ดร.ยงยุทธ แนะออกฎหมายคุมแรงงานต่างด้าว

ปี2016-09-04

สังคมไทยหลายพื้นที่ในปัจจุบัน ย่านชุมชน ย่านการค้าธุรกิจ หรือแม้กระทั่งตลาดสด มักพบชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งถือว่าเป็นคนต่างด้าวเข้ามาจับจองพื้นที่ขายสินค้าให้กับคนไทย จึงทำให้ปัจจุบันคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศกำลังอยู่ในอารมณ์ร่วมว่า คนต่างด้าวเหล่านี้จะเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยทำ ซึ่งสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพการพัฒนาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยว่ามีการต่ออายุทำงานในไทยมาตลอดตั้งแต่ปี 2539 ซึ่ง รูปแบบส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนนายจ้างบ้าง แต่ก็เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยอยู่ตลอด ฉะนั้นจึงทำให้แรงงานเหล่านี้ได้ทักษะภาษาไทยติดตัว เห็นได้จากแรงงานต่างด้าว 100 คน จะพบว่าพูดไทยได้ดีเกิน 25% ส่วนอีก 60% อยู่ในกลุ่มที่พอสื่อสารได้ และที่เหลือจะเป็นกลุ่มที่พอฟังได้ แต่อาจพูดไม่ได้ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่เข้ามาใหม่

ดังนั้น ข้อได้เปรียบของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยมานาน จึงมีวิวัฒนาการทางอาชีพสูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาไทยไม่ได้เข้มงวด เรื่องอาชีพที่อนุญาตให้ต่างด้าวทำงานตาม พ.ร.บ.ต่างด้าว ปี 2551 จึงทำให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะแอบแฝง ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ตรงกับอาชีพที่ได้รับอนุญาต อาทิ กรรมกร ผู้รับใช้ภายในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในโรงแรม ร้านค้าต่างๆ ในรูปแบบประกอบอาชีพแฝง และเมื่อมีวิวัฒนาการทางธุรกิจมากขึ้น ก็อาจซื้อหรือเช่าแผงค้าขายเอง

ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัจจุบันเมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้มีการผ่อนผันตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ต่างด้าว ที่ให้แรงงานเหล่านี้อยู่ต่อเพื่อทำงาน แต่เมื่ออยู่ไปอาจเปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนนายจ้าง และช่วงหลังทางราชการผ่อนผันให้เปลี่ยนนายจ้างได้บ้าง ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น และทำให้กลุ่มที่ผิดกฎหมายที่ไม่มีนายจ้างชัดเจน อาจมีการลักลอบแฝงเข้ามาประกอบอาชีพอื่น เช่น ขายอาหาร

สาเหตุที่ทำให้ต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย

ดร.ยงยุทธ ชี้ว่า ไทยมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน ซึ่งบางอาชีพคนไทยเปลี่ยนงานบ่อย เช่น อาชีพกุ๊ก เนื่องจากกลุ่มคนไทยในอาชีพนี้มักจะเรียกร้องค่าตอบแทนสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อกุ๊กขาด แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ที่เคยเป็นลูกมือช่วยหยิบจับของ ได้เรียนรู้งาน ประกอบกับทางโรงแรม ห้างร้าน หาคนใหม่มาทดแทนไม่ได้ จึงนำต่างด้าวที่เคยเป็นผู้ช่วยดึงขึ้นมาทำหน้าที่แทน

นอกจากนี้ อาชีพที่ต่างด้าวนิยมเลือกเปลี่ยนจะมีลักษณะงานใกล้เคียงกับงานเดิม แต่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มงานก่อสร้าง หรือในโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง เห็นได้ชัดว่า มีการนำต่างด้าวที่มีความชำนาญ ยกระดับขึ้นมาให้เป็นหัวหน้างาน ทดแทนคนไทยเดิมที่ขาดแคลน เพราะแรงงานเหล่านี้สามารถติดต่อสื่อสารได้ทั้งกับนายจ้างและลูกจ้างคนที่เป็นต่างด้าว ส่วนกลุ่มลูกจ้างเข็นของ ขายของ ก็พัฒนามาเป็นเจ้าของกิจการเอง

รูปแบบผู้ประกอบต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย

ดร.ยงยุทธ อธิบายว่า คนเหล่านี้มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยได้ และสามารถขออนุญาตนำแรงงานเข้ามาทำงานได้ตามกฎหมาย ถูกกติกา ไม่ผิด แต่ระเบียบข้อบังคับว่าจะต้องเข้ามาทำธุรกิจและนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้มีสิทธิอยู่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่ เพราะเรื่องนี้เป็นข้อตกลงในประเทศแถบอาเซียน

การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย

ดร.ยงยุทธ แนะว่า ควรมีข้อบังคับให้ชัดเจน โดยอิงจากสถานการณ์สภาพความต้องการแรงงานต่างด้าวว่าขาดแคลนหรือไม่ ซึ่งทางสมาคมวิชาชีพควรประสานกับส่วนราชการว่าต้องการแรงงานต่างด้าวในกลุ่มงานพื้นที่ใด จำนวนเท่าไหร่ เพื่อควบคุมปริมาณ เพราะถ้าปล่อยเช่นนี้จะยิ่งทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำถ้าในส่วนนี้ก็จะทำให้ควบคุมจำนวนแรงงานต่างด้าวได้ และทำให้ภาคแรงงานมีคุณภาพอีกด้วย ส่วนต่างด้าวที่เข้ามาค้าขายแย่งอาชีพคนไทย ควรใช้กฎหมายควบคุม เพราะถ้าคนต่างด้าวเห็นว่ามีการจับกุมจริงก็จะไม่กล้าทำผิดกฎหมาย

“ต่างประเทศก็ควบคุมอย่างนี้ มีแต่ประเทศไทยที่ปล่อยให้ต่างด้าวเข้ามาและเปิดให้จดทะเบียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะเป็นการแย่งงานคนไทยไปเรื่อยๆ จนไม่มีที่ยืน ฉะนั้นสมาคมวิชาชีพต้องมารับผิดชอบ ไม่ใช่เอาสะดวกสบายเหมือนอดีตที่ผ่านมา ที่โควตาการนำเข้าต่างด้าวถูกกำหนดขึ้นเองโดยนายจ้าง และเมื่อรัฐบาลเปิดให้เข้ามาแจ้ง ก็ไม่มีการพิสูจน์ ตรวจสอบ ไม่มีคณะกรรมการมาดูแล เหมือนในต่างประเทศถ้าหากต้องการนาเข้าแรงงานต่างดาว ต้องแจ้งจำนวนต่อคณะกรรมการระดับชาติที่ดูเรื่องนี้ว่าจะให้นำเข้าเท่าไหร่แต่ละปี ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้รู้จำนวนความต้องการที่แท้จริง และเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ” ดร.ยงยุทธ ระบุ

อนาคตสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทย

ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ มองว่า จำนวนจะเริ่มน้อยลง เพราะภาคอุตสาหกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่จะทำงานต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูง ส่วนระดับล่างอาจจะมีจำนวนลดลง นอกจากนี้ระยะยาวแรงงานกลุ่มนี้อาจเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพราะอาจมองว่าถ้าเดินทางมาไทย อาจไม่คุ้มค่ากับค่าการเดินทาง ค่าที่อยู่ และเมื่ออยู่นานก็มีเงินออมพอที่จะเดินทางกลับไปอยู่กับครอบครัว


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 4 กันยายน 2559 ในชื่อ ไทยเปิดช่องให้จับจองพื้นที่