ความเห็นต่อกรณี UBER

ปี2014-12-11
ผู้เขียนสุเมธ องกิตติกุล

สุเมธ องกิตติกุล

จากกรณีที่กรมการขนส่งทางบกได้ระบุว่าการให้บริการ Uber Taxi เป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย และเริ่มออกตรวจเพื่อเปรียบเทียบปรับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. คำสั่งของกรมการขนส่งทางบก ต่อกรณี บริการ UBER ทั้งในกรณี UBER Black และ UBER X ในเรื่องของการให้บริการที่ผิดกฎหมาย นั่นคือ รถไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ (กรณี UBER X) และพนักงานขับรถไม่ได้รับใบอนุญาตรถยนต์สาธารณะ (ทั้ง UBER Black และ UBER X) นั้น ถูกต้องตามกรอบกฎหมายในปัจจุบัน (พรบ. รถยนต์)

2. การกำกับดูแลระบบแท็กซี่ในปัจจุบัน เป็นการกำกับดูแลเพียง ตัวรถ กล่าวคือ รถยนต์ ต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) และผู้ขับขี่ ต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และมีการกำกับดูแลการให้บริการ คือ ให้บริการในพื้นที่ ที่กำหนด (เช่น ภายในเขตจังหวัด หรือระหว่างจังหวัด) การห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร และการกำหนดราคาค่าบริการโดยระบบมิเตอร์ ซึ่งเราเรียกว่าแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบัน (ข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่))

3. รูปแบบที่ UBER Black เป็นการจดทะเบียนรถยนต์บริการ (ป้ายเขียว) ในรูปแบบ รถยนต์บริการธุรกิจ ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ใช้บรรทุกคนโดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย ที่ทำการของผู้โดยสาร หรือที่ทำการของผู้บริการธุรกิจนั้น ซึ่งในปัจจุบัน ค่าโดยสารของรถยนต์บริการ ผู้ประกอบการสามารถกำหนดค่าโดยสารได้ตามความเหมาะสม ดังเช่นรถลีมูซีนของสนามบิน หรือรถบริการของโรงแรมต่างๆ ซึ่งถ้าจะพิจารณารถยนต์ของ UBER Black ที่ให้บริการในรูปแบบของรถยนต์บริการธุรกิจนั้น ก็ถือว่า ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่มีการให้บริการในรูปแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด

4. ถึงแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามกฎหมายกับ UBER แต่กรมการขนส่งทางบกมีปัญหาในการกำกับดูแลตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่หลายกรณี เช่น กรณีของใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ เมื่อปี 2554 การบังคับใช้กฎหมายกรณีรถตู้ป้ายดำ

5. คำถามที่น่าสนใจ คือ บริการของ UBER ผิดกฎหมาย แต่เป็นบริการที่สร้างทางเลือกที่ดีให้ ควรทำให้ถูกกฎหมาย หรือควรมีการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะ มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และมีคุณภาพการให้บริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

6. เปรียบเทียบกับการให้บริการ Application อื่นๆ เช่น GrabTaxi หรือ Easy Taxi ซึ่งเป็นบริการที่เป็นเพียงการบริการเรียกรถแท็กซี่ที่เก็บค่าบริการในการเรียกแท็กซี่ ซึ่งก็มีกำหนดไว้ในข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก ที่อนุญาตให้มีการเก็บค่าบริการผ่านศูนย์วิทยุสื่อสาร ครั้งละ 20 บาท

7. กรมการขนส่งทางบก เลือกที่จะกำกับดูแลที่เน้นเรื่องการกำหนดราคาเป็นหลัก (การใช้มิเตอร์) และขาดการพิจารณาถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการที่แตกต่าง โดยที่การให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบัน ประสบปัญหามาก ในเรื่องของการให้บริการ จากสถิติร้องเรียน จากข้อมูลการร้องเรียนผ่านทาง สายด่วน 1584 ของ กรมการขนส่งทางบก ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือน พฤษภาคม 2557 (ระยะเวลา 8 เดือน) เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับแท็กซี่ 18,465 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 77 ครั้ง (ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์)

8. ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ถ้า UBER นำรถที่วิ่งอยู่ในระบบ UBER X ไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ และให้คนขับรถมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ภายใต้เงื่อนไขค่าโดยสารที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ก็คงจะไม่มีปัญหาอย่างไร แต่ประเด็นหลักคือ ภายใต้เงื่อนไขค่าโดยสารที่มีอยู่ ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถพัฒนาบริการที่หลากหลายได้ รวมถึงการทำ Promotion ต่างๆ ที่ลดราคาเพื่อกระตุ้นการใช้งาน และสร้าง Customer Royalty ได้

9. การกำกับดูแลรถแท็กซี่เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพื่อรับประกันความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการ รวมถึงประสิทธิภาพของระบบด้วย ซึ่งในต่างประเทศ มีรูปแบบการกำกับดูแลหลายรูปแบบ เช่น การจำกัดจำนวนรถแท็กซี่ (ซึ่งเป็นมาตรการที่ประเทศไทยใช้ในอดีต ก่อนที่จะมีแท็กซี่มิเตอร์ในปี 2535) การกำกับดูแลราคา หรือการกำกับดูแลรูปแบบการให้บริการ

10. ในต่างประเทศ มักใช้การกำกับในส่วนของการกำหนดจำนวนแท็กซี่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีจำนวนแท็กซี่ที่มากเกินไปในเมือง โดยเมืองส่วนใหญ่ในยุโรป จะแบ่งแท็กซี่ออกเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นแท็กซี่แบบจอดรอ อาจจะจอดรอตามถนนหรือจอดตามจุดจอดที่กำหนดไว้ และแท็กซี่แบบต้องมีการสั่งจองให้รับผู้โดยสาร (Telephone-booking หรือ Dispatch taxi หรือ Private Hire Vehicles ในประเทศอังกฤษ) ซึ่งความแตกต่างของแท็กซี่ทั้งสองประเภท คือกลุ่มแรกจะใช้พื้นที่สาธารณะในการจอดรอ และมีโอกาสที่จะวิ่งเที่ยวเปล่าสูง ในขณะที่กลุ่มหลัง จะวิ่งเฉพาะในกรณีที่มีผู้โดยสารเท่านั้น ซึ่งการกำกับดูแลในต่างประเทศ ล้วนมีข้อดีและข้อเสีย แตกต่างกันไป และส่วนใหญ่ต้องมีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแล ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง และระบบขนส่งสาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้องดัวย

11. ปัญหาของการกำกับดูแลแท็กซี่ในประเทศไทย มีหลายประเด็น ทั้งเรื่องราคา ที่กำลังจะมีการอนุมัติปรับขึ้น และคุณภาพการให้บริการที่มีข้อร้องเรียนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายการกำกับดูแลจำนวนแท็กซี่เป็นอย่างมาก เพราะถ้าจำนวนแท็กซี่เพิ่มมากขึ้น จำนวนความต้องการในการเดินทางเท่าเดิม หมายถึงแท็กซี่แต่ละคันจะมีรายได้น้อยลง ทำให้มีการลดคุณภาพการให้บริการ หรือมีการเลือกผู้โดยสารมากขึ้น ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

12. แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า จำนวนแท็กซี่ปัจจุบันของกรุงเทพฯ มีจำนวนมากหรือน้อยเกินไป เพราะสภาพเมืองที่มีการขยายตัวไปในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนแท็กซี่อาจจะมีไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่มีการกระจุกตัวของแท็กซี่ในบางพื้นที่มากเกินไป และไม่มีแท็กซี่ให้บริการในบางพื้นที่เลย ซึ่งส่วนนี้เอง ภาครัฐปล่อยภาระให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด รวมถึงให้คนขับแท็กซี่แต่ละคนหาทางออกด้วยตัวเอง

13. สิ่งที่ระบบประเทศไทยยังไม่มี คือการบริหารจัดการแท็กซี่อย่างเป็นระบบ ในรูปแบบของบริษัท ที่มีการจ้างพนักงานขับรถ รวมถึงมีการใช้ระบบการจอง (Booking) ทางโทรศัพท์เพื่อให้การเดินรถของแท็กซี่ ไม่ต้องจอดรอในที่ใดที่หนึ่งนานโดยไม่เกิดรายได้ และใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้บริการระบบแท็กซี่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการให้บริการลักษณะนี้ จำเป็นต้องความยืดหยุ่นด้านราคา เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนต่างๆ เช่น ราคาสูงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน หรือช่วงที่มีความต้องการเดินทางด้วยแท็กซี่สูง และมีราคาต่ำลง ในกรณีในชั่วโมงไม่เร่งด่วน เป็นต้น

14. ย้อนกลับมากับกรณี UBER ซึ่งถ้าจะทำให้ถูกกฎหมาย คงไม่ได้หมายถึงการให้สิทธิพิเศษกับ UBER ในการประกอบการ ในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการแท็กซี่ที่เป็นบริษัท (Company License) อย่างเป็นระบบ ซึ่งคงถึงเวลาที่ภาครัฐต้องทบทวนถึงรูปแบบการกำกับดูแลที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ระบบแท็กซี่มีการพัฒนามากขึ้น และประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบแท็กซี่ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นด้วย

15. ตราบใดที่กรมการขนส่งทางบก ไม่สามารถบอกได้ว่า ระบบการให้บริการรถแท็กซี่ในปัจจุบัน มีคุณภาพดีและตอบสนองความต้องการของการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯได้ การห้ามไม่ให้ UBER ให้บริการ ก็เป็นเพียงยกข้อกฎหมายมาบังคับใช้ แต่ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการดำเนินการของกรมการขนส่งทางบกนี้ แต่ทำให้ประชาชนขาดทางเลือกที่น่าจะสร้างระบบที่ผู้ประกอบการจะมีการแข่งขันกันทั้งราคาและคุณภาพ และประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้บริการรถแท็กซี่มากขึ้นอีกด้วย
16. ข่าว UBER ที่น่าสนใจ –ประเทศเนเธอร์แลนด์