คิดเป็นเห็นต่าง: Open Data และความโปร่งใส

ปี2016-08-29

ธิปไตร แสละวงศ์
นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่คงเข้าใจดีว่าการบริหารจัดการเมือง หรือเทศบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบชีวิตประจำวันของเรา อย่างมาก ขยะหน้าบ้านล้นถัง น้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับ รถติด เป็นปัญหาที่สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของผู้บริหารเมืองได้เป็นอย่างดี

DSC08266
ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารเมืองควรเริ่มต้นจากการมีข้อมูลที่แสดงปัญหา และการเปิดเผยแผนการแก้ปัญหาให้ผู้คนทั่วไปได้รับทราบและร่วมเสนอความเห็น โชคดีที่เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมากและราคาถูกลง จึงเกิดกระแสการผลักดันให้องค์กรบริหารเมืองนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาช่วยบริหารจัดการบริการของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราจึงมักได้ยินคำว่า E-government (รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์) Smart City (เมืองอัจฉริยะ) Open Government (รัฐบาลโปร่งใส) อยู่บ่อยครั้ง และกระแสล่าสุดคือการพัฒนาให้เกิดการผลิต Open Data (ข้อมูลเปิด) เพิ่มมากขึ้น

โดยหัวใจหลักของแนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมานี้มี 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างความโปร่งใสให้คนได้รับรู้ถึงรายละเอียดงานที่ฝ่ายบริหารเมืองจะทำ สอง การสร้างการมีส่วนร่วมให้คนได้ร่วมเสนอความเห็น ต่องานนั้น และสาม การสร้างช่องทางให้ประชาชนได้ตรวจสอบโครงการต่างๆ (ใกล้บ้านตนเอง) ได้

สรุปง่ายๆ ว่าเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูล และเมื่อแก้ปัญหาไปแล้วก็มีโอกาสว่าจะไม่ถูกใจประชาชน หากไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อน ที่สำคัญคือ การทำงานรัฐที่ไม่มีใครจะไปตรวจสอบได้เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่ “เชื้อทุจริต” เจริญเติบโต ก่อนที่จะมาดูว่ากรุงเทพมหานครเราเป็นอย่างไร ผู้เขียนอยาก จะนำกรุงโซลของประเทศเกาหลีใต้มาเป็นตัวอย่างของเมืองที่มีการบริหารงานตามหลักการ E-government และ Open Data อย่างจริงจัง จนเจ้าหน้าที่หลายๆ ประเทศต้องไปดูงาน

กรุงโซลถูกจัดอยู่อันดับ 1 จากเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลกที่มีเว็บไซต์เปิดเผยข้อมูลดีที่สุดตลอด 10 ปี ในผลสำรวจตามรายงาน Digital Governance in Municipalities worldwide 2013-2014 ของมหาวิทยาลัย Rutgers (สหรัฐ)

วิธีการประเมินนั้นก็วัดผลกันง่ายๆ เพียงประเมินว่าเมืองใดมีเว็บไซต์ประจำเมือง (ซึ่งมักเป็นหน่วยงานบริหารเมืองจัดทำขึ้น) ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลท้องถิ่นได้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความสะดวกในการใช้งาน เช่น ค้นหาข้อมูลในเว็บง่ายหรือไม่ และเรื่องการช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานของเมือง เช่น มีช่องทางให้ประชาชนได้เสนอความเห็น หรือร้องเรียนการทำงานของหน่วยงานภายในหรือไม่

เมื่อได้ลองดูเว็บไซต์ Opengov Seoul ก็พบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือแสดงความโปร่งใสในการบริหารเมืองได้ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของเมือง และช่องทางให้ชาวเมืองได้เสนอว่าอยากให้เมืองเอางบไปทำอะไรและโครงการใดดู เหมือนจะเสียเงินเปล่า โดยไม่ลืมที่จะแสดงผลงานของฝ่ายบริหารเมืองว่ามีโครงการใดบ้างที่ทำไปแล้ว ประหยัดงบแต่ได้ผลสำเร็จ ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การให้ชาวเมืองเสนอว่ากฎระเบียบใดไม่สมเหตุสมผล ไม่ควร จะมีอยู่อีก หรือควรถูกแก้ไขผ่านศูนย์ที่เรียกว่า “Unreasonable regulatory reporting center”

ลองกลับมาดูกรณีของกรุงเทพฯ ของเราที่มีประชากรอย่างเป็นทางการประมาณ 6 ล้านคน น้อยกว่ากรุงโซลที่มีอยู่ 10 ล้านคน การจัดอันดับของมหาวิทยาลัย Rutgers ข้างต้น กรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่อันดับที่ 79 จาก 100 เมือง หมายความว่าเว็บไซต์ของ กทม. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสและเชื่อมต่อชาวกรุงเทพฯ และฝ่ายบริหารเมืองตามคำนิยามของสากล

ผู้เขียนได้ลองสำรวจเว็บไซต์ข้อมูลของ กทม. และเห็นว่าเว็บไซต์ปัจจุบัน Bangkok.go.th ยังทำหน้าที่เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ กทม. อยากจะแจ้งต่อประชาชนมากกว่าเป็นช่องทางเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนอยากทราบ การบริหารข้อมูลยังคงเป็นลักษณะกระจัดกระจายตามหน่วยงานภายในมากกว่ารวมศูนย์ไว้ที่เว็บไซต์เดียว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ กทม. ประกาศว่า กทม.ผลิตแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนเพื่อเป็นช่องทางให้ข้อมูล เช่น BMA Data Center กรุงเทพตาสับปะรด BMA Traffic ข้อมูลยอดดาวน์โหลดจาก Google Play แสดงว่าแอพพลิเคชั่นสองอันแรกมียอดดาวน์โหลดไปใช้เพียงหลักร้อยเท่านั้น จึงถือว่ายังไม่แพร่หลาย ส่วน BMA Traffic ถูกโหลดไป 5 หมื่น แต่ในการใช้งานจริงนั้นยังไม่อาจสู้ Google Maps ได้

กล่าวได้ว่า กทม.ก็ยังมีความพยายามอยู่บ้างในเรื่องการเพิ่มช่องทางสื่อสารและให้ข้อมูลกับ ประชาชน แต่สิ่งที่ยังต้องทำให้ดีกว่านี้ คือ การทำความเข้าใจและพร้อมรับฟังว่าประชาชนต้องการข้อมูล บริการสาธารณะ หรือโครงการใดจาก กทม. โดยใช้เทคโนโลยีที่ กทม.มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ โดยอาจดูกรุงโซลเป็นตัวอย่างได้บ้าง

นอกจากนี้ แม้รู้ว่าการบริหารเมืองที่มีประชากรหลักล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยขอเสนอให้ผู้บริหาร กทม. เปิดเผยข้อมูลการดำเนินโครงการต่างๆ ให้ชัดเจนและทันการณ์ ก่อนที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส เพราะการบริหารเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของคนนับล้าน กทม.จึงควรเป็นตัวอย่างองค์กรบริหารท้องถิ่นที่ดีของไทยให้ได้


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 29 สิงหาคม 2559 ในชื่อ Open Data และความโปร่งใส