ทีดีอาร์ไอ ตั้งโจทย์ “มองเทศ : เปลี่ยนไทย” ท้าทาย Redesigning Thailand รุ่น 3

ปี2016-06-09

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ปัญหาสาธารณะของประเทศไทย  โจทย์ท้าทายคนรุ่นใหม่  ทีดีอาร์ไอเดินหน้าต่อเป็นปีที่ 3 สำหรับโครงการ Redesigning Thailand #3 “มองเทศ : เปลี่ยนไทย” เวทีเรียนรู้ทักษะขั้นต้นการก้าวสู่นักวิจัยเชิงนโยบายมืออาชีพในอนาคต  กิจกรรมลับสมองประลองไอเดียของเหล่านิสิต นักศึกษาที่สนใจอยากแชร์ไอเดียการแก้ไขเชิงนโยบาย  ผ่านบทบาทสมมติการเป็นนักท่องเที่ยวเชิงนโยบายไปในประเทศต่าง ๆ เรียนรู้และนำเสนอไอเดียภายใต้มุมมอง “มองเทศ : เปลี่ยนไทย”อย่างไรดี โดยมีบุคลากรนักวิจัยมืออาชีพของทีดีอาร์ไอเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ซึ่งการตัดสินและมอบรางวัลเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

DSC03533

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรี (ปี 1-ปี4) ทุกสาขา ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  ได้แสดงความคิดเห็นและแนวทางผ่านการนำเสนอบทความ ภายใต้โจทย์ “ถ้าคุณคือนักท่องเที่ยวเชิงนโยบายไปในประเทศต่าง ๆ แล้วจะมีมุมมอง “มองเทศ เปลี่ยนไทย” อย่างไร ” ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาหลากหลายคณะจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อาทิ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะจิตวิทยา เข้าร่วมโครงการ ฯลฯ

ในปีนี้มีนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 37 ทีม โดยคณะกรรมการคัดเลือกเหลือ 7 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมที่ผ่านเข้ารอบตัดสิน ร่วมประลองโจทย์ด้านนโยบายสาธารณะกับผู้บริหารและนักวิจัยของทีดีอาร์ไอ ได้แก่  1. โครงการ “FDI100% กับ รถไฟความเร็วสูง”  2.โครงการ Capturing the Flavor 3. โครงการ “จากละตินอเมริกาสู่ทั่วโลก: กลยุทธ์แก้ปัญหาความยากจนจากนโยบายการจ่ายเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข”   4. โครงการ “บทเรียนการกระจายอานาจในญี่ปุ่น สู่การออกแบบใหม่ระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทย”     5. โครงการ “E-WASTE ปัญหาที่ถูกกระแสสังคมบดบัง”    6. โครงการ “The Swedish Model: Family การดูแลครอบครัวโดยรัฐสวัสดิการในสวีเดน”      7. โครงการ “อนาคตของสังคมผู้สูงอายุจากสวีเดนถึงไทย : กรณีศึกษานโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ”

DSC03472

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ครั้งนี้ นักศึกษามีความกระตือรือร้นกันมาก และได้นำเสนอแนวคิดอย่างค่อนข้างน่าสนใจ แต่ละคนมีมุมมองซึ่งเรียกได้ว่า มีการศึกษาค้นคว้าเตรียมตัวมาดีพอสมควร  และนำเสนอได้กระชับภายในเวลาที่กำหนด ด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย  ซึ่งเป็นความหลากหลายในการสะท้อนแนวคิดของการจัดการนโยบายสาธารณะที่ยาก ๆ ในแบบฉบับพลังของคนรุ่นใหม่    กิจกรรมนั้นนอกจากจะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีคิดและหลักการบนพื้นฐานความจริงแล้ว ยังมีการถ่ายทอดข้อมูลและวิธีการที่ถูกต้องของการทำวิจัยเชิงนโยบายจากนักวิจัยมืออาชีพของทีดีอาร์ไอด้วย

สำหรับผลการตัดสิน โครงการที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองในปีนี้ ได้แก่   โครงการบทเรียนการกระจายอำนาจในญี่ปุ่น สู่การออกแบบใหม่ระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทย   ของทีมนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์(การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ  นายนพณัฐ แก้วเกตุ  นายธนพร อันโนนจาน และนายจตุรพร ผานาค คณะรัฐศาสตร์  ซึ่งได้นำเสนออย่างน่าประทับใจ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  โครงการ จากละตินอเมริกาสู่ทั่วโลก: กลยุทธ์แก้ปัญหาความยากจนจากนโยบายการจ่ายเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข ของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ นายณาคิน เหลืองนวล นายภัทร อภิวัฒนกุล  และนายศาศตริน วงศ์จีระศักดิ์  และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  โครงการ The Swedish Model: Family การดูแลครอบครัวโดยรัฐสวัสดิการในสวีเดน จากทีมนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นกัน คือ นางสาววิชญา พีชะพัฒน์  นางสาวพิมลพรรณ์ โสรีกุล และ นางสาวนภาภรณ์ เอลเลอร์มันน์

โดยทีมที่ชนะเลิศได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เงินรางวัล 20,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง เงินรางวัล 12,000 บาท  รวมทั้งประกาศนียบัตรแต่งตั้งให้เป็น TDRI Junior Policy Researcher  สิทธิฝึกงานกับทีดีอาร์ไอ และได้รับพิจารณาเข้าทำงานระบบ Fast Track ที่ทีดีอาร์ไอหลังสำเร็จการศึกษา

DSC03666

นายนพณัฐ แก้วเกตุ ตัวแทนทีมชนะเลิศ แสดงความเห็นหลังได้นำเสนอผลงานว่า “กิจกรรมนี้ นอกจากได้นำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดแล้ว ยังได้รับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากนักวิจัย ทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ซึ่งได้จากประสบการณ์ที่นักวิจัยได้เคยปฏิบัติจริง ผลงานที่เตรียมมาจึงได้ปรับปรุงให้เข้าถึงเข้าใกล้คนมากขึ้น จากที่เป็นเพียงหลักการลอยๆ ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรู้นอกเหนือตำรา ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้”

ทั้งนี้ Redesigning Thailand เป็นกิจกรรมเพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจนโยบายสาธารณะได้ลองคิดจากปัญหาจริง ตามโจทย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ทำให้ได้แชร์ประสบการณ์แนวคิดและวิธีการมองโลกมองปัญหาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะการทำงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ นักศึกษาทุกทีมจึงต้องมีการเตรียมตัวและตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนออย่างรอบด้าน จึงช่วยเสริมสร้างประสบการณ์แก่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการพัฒนาอย่างมีทิศทางด้วยงานวิจัย พร้อมก้าวสู่การเป็นนักวิจัยด้านนโยบายสาธารณะต่อไปในอนาคต