มุ่งสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ รับเงื่อนไข ‘การค้าโลก’ เปลี่ยน

ปี2016-08-30

การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในหลายทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา 

ในเวทีโลกให้ความสำคัญการพัฒนาที่ ยั่งยืนและวางเป็นกติกาการค้ามากยิ่งขึ้น ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิจัยโครงการวิจัย New Development Model บอกว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน พบว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีมาตรฐานในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากำหนดเป็นข้อบังคับและอุปสรรคทางการค้ามากขึ้น

สิ่งนี้ บ่งชี้ว่าในอนาคตการค้าเสรีและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยต้องมีนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมการดำเนินการที่มุ่งสู่การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้ถูกกีดกันจากประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ในปัจจุบันในเวทีการค้าระหว่างประเทศมีทั้งมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศและข้อตกลงเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติภาคบังคับและภาคสมัครใจ 

Photo-1001-6
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์

ในส่วนของมาตรการภาคบังคับที่มีผลบังคับใช้แล้วมีหลายข้อในตลาดการค้ายุโรปและอเมริกา เช่น มาตรการการห้ามนำเข้าปลาทูน่าที่ถูกจับด้วยวิธีการที่เป็นอันตราย ห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือแยกเต่าออกจากการจับกุ้ง ส่วนอุตสาหกรรมการบินมีมาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับทุกสายการบินที่ลงจอด ณ ท่าอากาศยานของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU Aviation Carbon Tax) มาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับการนำเข้าสินค้า (Border Carbon Tax Adjustment) และระเบียบว่าด้วยการกำจัดเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) และระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายบางประเทศในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนมาตรการเสริมด้านสิ่งแวดล้อมภาคสมัครใจที่เป็นกรอบที่ประเทศพัฒนาแล้วเรียกร้องให้คู่ค้าปฏิบัติตาม ประกอบไปด้วยมาตรการฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-Label) มาตรการฉลากสีเขียว (Green Dot) มาตรการฉลากคาร์บอน (Carbon footprint) มาตรฐาน ISO14001 และมาตรการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Global Reporting Initiative)

“ทั้งมาตรการภาคบังคับและมาตรการภาคสมัครใจถูกกำหนดเป็นประเด็นในการหารือการค้าระหว่างประเทศและจะมีผล ต่อการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศทางการค้าแบบพหุภาคี ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และพิธีสารโตเกียว อนุสัญญาว่าด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยไม้เมืองร้อน (ITTA) อนุสัญญาบาเซล อนุสัญญาไซเตส พิธีสารมอนมรีออล และพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นกติกาที่จะถูกหยิบยกมาเป็นข้อจำกัดในการค้าและการส่งออกมากขึ้น” ดร.กรรณิการ์กล่าว

สำหรับไทยมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศคู่ค้า โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ถูกกีดกันทางการค้า โดยมี  4 กลยุทธ์ สำคัญ

กลยุทธ์ที่ 1 การปรับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption) โดยเน้นการให้ความรู้เชิงลึกกับผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สีเขียว และการกระตุ้น ให้เกิดความต้องการสินค้าสีเขียว เพิ่มเครื่องมือในการส่งเสริมการบริโภคสินค้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว ฉลากประหยัด ไฟฟ้าเบอร์ 5 ฉลากคาร์บอน

กลยุทธ์ที่ 2  การใช้มาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนสินค้าและผู้ประกอบการสีเขียว โดยการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากสินค้าที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้กลไกการเงิน โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นเงินทุนในการปรับปรุงเทคโนโลยีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยลดหย่อนการยกเว้นภาษีผู้ที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลยุทธ์ที่ 3  การปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสะอาด ลดการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตต่างๆ มีกระบวนการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)และ

กลยุทธ์ที่ 4  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยภาครัฐจะต้องให้ความจริงจังกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่างๆทั้งการทำประมงและการใช้ทรัพยากรป่าไม้ โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด โดยบทบาทสำคัญของรัฐ คือทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและเป็นผู้ให้บริการเพื่อให้ธุรกิจสีเขียวดำเนินการไปได้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใหม่ขึ้นภายใต้ชื่อ “Sustainable Development Goals” หรือ “SDGs” เนื่องจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาวะของประชากรในโลก ซึ่งผู้นำของประเทศต่างๆจำนวน 189 ประเทศจึงได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) โดยมีเป้าหมาย 8 ประการที่จะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ MDGs ได้สิ้นสุดลงในปี 2558 ที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติจึงได้ริเริ่มกระบวนการหารือเพื่อกำหนดเป้าหมาย ในการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้มีการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใหม่ขึ้นภายใต้ ชื่อ SDGs ซึ่งมีเป้าหมาย 17 ด้านมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ SDGs มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจาก MDGs ดังนั้นในแต่ละประเทศที่มีการลงนามในการเป็นสมาชิกและให้สัญญาไว้กับประชาคมโลก ในเบื้องต้นประเทศไทยได้มีการผนวกเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมทั้งมีการกำหนดให้หน่วยงานต่างๆจัดทำภารกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หากประเทศไทยสามารถยึดตามการปฎิบัติตามข้อกำหนด SDGs จะช่วยให้สามารถยกระดับการดูแลสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมธุรกิจสีเขียว และการเพิ่มโอกาสการแข่งขันในเวทีโลกให้มากขึ้นด้วย


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 30 สิงหาคม 2559 ในชื่อ ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะมุ่งสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ รับเงื่อนไข’การค้าโลก’เปลี่ยน