สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดทำรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยปีละครั้ง สำหรับในปี 2559 นี้ ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ชูประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ โดยยึดขนาดและระดับความรุนแรงของปัญหาที่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องเร่งให้ความสนใจ
อันดับแรก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำจัดหรือนำมารีไซเคิลแบบไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้สารพิษรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เกิดสารพิษตกค้างและสะสม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการเศษเหลือทิ้งของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง อันดับสอง ปัญหาการบุกรุกป่า
อันดับสาม สถานการณ์น้ำและภัยแล้ง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของไทยประสบภัยแล้งต่อเนื่อง ฤดูแล้งปี 58/59 ไทยแล้งหนักในรอบ 15 ปี สาเหตุหลักจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและขาดป่าไม้ ถือเป็นปัญหาใหญ่เพราะกระทบเศรษฐกิจ ทั้งเกษตร ประมง ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม อันดับ 4 กัดเซาะชายฝั่งทะเลทวีความรุนแรง เกิดจากสิ่งปลูกสร้างยื่นเข้าไปในทะเลและแนวทางแก้ปัญหาผิดๆ ในหลายพื้นที่ ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อันดับ 5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันแผนการลดก๊าซเรือนกระจกยังมีข้อจำกัด ล่าช้า ดังนั้น ในปี 2559 ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเช่นกัน
จาก เวทีประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2559 จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันก่อน ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาระดับสูงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเกี่ยวพันกับประเทศไทย พบว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การจัดทำข้อตกลงว่าด้วยแผนการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP21 ยังพบปริมาณฝนที่ลดน้อยลง ระดับน้ำแปรปรวน ส่งผลให้ตลิ่งพัง รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้วความรุนแรงมากขึ้น เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามแดน อย่างปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนยังแก้ไม่ตกในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เป็นมลพิษที่ท้าทายการแก้ไขและปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
เจาะสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยปี 58-กลางปี 59 รศ.ดร.อดิศร์ เสนอว่า ประเด็นทรัพยากรแร่ยังมีสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะมีการร้องเรียนและเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบการทำเหมืองแร่ในหลายกรณีหลายพื้นที่ เช่น เหมืองทองคำ จ.พิจิตร ขณะที่แนวทางแก้ปัญหายังไม่มีรูปแบบชัดเจน เสนอให้กำหนดเขตศักยภาพแร่และเขตเศรษฐกิจแร่ ผลักดันการจัดทำรายงาน SEA เพื่อให้มีการบริหารพื้นที่เชิงกลยุทธ์อย่างรอบด้าน
ส่วนป่าไม้ ไทยสูญเสียป่าไม้ทุกปี ช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ป่าบุกรุกมากขึ้น มาตรการทวงคืนผืนป่าของรัฐต้องทำอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหมอกควันไฟป่ามีความรุนแรง สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจในเขตอนุรักษ์ ทั้งข้าวโพดและยางพารา ต้องหยุดยั้ง ผู้บริโภคต้องมีสิทธิรู้ว่าธุรกิจใดที่สร้างความเสื่อมโทรมให้สิ่งแวดล้อม และพัฒนาระบบฉลากเขียวผลิตภัณฑ์เกษตรป้องกันไม่ให้มีการทำเกษตรในที่อนุรักษ์ ในร่างรายงานยังเสนอให้จัดตั้งชุมชนป่าไม้ เร่งนำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือ One map ใช้ตรวจสอบแนวเขต สำหรับสถานการณ์น้ำ มีปัญหาฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง และจัดสรรน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น เสนอให้จัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
สถานการณ์มลพิษเป็นอีกประเด็นเสนอในรายงานฉบับนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุมลพิษทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินของแหล่งน้ำสายสำคัญเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้น ขยะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดและผลักดันใช้เครื่องมือภาษีมลพิษน้ำเพื่อจัดการน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ อีกประเด็นพื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพฯ ตอนนี้ 5.97 ตร.ม.ต่อคน แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยองค์การอนามัยโลก ที่กำหนด 9 ตร.ม.ต่อคน ยังไม่รวมตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อคนที่แย่มาก ปี 58 ปล่อย 3.87 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปี จากเดิม 3.09 แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น สะท้อนคนไทยไม่ตระหนักลดปล่อยก๊าซ แต่ยังดีภาคการผลิตตัวเลขปล่อยไม่เพิ่ม
ด้าน ประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ แสดงทัศนะต่อร่างรายงานฯ ว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพหรือเขาหัวโล้นกว่า 26 ล้านไร่ การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนจะลดการบุกรุกพื้นที่ป่าได้ต้องจัดตั้งป่าชุมชนตรงกับข้อเสนอในร่าง รัฐบาลเร่งรัดให้กรมป่าไม้จัดตั้งป่าชุมชน ปัจจุบันมี 9,800 แห่ง รวม 4.6 ล้านไร่ และมีเป้าเพิ่มขึ้นให้ได้ 10 ล้านไร่ ตนยืนยันป่าดีได้เพราะชาวบ้าน ชุมชนอยู่กับป่าได้ รวมทั้งต้องเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนมาบังคับใช้
“การปกป้องทรัพยากรป่าไม้ ประเทศไทยยังเดินตามหลังเพื่อนบ้าน ตนร่วมประชุมป่าไม้อาเซียน ลาวมีพื้นที่ป่า 63% พม่า 50% กัมพูชา 50% ขณะที่ไทยมีเพียง 32% ต้องกลับมาคิดและทบทวนการบริหารจัดการที่ผ่านมาแนวทางถูกต้องหรือไม่ ลดการสูญเสียป่าแค่ไหน แล้วก็อยากเห็นรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมมองไปสู่อนาคตมากกว่าย่ำกับอดีต” รองอธิบดีกรมป่าไม้เทียบกับสถานการณ์ป่าไม้เพื่อนบ้าน
ขณะที่ สุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ วิพากษ์ร่างรายงานฯ ว่า ยังต้องปรับปรุง เพราะขาดการวิเคราะห์ประเมินทรัพยากรในเขตคุ้มครองมลพิษทั้ง 18 เขตทั่วประเทศว่า สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงเพิ่มเติมการวิเคราะห์เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะการพัฒนาจะส่งผลด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมทางบวกและลบ
“แล้วยังมีผลกระทบจากพื้นที่ท่องเที่ยวหลักตามเป้าหมายดันการท่องเที่ยวเพิ่มรายได้เข้าประเทศของรัฐบาล ขยะ น้ำเสียปริมาณมากขึ้น มลพิษเพิ่มขึ้น เช่น เกาะพีพี เกาะเสม็ด เกาะช้าง เมืองพัทยา เพชรบูรณ์ รวมถึงท่องเที่ยวเขตล้านนา จะมีแนวทางรองรับการท่องเที่ยวและดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร ปี 58 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 30 ล้านคน ปีนี้จะเพิ่มอีก 10-20% จะปรับเปลี่ยนแนวทางจัดการอย่างไร รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ รายงานไม่ได้เสนอการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเนื้อเดียวกับแผนสภาพัฒน์” สุวรรณ กล่าว
ประเด็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ติด 1 ใน 5 ปัญหาสำคัญระดับชาติ รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นทุกปี ตัวเลขปี 58 พบมากถึง 384,233 ตัน มากสุดคือโทรทัศน์ แสนกว่าตัน รองลงมาแอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ คพ.เร่งดำเนินงานจัดการปัญหาซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.บุรีรัมย์ ทั้งสองแห่งมีแหล่งชุมชนคัดแยกขยะซากเครื่องไฟฟ้า ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสุขภาพและป้องกันของเสียอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม
“มาตรการเร่งด่วนที่เห็นในรายงานมีกฎหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้กฤษฎีกาเห็นชอบร่าง กม.แล้ว อยู่ระหว่างเข้า สนช. อีกทั้งมีแผนแม่บทจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน ครม. เน้นลดขยะต้นทาง ปลายทางจัดการซากแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มีปฏิบัติการเมืองไทยไร้ขยะเป็นแผนระยะสั้น 1 ปี ดึงชุมชน อปท. มีส่วนร่วม ก็ควรเพิ่มในรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปี 59 นี่เป็นแนวทางส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น อย่าลืมว่ารายงานต้องเชื่อมโยงกับแผนควบคุมมลพิษและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” สุวรรณให้ข้อเสนอแนะในท้าย พร้อมย้ำการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต้องไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมถึงจะเรียกการพัฒนายั่งยืน
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อ 14 สิงหาคม 2559 ในชื่อ 5 ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับชาติโจทย์ใหญ่ท้าทายพัฒนา