ทีดีอาร์ไอ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เฉพาะจังหวัดค่าครองชีพสูง

ปี2016-09-08

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ต้องการให้รัฐบาล โดยคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยอัตโนมัติตามสภาวะของค่าเฉลี่ยดัชนีค่าครองชีพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้แรงงานทุกจังหวัดโดยอัตโนมัติเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ของแต่ละจังหวัดในปัจจุบันมีอัตราที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับใหม่ในแต่ละจังหวัดตามข้อเสนอนั้นจะไม่เท่ากันด้วย

“ข้อเสนอดังกล่าว ไม่ใช่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ แต่เป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ขึ้นไปแล้ว เพื่อให้แรงงานมีอำนาจซื้อเท่าเดิมเท่านั้น ไม่ต้องพึ่งคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติมากนัก เพียงแต่ช่วยพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามซีพีไอก็น่าจะพอ ส่วนจะขึ้นค่าจ้างเพิ่มเติมจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับค่าครองชีพแล้ว หรือขึ้นค่าจ้างประจำปี เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ หรือนายจ้างที่จะพิจารณากันต่อไปเอง โดยคณะกรรมการค่าจ้างฯ คงไม่ต้องไปยุ่งด้วย และจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นายจ้างควรขึ้นค่าจ้างตามความสามารถ หรือสมรรถนะของแรงงาน จะทำให้ทั้งแรงงานและนายจ้างมีความพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

ทั้งนี้ตั้งแต่ไทยได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศมา 2 ปี ปรากฏว่า ภาพรวมยังมีแรงงานทั่วประเทศไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 2.11 ล้านคน หรือ 14% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ ที่มีคนทำงานไม่เกิน 50 คน แสดงให้เห็นว่าสถานประกอบการขนาดเล็ก ยังไม่สามารถปรับตัวจ่ายค่าจ้างเต็ม 300 บาท ได้เป็นจำนวนมาก และแม้ว่าจะพยายามจากตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานนอกระบบ เรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลายครั้ง แต่คณะกรรมการค่าจ้างฯ ยังขอเวลาตรวจสอบข้อมูลจากคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พบว่า จังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเห็นด้วยที่จะให้ขึ้นค่าจ้างมีมากขึ้นเป็นหลัก 10 จังหวัด

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่สมควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คงเป็นเหตุผลด้านค่าครองชีพ ถ้าพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพจะขึ้นทุกปี แต่จะขึ้นไม่เท่ากัน เช่น ทั่วประเทศมีซีพีไอเพิ่ม 6% นนทบุรีเพิ่ม 9% กระบี่ 4% ซึ่งผลก็คือ จะทำให้ค่าเงิน 300 บาท ที่เคยได้รับ เมื่อถ่วงน้ำหนักด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อของแรงงานลดลงทุกปี แต่ก็มีปัจจัยที่ไม่สนับสนุนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีหลายปัจจัย เช่น ดัชนีความสามารถในการจ่ายของนายจ้างยังไม่ดี โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกทำท่าว่าจะติดลบหรือเป็นบวกเล็กน้อยมาหลายปี เป็นต้น


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อ 8 กันยายน 2559 ในชื่อ: ‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เฉพาะจังหวัดค่าครองชีพสูง