้องมีกลไกในการดำเนินการทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยมาตรการที่ควรจะเร่งดำเนินการในระยะเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในระยะแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ประกอบไปด้วย 5 ส่วน ได้แก่

1.การตัดลดข้อกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine) โดยชำระกฎหมายที่มีความล้าสมัย และเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน โดยในปัจจุบันขั้นตอนนี้มีความคืบหน้าและอยู่ในการทำงานร่วมกันระหว่างที่ปรึกษาต่างประเทศกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

2.การบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเผยแพร่ประมวลจริยธรรมลงบนอินเทอร์เน็ต และกำหนดให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับข้าราชการที่ละเมิดจริยธรรม

3.กำหนดให้หน่วยงานราชการ เปิดเผยข้อมูลที่กำหนดให้มีการเปิดเผยตามกฎหมาย และมีการประเมินผลการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการโปร่งใสในการดำเนินการของภาครัฐ

4.การเปิดเผยการดำเนินงานและผลงานขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการสอบสวนคดีทุจริตที่ทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียม

และ5.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังภาครัฐ

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาเป็นระยะเวลาเกือบจะ 50 ปี เพิ่งจะมีแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 เป็นฉบับแรกที่แยกเอาเรื่องของธรรมาภิบาล ออกมาเป็นหมวดเฉพาะซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดีในการพัฒนาประเทศเนื่องจาก การพัฒนาระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งทั้งในภาครัฐและเอกชนถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่น้อยกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลที่อ่อนแอในประเทศไทยส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงควรกำหนดมาตรฐานธรรมาภิบาล ที่ทำให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ของทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามในประเทศไทยการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลของภาคเอกชนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาตั้งแต่หลังวิกฤติปี 2540 ปัจจุบันภาคเอกชนโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ มีคะแนนเรื่องการมีธรรมาภิบาลอยู่ใน อันดับต้นของอาเซียน

จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีบริหารกว่า 354 บริษัทหรือประมาณ 79% ของบริษัทจดทะเบียนที่มีนโยบายส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยในระยะต่อไปต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทต่างๆพัฒนาจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง

สำหรับการสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานราชการรัฐบาลควรมีนโยบายโดยตรงไปยังผู้นำและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆซึ่งมีประมาณ 20,000 คนหรือประมาณ 1% ของข้าราชการทั้งหมดให้เป็นผู้นำในการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรภาครัฐโดยเชื่อว่าหาก ผู้นำหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพนักงานในระดับรองจะปฏิบัติตาม

นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายในการสร้าง ธรรมาภิบาลมายาวนาน โดยตั้งแต่ปี 2533 มีมติ ครม.ในเรื่องศูนย์ราชการใสสะอาด จากนั้น ในปี 2546 มีการออก พ.ร.บ.การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ต่อมาในปี 2555 รัฐบาลเคยมีนโยบายในการตั้งศูนย์การปราบปรามทุจริตในทุกกระทรวง รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อสนับสนุนธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม พบว่าคณะกรรมการเกี่ยวกับธรรมาภิบาลหลายชุดไม่เคยมีการเรียกประชุมจริงและไม่มีการประเมินผลว่ามีการขับเคลื่อนงานด้านธรรมาภิบาลก้าวหน้าไปมากเพียงใด ทำให้การส่งเสริมนโยบายนี้ในหน่วยงานภาครัฐยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เห็นว่า ความพยายามในการสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากภาครัฐยังคงยึดติดกับรูปแบบเดิมๆคือการตั้งคณะกรรมการ องค์กรหรือพยายามออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความอ่อนแอของธรรมาภิบาลและแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้  ทั้งนี้ วิธีการที่จะแก้ปัญหาได้คือ ภาครัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานและสิทธิประโยชน์กับภาคเอกชนซึ่งถือว่าเป็นการให้ทรัพยากรของคนในประเทศไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเอกชนซึ่งมาตรฐานสากลในหลายประเทศจะมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 11 สิงหาคม 2559 ในชื่อ: ทีดีอาร์ไอแนะ 5 มาตรการเร่งด่วน รื้อใหญ่ระบบธรรมาภิบาลภาครัฐ