มองลึกคุณภาพอาชีวะฯ ไทยสู่ทางแก้ไขตรงจุด (จบ)

ปี2016-08-25
ผู้เขียนณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์

ณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์

จากปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และมีความเข้าใจไปว่าอาชีวศึกษาไทยยังผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดไม่เพียงพอ แต่งานศึกษา “การปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทย” ได้พบว่า การขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดจากการผลิตแรงงานได้ไม่เพียงพอ แต่เกิดจากปัญหาคุณภาพของระบบอาชีวศึกษา ซึ่งได้วิเคราะห์เหตุปัญหาของอาชีวะภาคปรกติ ในบทความที่ผ่านมาแล้วนั้น

ในบทความนี้ ขอชวนมองลึกอาชีวศึกษาอีกหลักสูตร คือ อาชีวศึกษาทวิภาคี ที่มีระบบการเรียนการสอนแบบ “โรงเรียนโรงงาน” เป็นการยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาให้สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะตรง กับความต้องของการนายจ้าง โดยนักเรียนหลักสูตรนี้จะได้ฝึกงานกับสถานประกอบการอย่างน้อย 50% ของเวลาเรียนเด็กจบมาจึงหางานทำได้ เพราะมีคุณภาพตรงความต้องการในประเทศแถบยุโรปที่ภาคอาชีวศึกษาแข็งแรงการเรียนการสอนอาชีวศึกษาลักษณะนี้ จึงแพร่หลายมากถึง 70-80%

สำหรับในประเทศไทย แม้หลักสูตรนี้จะมีขึ้นอย่างเต็มรูปแบบมากว่า 20 ปี แต่ในภาพรวมถือว่ายังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก ปัจจุบันมีนักเรียนในระบบนี้ประมาณ 90,000 คน จากทั้งหมดประมาณ 650,000 คน หรือเพียงร้อยละ 14 ของนักเรียนอาชีวศึกษา

สาเหตุสำคัญที่อาชีวศึกษาทวิภาคี ของไทยยังไม่แพร่หลายเพราะ

1. มาตรการที่ส่งเสริมจากภาครัฐยังไม่สามารถรักษาผลตอบแทนแก่นายจ้างที่ลงทุนร่วม ฝึกสอนกับสถานศึกษาเนื่องจากไม่สามารถป้องกันการแย่งตัวผู้เรียนที่ผ่านการฝึกอบรมได้ ทำให้เกิดปัญหาสถานประกอบการอื่น ดึงตัวผู้ผ่านการฝึกอบรมไปร่วมงานแทน เท่ากับถูกโดยสารฟรี หรือเรียกว่า “freeriding” ที่ผ่านมาภาครัฐใช้วิธีการจูงใจนายจ้างให้ร่วมลงทุนจัดฝึกอบรมด้วยการอนุญาต ให้นายจ้างนำรายจ่ายที่เกิดจากการฝึกอบรมไปหักออกจากฐานภาษีได้อัตราร้อยละ 200 ของค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีเพราะช่วยเพิ่มการลงทุนให้นายจ้างตัดสินใจ เข้าร่วมจัดฝึกอบรมแต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหา free-riding ได้หมด

2. ขาดระบบประกันคุณภาพ แม้จะมีมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พ.ศ. 2557 แต่ยังขาดหลักเกณฑ์การบังคับใช้ ทำให้ยังไม่มีการประกันคุณภาพนักเรียน ผู้ปกครองจึงไม่นิยม

3. ขาดองค์กรตัวกลางเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เป็นศูนย์กลางจัดหาตำแหน่งฝึกงานให้ผู้เรียนและสถานประกอบการ ซึ่งในหลายประเทศใช้องค์กรตัวกลางนี้ช่วยลดต้นทุนในการหาตำแหน่งงานที่ตรงกัน และที่สำคัญคือการจัดทำชุดมาตรฐานวิชาชีพเป็นกรอบในการกำหนดเนื้อการเรียนการสอน รวมถึงการประกันคุณภาพหลักสูตร คุณภาพสถานประกอบการและคุณภาพผู้จบการศึกษา

แนวทางสำหรับประเทศไทยที่พอทำได้เพื่อช่วยขยายอาชีวทวิภาคี คือ การจัดตั้งกองทุนอาชีวทวิภาคี ขึ้นเพื่อแก้ ปัญหา free-riding โดยเรียกเก็บเงิน สมทบจากสถานประกอบการทุกแห่ง ไม่มีข้อยกเว้นตามสัดส่วนขนาดสถานประกอบการ และให้รัฐบาลร่วมสมทบ เพื่อนำเงินไปอุดหนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน กลไกนี้จะทำให้สถานประกอบการที่ไม่จัดฝึกอบรมต้องมีส่วนแบกรับ ต้นทุน ช่วยแก้ปัญหาโดยสารฟรี เพราะทุกคนต้องซื้อตั๋วไว้แล้ว

นอกจากนี้ กองทุนอาชีวทวิภาคียังสามารถทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวกลาง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาชีวศึกษาทวิภาคีที่ประเทศไทยยังไม่มี ทั้งนี้ รัฐบาลควรมอบอำนาจให้กองทุนฯ เป็นตัวกลางจัดหาตำแหน่งให้นักเรียนและผู้ประกอบการ การจัดทำชุดมาตรฐานวิชาชีพ การให้ใบอนุญาตสถานประกอบการสอนระบบทวิภาคี และจัดทดสอบสมรรถนะผู้เรียนและมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการทดสอบ

อย่างไรก็ตาม การขยายผลอาชีวทวิภาคี เป็นเพียงส่วนเดียวของการแก้ปัญหาคุณภาพอาชีวศึกษาทั้งระบบ ผู้เขียนมีข้อ เสนอเพื่อ แก้ไขปัญหาคุณภาพอาชีวศึกษาทั้งระบบตั้งแต่ฐานรากคือ พัฒนาทักษะความรู้พื้นฐานผู้เรียนโดยเฉพาะคณิตศาสตร์และทักษะช่างพื้นฐาน ที่พบว่า ผู้จบการศึกษามีทักษะด้านนี้ในระดับ ต่ำมาก และเพิ่มงบประมาณในการจัดการศึกษาเพื่อจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ  อีกทั้งจัดตั้งสถาบันวิชาชีพอาจารย์อาชีวศึกษา เพื่อให้มีมาตรฐานรองรับที่ชัดเจน จัดการฝึกอบรมอาจารย์ พร้อมกับติดตามองค์ความรู้ใหม่ๆ ในสถานประกอบการ เพราะคุณภาพอาชีวศึกษาหัวใจสำคัญก็อยู่ที่การพัฒนาอาจารย์ด้วยเช่นกัน ท้ายสุดคือการยกระดับการประกันคุณภาพภายนอก

ที่ผ่านมา พบปัญหาเรื่องการให้น้ำหนักกับตัวชี้วัดไม่สะท้อนคุณภาพการศึกษา และสร้างภาระให้สถานศึกษาโดยไม่เกิดประโยชน์ หนทางแก้ไขมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง 2 ขั้นตอนคือ

1. ปรับปรุงตัวชี้วัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ตัวชี้วัดด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ประกอบด้วย ตัวชี้วัดผลการเรียนซึ่งถ้ากองทุนฯ จัดตั้งได้สำเร็จ ควรให้กองทุนฯ เป็นผู้จัดทดสอบทักษะความรู้ เพราะจะทำให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทาง การศึกษาที่สะท้อนความต้องการนายจ้างได้ดีที่สุด

แต่ถ้ากองทุนฯยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ควรเป็นสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือ สมศ. สุ่มนักเรียนเข้าวัดสมรรถนะทักษะวิชาชีพในศูนย์ทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ทดสอบของสถาบันเฉพาะทาง หรือศูนย์ทดสอบเอกชน และอีกตัวชี้วัดคือด้านความพร้อมของสถานศึกษาที่ต้องวัดความพร้อมบุคลากร วัสดุครุภัณฑ์ งานธุรการ

2. ผู้ประกันคุณภาพต้องศึกษาปัญหาสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการประเมินขั้นตอนแรก โดยร่วมกับสถานศึกษานั้นๆเพื่อกำหนดแนวทางปรับปรุงภายใต้กรอบเวลาและตัวชี้ วัดที่ชัดเจน พร้อมกับติดตามผลคู่กับการให้ความช่วยเหลือ โดยต้องมีหลักเกณฑ์ในการลงโทษผู้บริหารที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผน

ข้อเสนอเหล่านี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาอย่างมีทิศทางและตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้างได้ตรงจุดยิ่งขึ้น อีกทั้งตัวผู้เรียนเองก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยพัฒนาก้าวหน้าด้วยกำลังคนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ในคอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: มองลึกคุณภาพอาชีวะฯ ไทยสู่ทางแก้ไขตรงจุด (จบ)