เปิดผลศึกษา TDRI 4 วิธีระดมทุนผ่านทรัพย์สินทางปัญญา

ปี2016-09-07

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจาก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้มาตั้งเดือนเดือนกรกฎาคม 2559 ยังไม่มีเอกชนนำ “ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP” มาขอใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเลย ขณะที่สถาบันการเงินชี้ว่าการประเมินราคา IP ทำได้ยาก และการบังคับหลักประกันกรณีผิดนัดชำระทำได้ยากมีความเสี่ยงสูง

shutterstock_465697727

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลการศึกษา “โครงการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา” ว่า แนวทางการระดมทุนจาก IP มี 4 รูปแบบ คือ

1) การกู้ยืมเงินโดยใช้ IP เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน (IP-backed lending) นิยมใช้ในสหรัฐและญี่ปุ่น

2) การแปลงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน (IP Securitization) นิยมใช้ในสิทธิ์ในการค่าเช่า ธุรกิจที่ใช้บริการ เช่น เพลง ภาพยนตร์ เครื่องหมายการค้า ทีมฟุตบอล ส่วนการนำสิทธิบัตรยังมีการใช้น้อย เนื่องจากความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และจากการถูกฟ้องละเมิดสิทธิบัตร ส่วนไทยยังไม่มีการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน

3) การจำหน่ายและเช่าคืนทรัพย์ทางทางปัญญา (IP Sale and Lease Back) เหมาะกับสิทธิบัตรเทคโนโลยี เพราะผู้ทรงสิทธิสามารถนำไประดมทุนจากนวัตกรรมการผลิตที่คิดค้นขึ้นมาได้ และยังเปิดโอกาสให้ผู้เช่าซื้อ คืนทรัพย์สินทางปัญญาได้ ส่วนประเทศไทยเริ่มมีการจำหน่ายและเช่าคืน เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับบริษัทที่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์

4) การร่วมทุน (Venture Capital Equity Investment) ซึ่งมักจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทขนาดเล็ก หรืออาจให้เงินสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนก็ได้ ส่วนธุรกิจที่ได้เงินทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูง หรือบริษัทซอฟต์แวร์

ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า จากการศึกษาประสบการณ์หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย จีน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง มาเลเซีย และออสเตรเลียมีการนำ IP เพื่อระดมทุนในวิธีที่ต่างกัน มีทั้งการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน พัฒนาตลาดขาย/เช่า กำหนดให้มีหน่วยงานให้บริการประเมินมูลค่า ให้ความรู้บุคลากรในด้านนี้ โดยรัฐบาลแต่ละประเทศต่างให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาระดมทุนอย่างมาก เช่น ในสิงคโปร์ รัฐบาลวางมาตรฐานหลักเกณฑ์ รับรองให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ด้านรัฐฮ่องกงส่งเสริมให้เป็น IP Hub  เกาหลีใต้ รัฐทำทุกอย่างตั้งแต่ประเมินถึงการปล่อยกู้ และการค้ำประกัน และรัฐบาลมาเลเซียให้ความรู้เรื่องการประเมิน และปล่อยกู้ เป็นต้น

ในส่วนของไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการระดมทุนมาจากระบบการจดทะเบียนตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบให้เชื่อมโยงกัน มีกฎหมายรับรองวิชาชีพ มีการฝึกอบรมให้ความรู้การประเมิน สร้างแรงจูงใจให้มีการค้า การขายผ่านตลาดกลาง เพิ่มประเภทผู้รับหลักประกัน มีการค้ำประกันสินเชื่อทรัพย์สินทางปัญญา ลดโอกาสการละเมิด

“ขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญาระดมทุน เช่น การนำสูตรอาหารมายื่นใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ แต่ยังติดเรื่องการประเมินมูลค่า จึงทำให้ตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ มีผู้ประกอบการกว่า 5 หมื่นรายยื่นคำขอใช้หลักประกันทางธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นทรัพย์สินหรือคลังสินค้าและต้องการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามานำร่องค้ำประกันความเสี่ยงให้ก่อน เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงหลักทรัพย์ได้”

นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย กล่าวถึงอุปสรรคในการประเมินหลักประกันว่า จำนวนบริษัทที่รับประเมินมี 40-50 บริษัท และมีความชำนาญแตกต่างกัน ส่วนประเภท IP กลุ่มสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการประเมินราคา เนื่องจากการบอกความเป็นเจ้าของยากมาก เช่น ไข่เค็มไชยา ปลาสลิดบางบ่อ จึงยากที่จะนำเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปสายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.ได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำโครงการประเมินมูลค่า ทางธุรกิจ เพื่อช่วยเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ที่มีนวัตกรรม ให้มีเรตติ้งที่ดีในการไปยื่นขอกู้สินเชื่อ และเริ่มเห็นขณะนี้มีกองทุนลักษณะเวนเจอร์ แคปปิตอลฟันด์หลายรายการที่มุ่งจะช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ใช้ IP เป็นหลักประกัน เช่น ออมสิน กรุงไทย เอสเอ็มอีแบงก์ สวทช. เป็นต้น

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า เชื่อว่าโครงการนี้จะไม่ล้มไปเหมือนโครงการแปลงสินทรัพย์ทางปัญญาเป็นทุนแน่นอน โดยกรมร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชื่อมโยงฐานข้อมูลแล้วทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 7 กันยายน 2559 ในชื่อ: เปิดผลศึกษา TDRI 4 วิธีระดมทุนผ่านทรัพย์สินทางปัญญา