เชื่อมโยงอุตฯ แฟชั่นไทย ในตลาดอาเซียน (จบ)

ปี2016-08-12

ต่อจากฉบับที่แล้วในตอนแรก ที่ภาครัฐมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ศึกษาประเทศอาเซียน 4 ประเทศ เป็นกรณีศึกษา คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และเมียนมา ซึ่งได้กล่าวถึงประเทศอินโดนีเซียไปแล้ว

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเทศเวียดนาม มีข้อดีด้านการบุกตลาดห้างสรรพสินค้าของไทย อย่างโรบินสันที่เปิดให้บริการในเวียดนาม 2 สาขา นอกจากนี้ยังมีสินค้าแบรนด์ไทยที่เข้าไปจัดจำหน่ายจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการรับรู้ต่อสินค้าไทยกว้างพอสมควร อีกทั้งเศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง และประชากรชนชั้นกลางขยายตัวเร็วที่สุดในซีแอลเอ็มวี

อย่างไรก็ตาม มีจุดเสี่ยง คือ ผู้บริโภคในเวียดนามยังมองว่าสินค้าแบรนด์ไทยราคาสูง และความนิยมนั้นยังไม่เทียบเท่าสินค้าจากตะวันตก ส่วนในด้านการตั้งฐานการผลิตนั้น เวียดนามมีประชากรสูงทั้งมีสิทธิพิเศษจากประเทศส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

นอกจากนี้เวียดนามได้เข้าร่วมการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี ทำให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาจต้องย้ายหรือขยายฐานการผลิต เนื่องจากกฎ Yarn forward การกำหนดให้ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย-ประเทศสหรัฐอเมริกา 100% เท่านั้น จึงจะได้สิทธิเอฟทีเอ ซึ่งธุรกิจที่เหมาะสมคือ กลุ่มรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ที่ใช้แรงงานทักษะต่า

โดยภาพรวมโอกาสของสินค้าไทย พบว่าสินค้าที่มีคุณภาพปานกลาง-สูง มีการออกแบบเป็นเอกลักษณ์ จะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคเวียดนาม โดยสินค้าไทยในห้างสรรพสินค้าควร เน้นการสร้างภาพลักษณ์สินค้า เน้นคุณภาพ การออกแบบ และราคาที่สมเหตุสมผล

นอกเหนือจากการพิจารณาเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม จากปัจจัยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำนั้น ยังควรพิจารณาค่าสวัสดิการแรงงานที่อยู่ในระดับ 24% ซึ่งในภาพรวมทักษะแรงงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทย ต้องได้รับการฝึกอบรม โดยพื้นที่ที่ นักลงทุนนิยมเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงาน ได้แก่ ทางตอนใต้บริเวณจังหวัด บินเยือง ด่องไน บาเรีย-หวุงเต่า ทางตอนเหนือ ได้แก่ ไฮฟอง ซึ่งอัตราค่าเช่าพื้นที่ในแต่ละนิคมอุตสาหกรรมแตกต่างกันตามที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายพบว่า เวียดนามผูกพันการเปิดตลาดการค้า บริการจัดจำหน่ายในระดับน้อยมาก ซึ่งกฎหมายการลงทุนเวียดนามจำกัดให้นักลงทุนสามารถเปิดสาขาได้เพียงแห่งเดียว โดยหากต้องเปิดสาขาเพิ่มมากกว่า 1 แห่ง จะต้องทดสอบความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อขออนุญาตจัดตั้งจากรัฐ ดังนั้นนักลงทุนไทยควรร่วมทุนกับนักธุรกิจเวียดนามหรือขายแฟรนไชส์

ขณะที่โอกาสเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในตลาดเมียนมา มีข้อได้เปรียบด้านการรับรู้สินค้าแบรนด์ไทย จากคนท้องถิ่นซึ่งได้รับความนิยมมองว่าเป็นสินค้ามีคุณภาพ ซึ่งการขยายตัวของชนชั้นกลางมีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคู่แข่งในตลาดสินค้ากลาง-บนมีอยู่น้อย อีกทั้งสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านการขาดอุตสาหกรรมสนับสนุน กฎหมายจำกัดการลงทุนค้าปลีกจากต่างชาติ กฎระเบียบยังซับซ้อนและไม่ชัดเจน รวมถึงบางกรณีสินค้าไทยยังถูกมองว่าราคาสูง

สำหรับทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการตั้งโรงงาน ได้แก่ ย่างกุ้งและบริเวณใกล้เคียง เช่น พะโค โดยลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา รวมถึงเมืองที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย เช่น เมาะละแหม่ง เนื่องจากมีความสะดวกในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ตลอดจนสามารถเดินทางไปควบคุมโรงงานได้ง่าย

สุดท้าย โอกาสทางตลาดในสิงคโปร์นั้นไม่เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิต เพราะไม่มีวัตถุดิบและราคาค่าแรงสูง ด้านการตลาดพบว่ากำลังซื้อสูงแต่การแข่งขันก็สูงเช่นกัน เน้นการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งธุรกิจที่เหมาะสมในการตีตลาดสิงคโปร์ คือ ธุรกิจกลุ่มผลิตและออกแบบ (โอดีเอ็ม) และผลิตและสร้างแบรนด์ (โอบีเอ็ม) เน้นสินค้ามีคุณภาพ มีสไตล์และราคาสมเหตุสมผล ดังนั้น ควรสร้างแบรนด์ไทยให้แข็งแกร่งก่อนเข้าตลาดสิงคโปร์ รวมถึงในช่องทางอีคอมเมิร์ซ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 12 สิงหาคม 2559 ในชื่อ เชื่อมโยงอุตฯ แฟชั่นไทย ในตลาดอาเซียน (จบ)