คาดหลังเลือกตั้งสหรัฐ รื้อ ‘ทีพีพี’ ไทยได้ประโยชน์

ปี2016-09-23

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.2559 ซึ่งอาจเป็นครั้งแรกๆที่ผู้นำหลายประเทศ รวมทั้งสาธารณชนที่สนใจการเมืองโลก วิพากษ์วิจารณ์นโยบายหาเสียงของผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดทำโครงการติดตามนโยบายของผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐทั้งของนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตและนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดยประเมินว่านโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนว่ามีทิศทางนโยบายและผลกระทบอย่างไรกับไทย

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอ มองว่าผลกระทบของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในหลายมิติ โดยในระยะสั้นผลการเลือกตั้งสหรัฐจะมีผลต่อตลาดโดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราแลกเปลี่ยนจะตอบสนองรวดเร็วต่อผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากมีการเกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันหรือที่เรียกว่า “ช็อกตลาด” เกิดขึ้น ปัจจุบันส่วนใหญ่ตลาดยังให้น้ำหนักว่านางฮิลารีจะได้รับชัยชนะ ซึ่งหากผลการเลือกตั้งออกมากลายเป็นนายทรัมป์ได้รับชัยชนะ ก็จะเกิดเหตุการณ์ “ช็อกตลาด” เกิดขึ้น เนื่องจากจะเกิดความกังวลว่า นโยบายหลายๆอย่างที่เขาได้หาเสียงไว้อาจเกิดขึ้นจริง และเกิดความไม่แน่นอนในนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะส่งผลต่อประเทศต่างๆ เช่น นโยบายกีดกันการค้าและสินค้าจากประเทศจีน หรือแม้แต่การสร้างกำแพงทางชายแดนด้านใต้ของสหรัฐเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองของผู้อพยพ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทีดีอาร์ไอมองว่าในขณะนี้ก็คือหากหลังเลือกตั้งทรัมป์ได้รับชัยชนะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของสหรัฐจะลดลง การว่างงานในสหรัฐจะมากขึ้น หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัวจะเริ่มถดถอยอีกครั้ง ซึ่งโมเดลนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐ (CBO)

สำหรับผลกระทบที่มีโดยตรงจากการเลือกตั้งสหรัฐที่จะกระทบต่อไทยโดยตรงยังมองไม่เห็นมากนัก ที่ต้องจับตาก็คือ นายทรัมป์มีการหาเสียงว่าจะดึงเม็ดเงินการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มี สัญชาติอเมริกันที่ไปลงทุนในที่ต่างๆ กลับไปลงทุนในสหรัฐเพื่อเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในประเทศ

ทีดีอาร์ไอได้สอบถามไปยังผู้บริหารของธุรกิจสหรัฐในไทยแล้วพบว่าน้ำหนักความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะทำอย่างนั้นได้ยังมีน้อย เนื่องจากบริษัทสหรัฐ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมีการทำแผนล่วงหน้าระยะยาวและมีการลงทุนไปแล้ว การย้ายกลับไปที่ประเทศตัวเองไม่ง่าย แม้จะมีสิทธิประโยชน์จูงใจก็ตาม ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐ ทรัมป์ประกาศว่าจะมีการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะใช้เม็ดเงินประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน มีการประกาศว่าจะมีการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax) ควบคู่ด้วย ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าจะทำควบคู่กันไปได้หรือไม่ ด้าน ฮิลลารี เสนอว่าจะมีการใช้จ่ายภาครัฐเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 275 ล้านดอลลาร์และจะมีการเก็บรายได้จากผู้ที่มีรายได้สูงมากขึ้น ดังนั้น นโยบายด้านการใช้จ่ายของนายทรัมป์ทำให้เกิดความกังวลเรื่องของความยั่งยืนทางการคลังตามมา

สำหรับกรณีของข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่สหรัฐมีการผลักดันและได้มีการประกาศร่วมกับ 12 ประเทศสมาชิกไปก่อนหน้านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรหลังการเลือกตั้งสหรัฐ โดยฝั่งนายทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าไม่เอากรอบข้อตกลงนี้ ขณะที่ นางฮิลลารี ในช่วงหลังบอกชัดเจนว่าอาจจะไม่เดินหน้าต่อหรืออาจต้องมีการทบทวนเงื่อนไขกับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐเจรจามาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ การประกาศทบทวนทีพีพีหรือการไม่เดินหน้าต่อนโยบายนี้ของสหรัฐถือว่าเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากต้องเข้าใจว่าทีพีพีเป็นกรอบความร่วมมือที่สหรัฐพยายามเข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในเอเชียและอาเซียนแข่งกับจีนที่มีการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสหรัฐรู้ดีว่าในภูมิภาคนี้จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงมากในอนาคต เพราะมีหลายประเทศที่มีความพร้อมเรื่องเศรษฐกิจ และประชากรวัยแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย

“เข้าใจว่าเมื่อทีพีพีล่มไปฮิลลารีจะต้องหาแพลตฟอร์มใหม่ในการเจรจากับทั้ง 12 ประเทศสมาชิกเดิมรวมทั้งประเทศใหม่ๆโดยมีเงื่อนไขที่สหรัฐเองก็ต้องได้ประโยชน์มากขึ้น เช่น เรื่องของแรงงาน เรื่องของสิทธิบัตร”

“ทีพีพีมีความแตกต่างจากข้อตกลงทางการค้าทั่วไป คือจะไม่เน้นการเปิดเสรีทั้งหมด แต่จะเลือกให้ประโยชน์กับประเทศที่เป็นสมาชิก และเป็นการดึงประโยชน์ในลักษณะให้มากกว่ากับประเทศสมาชิกเท่านั้น ซึ่งเห็นได้จากกรณีที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกทีพีพีทำให้เกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจตัดสินใจบนเงื่อนไขผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่า เท่ากับว่าประเทศไทยตกขบวนแต่ตอนนี้ทีพีพีจะชะลอออกไปก่อนซึ่งถือว่าเป็นผลดีกับไทย”

สำหรับผลกระทบกับประเทศไทยมากที่สุด ดร.นณริฏ มองว่าเป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งได้มีการประกาศนโยบายว่าจะกีดกันการค้าจากประเทศจีน เช่น การขึ้นภาษีสินค้าจากจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆที่สหรัฐมองว่ามีนโยบายการค้าที่มีผลกระทบต่อการค้าสหรัฐเช่น ญี่ปุ่น และเยอรมัน “ตรงนี้ต้องดูว่านโยบายจะมีผลในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ซึ่งทรัมป์มีจุดยืน ที่จะทำในเรื่องนี้ คือพยายามที่จะขึ้น ภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจีนก็จะไปฟ้ององค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกจะยิ่งหดตัว และส่งผลต่อการส่งออกและการค้าโลกรวมทั้งการค้าไทยที่มีการส่งสินค้าไปยังจีน หรือกระทบกับประเทศอื่นๆที่ไทยส่งสินค้าไปและมีการส่งสินค้าส่งต่อไปยังจีนในลักษณะห่วงโซ่การผลิตอาจเกิดผลกระทบต่อเนื่อง”

กรณีที่ ฮิลลารี ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำก็คือ การเข้มงวดเรื่องของการปราบปรามการค้ามนุษย์ การรักษาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ฮิลาลารีและพรรคเดโมแครตให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และอาจนำมากำหนดมาตรฐานและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองของสหรัฐไม่ใช่ระบบที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาด แต่มีระบบถ่วงดุล (Check & Balance) นอกจากมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้วยังมีการเลือกตั้งสภา ผู้แทนราษฎร (House of Representatives) หรือสภาล่างและวุฒิสภา (Senate) หรือสภาสูงมาช่วยกลั่นกรองนโยบายหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากทั้ง สองสภาฯ นโยบายก็จะไม่ผ่านไปสู่การบังคับใช้ ซึ่งระบบการเมืองของสหรัฐพรรคใหญ่สองพรรคจะครองเสียงของผู้แทนคนละสภากันระบบการเมืองจึงเป็นไปแบบพวกมากลากไปได้ยาก ดังนั้นนโยบายเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบที่ชัดเจนต้องดูหลังการเลือกตั้งว่าสภาครองเกรสมีการผ่านนโยบายใหม่ๆอะไรออกมาหรือไม่


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 23 กันยายน 2559 ในชื่อ: ‘ทีดีอาร์ไอ’ ฟ่นธงหลังเลือกตั้งสหรัฐ รื้อ’ทีพีพี’ไทยได้ประโยชน์