เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก เติมเต็มช่องว่างสวัสดิการครบทุกช่วงวัย

ปี2016-09-08

จิราภรณ์ แผลงประพันธ์

พราวฟอง จามรจันทร์

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้า คือ โครงการสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่หวังให้เด็กแรกเกิดได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย อีกทั้งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ และช่วยเพิ่มช่องทางให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการของรัฐ

ที่ผ่านมา ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำระบบสวัสดิการของประเทศกำลังพัฒนา แต่ ‘เด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก’ กลับเป็นช่องว่างระบบสวัสดิการที่ยังขาดหายไป ทั้งที่เด็กแรกเกิดเป็นกลุ่มที่ต้องการพึ่งพิง ที่หากถูกปล่อยปะละเลย และไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เด็กที่เติบโตมาก็สูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ลดโอกาสที่จะเติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพ

ดังที่ ศ.ดร.เจมส์ เจ เอคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโบเบล 2542 ระบุข้อดีไว้ว่า “การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับมาในอนาคต 7-10 เท่า” เราจึงเห็นว่าในหลายประเทศได้จัดให้มีระบบสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาเด็กเล็ก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน มองโกเลีย และศรีลังกา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้เดินหน้าในเรื่องนี้ โดยอนุมัติโครงการนำร่องให้เงินอุดหนุนแก่เด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2558 ถึง 30 ก.ย.2559 และอยู่ในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนรายละ 400 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 12 เดือน และต่อมาได้ปรับให้เป็นโครงการถาวร ขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี (36 เดือน) และเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นรายละ 600 บาทต่อเดือน ภายใต้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข โดยใช้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ เป็นด่านแรกในการช่วยค้นหากลุ่มเป้าหมายหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในครัวเรือนยากจน โดยมีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับลงทะเบียน และมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นผู้นำเข้าข้อมูลและจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิ์

นอกจากนี้ ข้อมูลของผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะถูกส่งต่อไปยังสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้ทีมหมอครอบครัว และ อสม. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยดีแทคได้ร่วมให้บริการส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเลี้ยงลูก ผ่าน SMS ฟรี ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นให้ความรู้เรื่องโภชนาการ สุขภาพ และการเสริมสร้างพัฒนาการสติปัญญา นอกจากนี้รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลางได้ใช้โครงการนี้ในการทดสอบการใช้ระบบ e-payment สำหรับการโอนเงินสวัสดิการ

หากดูความคืบหน้าในด้านการตอบรับจากยอดการลงทะเบียนรวม จะพบว่าใกล้เคียงกับประมาณการยอดผู้มีสิทธิ์ คือประมาณ 1.3 แสนคน แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือเงินอุดหนุนผ่านโครงการนี้จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ดังที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้หรือไม่

ในทางทฤษฎี เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระครอบครัวแม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่สำหรับครอบครัวที่ยากจนมาก โดยเฉพาะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีรายได้ไม่แน่นอน เงินจำนวนนี้ก็ช่วยบรรเทาภาระได้พอสมควร

สำหรับกลไกส่งผ่านสามารถมีได้หลายช่องทาง เช่น เงินอุดหนุนจะไปถึงตัวเด็กผ่านแม่หรือผู้ดูแล ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มสถานะทางเศรษฐกิจและอำนาจตัดสินใจของแม่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือประโยชน์ที่จะตกอยู่กับตัวเด็กเอง เพราะเงินนี้จะให้ไปที่แม่ของเด็กเป็นหลัก ซึ่งแม่ส่วนใหญ่จะใช้เงินนี้เพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโภชนาการ ของเล่นของใช้ การดูแลสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการให้เวลากับเด็กมากขึ้น ประโยชน์ที่เกิดแก่เด็กเหล่านี้จะนำไปสู่พัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาวะ สติปัญญาหรือโภชนาการ นอกจากนี้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว เช่น เด็กคนอื่นในครอบครัวที่โตกว่า ก็อาจจะได้รับผลดีจากเงินอุดหนุนนี้ด้วยเช่นกัน การพัฒนาทั้งหมดดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความเป็นกินดีอยู่ดีของทั้งเด็กและครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุน

อย่างไรก็ดี สังคมยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เงินอุดหนุนผิดวัตถุประสงค์ เช่น ผู้ปกครองอาจนำเงินไปเล่นการพนัน ซื้อเหล้าหรือบุหรี่ งานวิจัยจากทั่วโลกให้ข้อสรุปตรงกันว่าเงินอุดหนุนโดยส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อตัวเด็ก ผลการศึกษาดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลที่ได้จากการประชุมระดมความคิดเห็นจากหญิงตั้งครรภ์และแม่หรือผู้ดูแลในหลายจังหวัดที่ยืนยันว่าจะใช้เงินอุดหนุนเพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก

สิ้นเดือนกันยายนนี้ โครงการจะดำเนินการครบ 1 ปี การดำเนินงานที่ผ่านมาแม้จะมีปัญหาพอสมควรเพราะเป็นโครงการใหม่และมีความเร่งด่วนในการดำเนินงาน มีความยากลำบากในกระบวนการคัดกรองผู้มีสิทธิ์ อย่างกรณีแม่ที่ยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนจริงๆ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น การหาผู้รับรองสถานะครัวเรือน การเบิกจ่ายเงินล่าช้าในบางกรณี เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่อยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อ แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่ดีที่สุดให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุด บรรลุเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมที่มีคุณภาพ


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 กันยายน 2559 ในคอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็ก เติมเต็มช่องว่างสวัสดิการครบทุกช่วงวัย