กลุ่มประเทศในอาเซียนนับว่ามีเสน่ห์ต่อนักลงทุน ทั้งยังเป็นฐานการผลิตที่มีแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็เป็นฐานการตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้น เมื่อมาดูผลจากการศึกษาเรื่อง “การเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยกับการผลิต การตลาด และการลงทุนในอาเซียน” นำเสนอโดย “ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จึงทำให้เห็นถึงรายละเอียดและแนวทางสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใน 3 ประเทศอาเซียน ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน คือ แรงงาน ตลาดใหม่ และกำลังซื้อ
เวียดนามฐานแน่น แรงงานหนุ่ม
เวียดนามมีความน่าดึงดูดจากฐานการผลิตที่มีจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น บวกกับเวียดนามเข้าร่วม TPP โดยแต่ละภูมิภาคของประเทศมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกัน พื้นที่ในเขตเมืองของกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 3.5 ล้านด่อง หรือ 160 ดอลลาร์/เดือน
ขณะที่เขตชนบททุกแห่งของนครโฮจิมินห์ และเขตชนบทบางแห่งในฮานอย, บางเขตในจังหวัดไฮฟอง ดานัง และเกิ่นเทอ, เมือง ฮาลอง ในจังหวัด กว๋างนินห์ บางเขตในจังหวัดด่องในบิ่นห์เยือง และบาเรีย-หวุงเต่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 3.1 ล้านด่อง หรือ 140 ดอลลาร์/เดือน
ส่วนเมืองในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงเขตชนบทของกรุงฮานอย่างเขตในจังหวัด ไฮฟอง เกิ่นเทอ, บัคมิ่นห์, บัคแยง, หวินฟึ๊ก, กว๋างนินห์, กว๋างนัม, ลัมด่ง, คั้นห์ฮัว, เตนินห์, บิ่นห์ฟึ๊ก, บิ่นห์เยือง, ด่องใน, ลองอาน, บาเรีย-หวุงเต่า, ฮึงเยน และไฮเดือง มีอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ 2.7 ล้านด่อง หรือ 123 ดอลลาร์/เดือน นอกจากนั้น ส่วนเมืองที่เหลือทั้งหมดของประเทศเวียดนาม อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 2.4 ล้านด่อง หรือ 110 ดอลลาร์/เดือน
ซึ่งพื้นที่ที่นักลงทุนต่างชาตินิยมเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานคือตอนใต้ในจังหวัดด่องไน และบาเรีย-หวุงเต่า และตอนเหนือใน ไฮฟอง ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละนิคมอุตสาหกรรมแตกต่างกันไปตามที่ตั้ง และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน
“ดร.เสาวรัจ” บอกว่า นอกจากการพิจารณาอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ยังควรพิจารณาค่าสวัสดิการแรงงานที่อยู่ในระดับร้อยละ 24 และประสิทธิภาพของแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย และแรงงานจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม
นอกจากฐานแรงงานที่น่าสนใจ ฐานการตลาดของเวียดนามนับว่ามีอัตราการเติบโตที่สูง Nielsen Grocery Report เปิดเผยตัวเลขการเติบโตของชนชั้นกลางเวียดนามในปี 2012 มีจำนวน 8 ล้านคน โดยมีปริมาณการบริโภคทั้งสิ้น 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์
“คนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 44 ล้านคนในปี 2020 โดยมีปริมาณการบริโภค 3.1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 95 ล้านคนภายในปี 2030 มีปริมาณการบริโภคไปที่ 9.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ขณะที่ General Statistics Office of Vietnam ระบุว่า รายได้ต่อหัวของประชากรเวียดนามปี 2015 โดยรวมอยู่ที่ 2,375 ดอลลาร์ เมืองฮานอยอยู่ที่ 3,500 ดอลลาร์/คน และ โฮจิมินห์ 5,538 ดอลลาร์/คน”
ผลงานวิจัยครั้งนี้ยังนำเสนอช่องทางการจำหน่ายสำหรับตลาดเวียดนามไว้ว่า กฎหมายการลงทุนเวียดนามจำกัดให้นักลงทุนสามารถเปิดสาขาได้เพียงแห่งเดียว โดยหากต้องการเปิดสาขาเพิ่มมากกว่า 1 แห่ง ต้องทดสอบความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เพื่อขออนุญาตจัดตั้งจากรัฐ ดังนั้น นักลงทุนไทยควรร่วมทุนกับนักธุรกิจเวียดนาม หรือขายแฟรนไชส์ หากต้องการขยายตลาดเพิ่มสาขาอย่างรวดเร็ว
เมียนมาโอกาสทอง First Mover
“ดร.เสาวรัจ” บอกว่า โอกาสที่เห็นชัดเจนสำหรับสินค้าแฟชั่นไทยในเมียนมา คือ ภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย แต่ขณะเดียวกัน พบว่าสินค้าไทยยังไปจำหน่ายในประเทศนี้น้อย ทั้งยังถูกมองว่าราคาสูง แต่กระนั้นเราเชื่อว่าสินค้าที่เหมาะสมควรเป็นสินค้าระดับปานกลาง-สูง เพราะแม้สินค้าไทยจะมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าราคาแพง แต่กำลังซื้อของประชากรในประเทศก็สูงเช่นกัน โดยเฉพาะเขตเมืองย่างกุ้งพบว่าร้อยละ 40 ของประชากรใช้จ่ายมากกว่า 300 ดอลลาร์/เดือน
โดยสินค้าที่มีโอกาส ได้แก่ กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า และเครื่องหนัง ที่ควรรีบบุกเบิกตลาดเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเป็นแบรนด์แรก หรือ First Mover ในตลาดนี้ จะต้องเน้นดีไซน์ในราคาสมเหตุสมผล
สำหรับด้านการเป็นฐานการผลิตเหมาะที่จะเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากอัตราค่าจ้างต่ำ มีที่ตั้งติดกับไทย และได้รับสิทธิพิเศษศุลกากรจากสหภาพยุโรป แต่จะมีความท้าทายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการขาดแคลนไฟฟ้า เทคโนโลยีการสื่อสาร ระบบการขนส่ง และปัญหาอัตราการเปลี่ยนงานบ่อย รวมถึงรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนทำธุรกิจค้าปลีกจึงทำให้ต้องขายผ่านผู้กระจายสินค้าท้องถิ่น เช่น ห้างสรรพสินค้า MK Group หรือ GMP ขณะที่การนำเข้าเครื่องประดับจะต้องเสียภาษีค่อนข้างสูงประมาณ ร้อยละ 38.5
สิงคโปร์ออนไลน์โตจนต้องไป
สำหรับสิงคโปร์ “ดร.เสาวรัจ” มองว่าเป็นประเทศที่ไม่มีแรงงานและวัตถุดิบ จึงไม่ใช่ประเทศที่เป็นโอกาสสำหรับการตั้งเป็น ฐานการผลิตหรือกลุ่มรับจ้างผลิต แต่สิงคโปร์เหมาะกับกลุ่ม ODMs และ OBMs ซึ่งมีดีไซน์ มีแบรนด์ สินค้ามีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ เพราะผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูง และมีความนิยมของนักช็อปออนไลน์ สามารถขายผ่าน e-Commerce ได้อีกหนึ่งช่องทาง
ฉะนั้น จากการสำรวจประเภทสินค้าที่ นิยมช็อปผ่านออนไลน์ของชาวสิงคโปร์ พบว่า สินค้ากลุ่มแฟชั่นติดท็อป 5 การสำรวจ Nielson Global พบว่า เสื้อผ้าเป็นสินค้าที่มีการซื้อเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 52% ขณะที่ The Paypers สำรวจพบว่าเสื้อผ้า, รองเท้า และเครื่องประดับมาเห็นอันดับ 1 สูงถึง 65% ส่วน IDA สำรวจพบว่า เสื้อผ้า, รองเท้า, อุปกรณ์กีฬา และเครื่องประดับ ได้รับความนิยมจากนักช็อปในสิงคโปร์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 68%
“ดร.เสาวรัจ” จึงมองว่าก่อนจะไปบุกตลาดสิงคโปร์ ผู้ประกอบการควรจะต้องรู้ ในสิ่งเหล่านี้ คือ
หนึ่ง ผู้ประกอบการควรเริ่มสร้างแบรนด์ในไทยให้แข็งแกร่งก่อน เพราะแม้สิงคโปร์จะมีกำลังซื้อสูง แต่มีการแข่งขันสูงเช่นกัน
สอง เน้นตลาดเฉพาะ (Niche) ไม่เน้นตลาดทั่วไป (Mass)
สาม หาห้างสรรพสินค้าตามเป้าหมายผู้บริโภค เช่น Takashimaya สำหรับ ผู้บริโภคระดับกลาง-บน
สี่ ขยายช่องทางจำหน่ายผ่าน eCommerce
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการมีความพร้อมที่จะเข้าไปบุกเบิกตลาดใน 3 ประเทศเหล่านี้ มีสินค้าโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และราคาสมเหตุสมผล ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในอนาคต
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 17 กันยายน 2559 ในชื่อ: บุกตลาด 3 ประเทศอาเซียนข้อมูลรอบด้าน-สินค้ามีเอกลักษณ์