ณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์
การศึกษาเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสำคัญและมีวาระให้ปฏิรูปต่อเนื่อง แต่ ‘อาชีวศึกษา’ คือหนึ่งในเรื่องที่ยังถูกปล่อยปละ ละเลยจนทำให้ประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ และมีคุณภาพต่ำ นำไปสู่ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานที่จะป้อนเข้าสู่ตลาด
ตลาดแรงงานมีความต้องการทั้งช่างเทคนิคและช่างฝีมือที่ผ่านอาชีวศึกษาจำนวนมาก ทำให้เข้าใจไปได้ว่าอาชีวศึกษาไทยยังผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดไม่เพียงพอ แต่งานศึกษา “การปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทย” กลับพบว่า การขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดจากการผลิตแรงงานได้ไม่เพียงพอ แต่เกิดจากปัญหาคุณภาพของระบบอาชีวศึกษา
ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 มีงานช่างเทคนิคและช่างฝีมือรวมกันมากถึง 35,000 ตำแหน่ง ขณะที่ในปีเดียวกันมีผู้ เพิ่งจบ ปวส. สายเทคนิคทั้งหมด 120,000 คน หมายความว่าผู้จบการศึกษาควรได้เข้าทำงานจนเต็มทุกตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่สภาพเป็นจริงคือ ตลาดแรงงานกลับยังขาดแคลน เพราะผู้จบ ปวส. 47% เลือกทำงานในอาชีพอื่นที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าช่างเทคนิคหรือช่างฝีมือ และอีก 20% ไม่ได้ทำงาน และอีก 19% เลือกเรียนต่อ ส่วนผู้เข้าทำงานเป็นช่างเทคนิคและช่างฝีมือมีเพียง 14% สาเหตุที่ผู้จบการศึกษาต้องเข้าทำงานที่ใช้ทักษะความรู้ในระดับต่ำกว่าการศึกษาที่จบมานั้น พบว่าระบบอาชีวศึกษาไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะความรู้ตรงกับความต้องการของนายจ้างได้ ทำให้สถานประกอบการเลือกที่จะจ้างผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเพื่อทำงานเทคนิค และเลือกจ้างแรงงานการศึกษาพื้นฐานมาทำงานช่างฝีมือ ทำให้นอกจากจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว สถานประกอบการยังต้องแบกรับภาระ ต้นทุนในฝึกอบรมทักษะให้แก่คนทำงานก่อนปฏิบัติงานจริงเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ความเข้าใจว่า การเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดอีกทั้งคุณภาพของผู้จบการศึกษาก็ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น และหากจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทราบถึงสาเหตุที่ แท้จริงของปัญหาคุณภาพอาชีวศึกษาไทย โดยผู้เขียนพบว่า ปัญหาคุณภาพอาชีวศึกษาภาคปรกติมีสาเหตุสำคัญดังนี้
การละเลยทักษะความรู้พื้นฐานของผู้เรียนการศึกษา PISA โดย OECD ปี 2555 พบว่านักเรียนอาชีวศึกษา 75% มีทักษะ คณิตศาสตร์ต่ำกว่าระดับ 2 และมีนักเรียน 32% มีทักษะคณิตศาสตร์ระดับ 0 หมายความว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถคิดคำนวณโดยใช้สูตรหรือนิยามทางคณิตศาสตร์อย่างง่ายสุดได้ ทั้งที่ผู้จะทำงานในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องกลนั้นต้องสามารถแทนสูตรและแปลงหน่วย ซึ่งต้องอาศัยทักษะพีชคณิต ขณะที่การร่างแบบงานจำเป็นต้องใช้ความรู้เรขาคณิตและตรีโกณมิติ และการควบคุมคุณภาพต้องใช้ความรู้ด้านสถิติ ดังนั้น ผู้เรียนอาชีวะที่ไม่มีการปูพื้นฐานคณิตศาสตร์มาก่อนก็จะไม่สามารถมีทักษะช่างที่ดีได้เลย
หลักสูตรไม่เชื่อมโยงกับทักษะที่ต้องใช้ในโลกการทำงานจริง เห็นได้ชัดคือ สถานศึกษาจำนวนมากไม่เปิดสอนสาขาที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยพิจารณาจากตลาดการจ้างงานที่มีประมาณ 3.3 ล้านตำแหน่ง ประกอบไปด้วยช่างเทคนิค 4 สาขาหลัก คือ ช่างเทคนิคโรงงาน ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้าและช่างยนต์ พบว่า ช่างเทคนิคโรงงานและช่างก่อสร้างมี 80% แต่นักเรียน ปวช. ในสาขาดังกล่าวมีเพียง 30% ในทางกลับกันมีนักเรียนอาชีวศึกษา 70% ที่เรียนสาขาช่างไฟฟ้าและช่างยนต์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีการจ้างงานรวมกันเพียง 20%
แม้สถานศึกษาเปิดสอนสาขาได้ตรงกับที่ตลาดต้องการ แต่เนื้อหาหลักสูตรก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่ควรได้รับการปรับปรุง ไม่ให้ล้าสมัย โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างเนื้อหาหลักสูตรกับความต้องการนายจ้าง คือ ระบบการจัดทำหลักสูตรที่ถูกกำหนดโดยอาจารย์ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเป็นหลักโดยอาจารย์ส่วนมากยังขาดประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชน และก็ยังไม่สามารถประกันได้ว่าอาจารย์ที่จบออกมาจะมีความเชี่ยวชาญทางเทคนิค
ระบบอาชีวศึกษายังขาดการส่งเสริมด้านทรัพยากรอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดอาจารย์และอุปกรณ์ครุภัณฑ์ซึ่งสำคัญที่สุด อีกทั้ง ระบบประกันคุณภาพวิทยาลัยอาชีวศึกษายังมีข้อบกพร่องทั้งการประกันคุณภาพภายในที่ยังไม่มีประสิทธิผลเพราะใช้กลไกการประเมินตนเอง ส่วนการประกันคุณภาพภายนอกก็ยังขาดประสิทธิภาพ เพราะตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพการเรียนการสอนนั้นมีน้ำหนักเพียง 20% ส่วนมากเน้นให้น้ำหนักที่การตรวจสอบการจัดกิจกรรม และจัดการภายในถึง 69% ทำให้สถานศึกษามีภาระ จัดทำจัดเก็บเอกสารจำนวนมากเพื่อเป็นหลักฐานว่าดำเนินกิจกรรมจริง ดังนั้นระบบประกันคุณภาพภายนอกนอกจากจะไม่ช่วยพัฒนาคุณภาพวิทยาลัยอาชีวศึกษาแล้ว ยังเพิ่มภาระให้แก่วิทยาลัย ทำให้ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาที่แท้จริงจึงยังไม่ถูกค้นพบและไม่ได้รับการแก้ไขด้ว
สาเหตุเหล่านี้ คุณภาพอาชีวศึกษาไทยจึงเป็นอีกวาระด้านการศึกษาที่ต้องได้รับการปฏิรูปเร่งด่วน นอกจากการมองลึกปัญหาคุณภาพอาชีวะในภาคปรกติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาและแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีทิศทางแล้ว ในครั้งหน้า ผู้เขียนจะชวนมองลึกคุณภาพอาชีวศึกษาทวิภาคี ซึ่งเป็นอีกระบบอาชีวะที่ถือว่าเป็นอีกหลักสูตรทางเลือกที่ดีแต่ยังไม่แพร่หลายในไทย พร้อมกับแนวทางการปฏิรูปยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องที่จะนำไปปฏิบัติแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 สิงหาคม 2559 ในคอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: มองลึกคุณภาพอาชีวะฯ ไทยสู่ทางแก้ไขตรงจุด(1)