ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง อีกทั้งภาคการส่งออกของไทยยังติดลบต่อเนื่อง ดังนั้นหากภาคธุรกิจไทยได้รับการเสริมกำลัง ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อได้
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีจุดแข็งเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าหลากหลายชนิด อีกทั้งยังมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่ค่อนข้างครบวงจร คือ มีผู้ประกอบการอยู่ในสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ในอดีตที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทยมาจากสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นการรับจ้างผลิตเสียส่วนใหญ่ เช่น การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่บริษัทญี่ปุ่น และการรับจ้างผลิตนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากบริษัทไม่ได้สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง จึงขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ทำให้ห่วงโซ่อุปสงค์ (Demand chain) ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้บริษัทของไทยที่มีข้อจำกัดด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของตนเองทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
เนื่องจากธุรกิจส่วนมากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง และไม่มีธุรกิจใดที่สามารถทำทุกอย่างได้ทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการขาย ดังนั้น การร่วมมือกันเป็นภาคีธุรกิจที่เข้มแข็งตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) จะเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าได้
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติการค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษากรณีนี้ เพื่อจัดทำ ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ ที่จะเป็นหนทางช่วยให้ภาคธุรกิจไทยมีความเข้มแข็ง พร้อมแข่งขันกับชาติอื่นๆในตลาดโลกได้
วิสัยทัศน์ของร่างยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ คือ ภาคธุรกิจไทยมีเครือข่ายความร่วมมือใกล้ชิดตลอดห่วงโซ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (Responsive and Effective Value Chain Network) โดยแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาห่วงโซ่อุปสงค์ ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาปัจจัยร่วมสำหรับห่วงโซ่อุปสงค์และห่วงโซ่อุปทาน
ร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ เน้นให้ภาคธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการหลักเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีธุรกิจอาหารเป็นกรณีตัวอย่าง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ครอบคลุมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และมีผู้ประกอบการตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงวิสาหกิจระดับกลางและระดับย่อม (SMEs) โดยจัดทำขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับภาคีธุรกิจในต่างประเทศ การสัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) และการจัดประชุมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้เพื่อให้ร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเสนอต่อ สนค. เพื่อนำไปขับเคลื่อน ปฏิบัติจริงต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับข้อมูล ความเห็นจากประชาชน ภาคธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ ที่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ สามารถตอบสนองตรงต่อความต้องการของภาคธุรกิจไทยได้อย่างแท้จริง
ท่านก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการออกความเห็นต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ โดยสามารถอ่านร่างยุทธศาสตร์และแสดงความคิดเห็นได้ ด้านล่างนี้