แรงงานญี่ปุ่นในไทย

ปี2016-08-05

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

คนญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่เมืองไทยแบบชั่วคราวทั้งหมดรวมผู้ติดตามคู่สมรสและเข้ามาอยู่หลังเกษียณ มีจำนวนทั้งหมดเท่าใดไม่ทราบแน่ชัด แต่ตัวเลขของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นบอกว่าในปี 2557 มีประมาณ 64,285 คน ในขณะที่ตัวเลขจากการสำมะโนประชากรของไทยในปี 2553 พบว่ามีชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยถึง 80,957 คน โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 63,069 คน ที่เหลือกระจายอยู่ทุกภาค โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ในตัวเมือง

แรงงานญี่ปุ่นในเมืองไทยเป็นแรงงานทักษะและวิชาชีพเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับแรงงานต่างด้าวระดับล่างสามสัญชาติ ลาว เขมร พม่า โดยสิ้นเชิงโดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

นบรรดาแรงงานทักษะและวิชาชีพที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยทั้งหมด แรงงานญี่ปุ่นเป็นอันดับสูงสุดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในปี 2559 แรงงานญี่ปุ่นมีจำนวน 36,532 คน คิดเป็นร้อยละ 23 ของแรงงานทักษะจากต่างประเทศทั้งหมด (ไม่นับเจ้าหน้าที่สถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศ) ส่วนหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทและโรงงาน ญี่ปุ่นในเมืองไทยจำนวน 15,375 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 21,157 คน กว่าร้อยละ 70 ของแรงงานญี่ปุ่นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสหรือผู้จัดการ รองลงมาร้อยละ 13 เป็นนักวิชาชีพและร้อยละ 8 เป็นช่างเทคนิค

ที่จริงไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมากว่า 600 ปีแล้ว ตามพงศาวดารไทยบอกว่าเมื่อปี พ.ศ.2136 สมเด็จพระนเรศวรทรงมีนักรบญี่ปุ่นในกองทัพถึง 500 คน ประมาณปี พ.ศ.2417 สมัยโชกุนโตกุกาวะ ญี่ปุ่นส่งเรือสินค้ามาเอเชียอาคเนย์และไทยถึง 350 ลำ มีหมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยาและคนญี่ปุ่นอยู่กว่า 1,500 คน (เรียกว่าบ้านญี่ปุ่น) มีการตั้งคนญี่ปุ่นให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นที่หมู่บ้านนี้เป็นนักรบที่เก่งกาจและกษัตริย์ไทยได้ยกย่องให้เป็น “กรมอาสาญี่ปุ่น”

ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในรุ่นต่อมาเกิดขึ้นเกือบ 130 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2430) ในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม นักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในต้นราวๆ ปี 2525 เนื่องจากการที่ค่าเงินเยนขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 35 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย โดยในปี 2558 มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท จากการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท จึงเห็นได้ว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยความสำคัญของการลงทุนจากญี่ปุ่น กำลังคนระดับทักษะและวิชาชีพญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในไทยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน เพราะหากไม่มีกำลังคนระดับสูงจากญี่ปุ่น การลงทุนในไทยก็เกิดขึ้นยาก

ทั้งนี้ จากการสำรวจของธนาคารโลกปี 2550 พบว่าร้อยละ 40 ของบริษัทที่สำรวจบอกว่าการขาดแคลนแรงงานทักษะเป็นอุปสรรคสำคัญของการลงทุนในไทย นอกจากนั้นแล้ว ในความร่วมมือทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) ได้มีการหยิบยกเรื่องการเคลื่อนย้ายคนชาติมาพิจารณาโดยครอบคลุมเศรษฐกิจ 9 สาขา ซึ่งมีทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ อย่างไรก็ตาม แรงงานญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ไทยกว่าครึ่งไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขนี้ แต่มาภายใต้การส่งเสริมการลงทุน

ล่าสุดญี่ปุ่นยังมองว่าไทยขาดแคลนกำลังคนระดับสูงในภาคอุตสาหกรรม โดยเมื่อเดือนมิถุนายน บมจ.เนชั่น มัลติมิเดีย กรุ๊ป ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเวทีเสวนา “2nd Round Table Conference on Human Resources Development” เพื่อหาแนวทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้ตรงความต้องการ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ระบุถึงผลศึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ในไทยว่ายังมีจุดอ่อนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะการขาดแคลนวิศวกรออกแบบ-พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อีกทั้งบุคลากรที่ผลิตได้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นหากไทยต้องการจะยกระดับประเทศไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูง (อุตสาหกรรม 4.0) จำเป็นต้องแก้ปัญหานี้

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า อยากเห็นไทยพัฒนาบุคลากรให้ก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงมูลค่า ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าไทยชะลอการพัฒนาบุคลากร หากเทียบกับประเทศในอาเซียนที่ญี่ปุ่นเข้าไปให้ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้วยการให้เงินกู้ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรถึงปี 2563 ประกอบด้วย มาเลเซีย ใช้เงินพัฒนาบุคลากร 14,000 ล้านบาท อินโดนีเซีย 12,000 ล้านบาท เวียดนาม 4,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยใช้เงินไปเพียง 2,400 ล้านบาท จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ไทยควรเร่งลงทุนพัฒนาบุคลากรให้เทียบเท่าหลายประเทศในอาเซียน

ด้านภาคเอกชนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์ซันแนล คอนซัลแตนท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปัจจุบันไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางวิศวกรรมอยู่ค่อนข้างมากถึง 50% เมื่อเทียบกับความต้องการตลาด ทั้งนี้ถึงแม้จะนำวิศวกรจากญี่ปุ่นมาเติมระบบการทำงานในไทยก็ยังขาดแคลนอยู่ดี โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ยังขาดแคลนความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐาน เขามองว่าจุดอ่อนของเด็กที่เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ในไทยคือบางกลุ่มอาจยังไม่เก่งในเรื่องพื้นฐานความรู้ ส่วนเด็กที่เก่งและมีความสามารถก็พอมีอยู่แต่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ

สิ่งหนึ่งที่ตามแรงงานญี่ปุ่นเข้ามาและเป็นคุณานุประโยชน์แก่ประเทศไทยคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งก็คงเพื่อพัฒนาแรงงานไทยให้ตอบสนองความต้องการแรงงานระดับสูงของญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและในประเทศญี่ปุ่นเอง (ผ่านโครงการฝึกอบรมระยะเวลา 1-3 ปีในญี่ปุ่น) อีกส่วนหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขของการส่งเสริมการลงทุนที่ระบุว่าบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศไทย แต่ที่จริงแล้วโครงสร้างของโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในประเทศไทยค่อนข้างกว้างขวางและเข้มแข็งมากและทำกันอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว

ตัวอย่างที่สำคัญ คือ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Technology Promotion Association (ThailandJapan) หรือ TPA) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2516 หรือ 40 กว่าปีมาแล้ว งานส่วนใหญ่คือการจัดสัมมนา การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี การจัดการสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย คุณภาพ โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรม วารสารทางวิชาการ TPA ตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-นิชิ (Thai-Nishi Institute of Technology: TNI) ในปี 2550 นอกจากนั้น ยังมีองค์กรความร่วมมือการฝึกอบรมระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Training Cooperation Organization: JITCO) โครงการจัดส่งแรงงานไทยไปฝึกอบรมที่ญี่ปุ่น เรียกว่า IM Japan (Public Interest Foundation, International Manpower Development Organization) และสมาคมความร่วมมือมิตรภาพ (Friends Cooperative Association: F.C.A.) เป็นต้น

นอกจากแรงงานแล้วการบริโภคใช้จ่ายของคนญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมทั้งครอบครัวที่มากับเจ้าหน้าที่ และผู้เข้ามาใช้เวลาเกษียณในไทย มีผลอย่างมากต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งการกินอยู่ท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต กทม. ศรีราชาและเชียงใหม่ ครับคิดว่าคนญี่ปุ่นพึ่งได้