ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาค้ำประกันเงินกู้ เกิดได้หรือไม่ ?

ปี2016-09-01

กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และมีการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้มากขึ้น แต่ในด้านหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า ซึ่งภาครัฐต้องการให้เกิดมากที่สุด เพื่อผลักดันการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มในภาคธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวม ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้มีช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอยู่ที่นโยบายภาครัฐในการช่วยกระตุ้นผลักดันกลไกที่จำเป็นในการระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดขึ้นจริงได้เช่นต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา

จดหรือไม่ ก็เป็นหลักประกันได้
นางวิมลรัตน์ เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นเพียงปลายทางในการรับจดทะเบียนทรัพย์สินตาม พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ โดยต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผิดชอบทรัพย์ที่มีทะเบียน เช่นในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญา ต้องเชื่อมโยงข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และปัจจุบันการเชื่อมระบบข้อมูลยังไม่เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน น่าจะใช้เวลาอีกหนึ่งปีจากนี้ ในการเชื่อมโยงระบบข้อมูลให้เป็นเรียลไทม์ นอกจากนี้ กฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนถึงตัวทรัพย์สินว่าต้องจดทะเบียนหรือไม่ อยู่ที่ตัวบริษัทประเมินตัดสินใจ โดยเมื่อมีผู้มายื่นขอจดทะเบียน ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องส่งข้อมูลต่อไปที่ตัวผู้ประเมิน แม้เป็นทรัพย์สินที่ยังไม่จดทะเบียนตามกฎหมายหลักประกันฯ ก็สามารถขอสินเชื่อได้ อยู่ที่ผู้ประเมินและสถาบันการเงินที่พิจารณาเรื่องของมูลค่าและความเสี่ยง

“ตัวกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ที่กำหนดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นเพียงปลายทางรับจดทะเบียนทรัพย์สินเท่านั้น กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวทรัพย์สิน หรือต้องบังคับหลักประกัน แต่ไม่มีข้อกำหนด ให้หน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบทรัพย์สินที่มีทะเบียน ต้องแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงกลับเข้ามาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีก การจดทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นเพียงฐานข้อมูลที่ให้สถาบันการเงินและประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาดูได้ว่า ตัวรายการทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันมีการจดทะเบียนอยู่จริงเท่านั้น นอกจากนี้ ตามกฎหมาย ผู้บังคับหลักประกันมีอำนาจบังคับได้แค่ตัวกิจการ ไม่ใช่บังคับที่ตัวหลักประกันทรัพย์สินได้โดยตรง จึงต้องมีระบบตลาดรองรับการซื้อขายทรัพย์สินหลักประกันด้วย โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถยึดหลักประกันมาขายทอดตลาดได้เหมือนบ้านและที่ดิน”

ชี้รัฐอุดหนุนค่าประเมิน
นายไพรัช มณฑาพันธุ์ นายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย กล่าวว่า การประเมินมูลค่าหลักประกันโดยรวมตาม พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจฉบับนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากนักประเมินไทยมีการประเมินมูลค่าธุรกิจจากทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนหรือไม่สามารถ จับต้องได้มานานแล้ว เพื่อรองรับการซื้อขายกิจการตามปกติของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อมีตัวบทกฎหมายออกมารองรับสำหรับภาคการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และปล่อยสินเชื่อ ได้มากขึ้น ในช่วงแรกนี้ ยังอาจถือเป็นเรื่องใหม่ของสถาบันการเงินที่ต้องทำความเข้าใจด้านความเสี่ยงและแนวทางในการเลือกรับหลักประกัน

“เท่าที่ประเมินในต่างประเทศ เรื่องของหลักประกันจากทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นประเภทที่เกิดยากที่สุดด้วย ต่างจากทรัพย์สินพวกเครื่องจักร อาคารสถานที่ประกอบกิจการ และบัญชีเงินฝากที่มีสภาพคล่องสูงกว่า ซึ่งสถาบันการเงินมีความคุ้นเคยให้กู้ผ่านทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งไม่เหมือนทรัพย์สินทางปัญญา ขณะนี้ยังไม่มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนออกมารองรับ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังแทบไม่เคยทำมาก่อนในประเทศ และการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความซับซ้อนกว่ามาก รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง รัฐจำเป็นต้องเข้ามา สนับสนุนในส่วนของค่าประเมิน ให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่รัฐต้องมีมาตรการต่าง ๆ และเข้ามาสนับสนุนค่าประเมินในช่วงแรกเริ่มที่ต้องการผลักดันกลไกตลาดให้เกิดขึ้นได้จริง”

ยังไม่ตอบโจทย์สตาร์ทอัพ
นายพณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ แนวโน้มน่าจะเกิดขึ้น ได้ยาก เนื่องจากตัวข้อกฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับแนวทางการผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนทุ่มลงไป โดยไม่อาจรับประกันหรือมีหลักประกันใดรองรับได้เลยที่จะสามารถสร้างรายได้คุ้มค่ากับเงินลงทุนหรือสินเชื่อที่ได้มา โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพ ควรจะเป็นเงินทุนแบบให้เปล่า แม้แต่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ช่วงเริ่มต้นปีแรก ๆ ในการพัฒนาธุรกิจ แม้แต่ตัวผู้ประกอบการเจ้าของกิจการเองก็ไม่สามารถประเมินกระบวนการสร้างรายได้หรือแม้ แต่ประเมินความเสี่ยงได้ชัดเจน

“ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเสียเวลาไปกับความพยายามจดทะเบียนสิทธิบัตรทรัพย์ สินทางปัญญาที่ต้องใช้เวลาหลายปี ส่วนมากธุรกิจสตาร์ทอัพจึงต้องหาเงินทุนตัวเองมาผลักดันในช่วงเริ่มแรกไปก่อน แนวทางที่สถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ คือ ต้องมีความมั่นใจในระดับความเสี่ยงระดับหนึ่ง เช่น เป็นธุรกิจที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐ จึงจะปล่อยกู้ให้ได้ ดังนั้น การส่งเสริมสตาร์ทอัพจึงไม่จำเป็นต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา เพราะไม่มีทางประเมินทั้งมูลค่าและความเสี่ยงออกมาได้ถูกต้องชัดเจน กฎหมายนี้จึงน่าจะเกิดการระดมทุนและให้สินเชื่อได้มากขึ้นในทรัพย์สินประเภทอื่นมากกว่า และหากจะบอกว่า ตัวกฎหมายนี้จะช่วยการระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยให้เกิดการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม ยกระดับธุรกิจ สร้างรายได้ก้าวพ้นรายได้ปานกลางตามนโยบายรัฐ ก็คงจะเป็นไปได้ยากและไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ”

ระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญา
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ บังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถนำทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ มาเป็นประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำหน้าที่รับจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ สำหรับประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่จะใช้เป็นหลักประกันหรือการกู้ยืมโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาค้ำประกัน ถือเป็นหนึ่งในช่องทางระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีรูปแบบการระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญาในด้านอื่น ๆ ได้แก่ การแปลงสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนการจำหน่ายและเช่าคืนทรัพย์สินทางปัญญา และการร่วมทุนหรือ Venture Capital

การกู้ยืมเงินโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันแพร่หลายเฉพาะในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นการปล่อยกู้จากการประเมินรายได้ลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ สิทธิบัตรเกี่ยวกับไอที ซอฟต์แวร์ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ การปล่อยกู้ดำเนินการโดยกลุ่มที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ทางปัญญา ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารต้องพิจารณาความเสี่ยงและดำรงเงินกองทุนสำรองตามหลักเกณฑ์ทางการเงินที่เข้มงวด ในประเทศไทย เคยมีกรณีที่ SME Bank ให้สินเชื่อจากทรัพย์สินทางปัญญาตามนโยบายรัฐ ในช่วงปี 2557-2558

การแปลงสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน ส่วนมากเป็นการแปลงสิทธิในค่าเช่า (revenue interest securitization) ให้เป็นทุน ธุรกิจที่ใช้รูปแบบนี้ คือ เพลง ภาพยนตร์ รวมถึงการนำมาใช้กับเครื่องหมายการค้า ทีมฟุตบอล ส่วนการแปลงสิทธิ์จากสิทธิบัตรยังมีน้อยมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนของกระแสรายได้ธุรกิจที่อาจกระทบตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และมีความเสี่ยงหากถูกฟ้องละเมิดสิทธิบัตร ในประเทศไทยยังไม่มีการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน

สำหรับรูปแบบการจำหน่ายและเช่าคืนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสัญญาที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เช่าซื้อคืนทรัพย์สินทางปัญญา เหมาะกับสิทธิบัตรเทคโนโลยี เจ้าของสิทธิบัตรสามารถนำไประดมทุนจากนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาได้ และเหมาะกับทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายเมื่อโอนสิทธิ์ แต่ต้องมีบันทึกการโอนสิทธิ์และออกใบรับรองสิทธิ์ โดยหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ในประเทศไทยเริ่มมีการทำสัญญาจำหน่ายและเช่าคืนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับบริษัทที่ต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์

ด้านการร่วมทุน บริษัทร่วมทุน หรือ Venture Capital มักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทขนาดเล็ก โดยการเข้าถือหุ้นหรืออาจให้เงินสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุน ธุรกิจที่ได้รับเงินทุนรูปแบบการร่วมทุนนี้ มักเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูง บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังนั้น บริษัทร่วมทุนอาจไม่ได้มองที่เรื่องของการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลัก แต่ประเมินตัวธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวเติบโตสูงได้ต่อไปหรือไม่มากกว่า

จี้รัฐเป็นฝ่ายริเริ่มผลักดัน
นอกจากนี้ ดร. เดือนเด่น กล่าวว่า การระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญาใน รูปแบบต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างให้เกิดระบบนิเวศของการระดมทุน เมื่อประมวลผลจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ระบบนิเวศจำเป็นต้องประกอบด้วย มาตรการของรัฐที่ช่วยในการส่งเสริมระบบการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่รองรับ

การส่งเสริมการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน ได้แก่มาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐาน ตัวอย่างในสิงคโปร์และฮ่องกงที่พัฒนาการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา สหราชอาณาจักรที่พัฒนาตลาดค้าขาย และการให้เช่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ มีการให้สินเชื่อทรัพย์สินทางปัญญาค้ำประกัน รวมถึงกองทุนเพื่อสนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญาในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และจีน รวมถึงกรณีศึกษาในประเทศที่มีระบบการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา ฮ่องกง มาเลเซีย สหราชอาณาจักร จัดคอร์สฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน เกาหลีใต้ กำหนดให้มีหน่วยงานที่ให้บริการการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา สิงคโปร์ จัดตั้งหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา และตัวอย่างพัฒนาการระบบประเมินที่สมบูรณ์ศึกษาได้ในประเทศสหรัฐฯ

สำหรับไทย เมื่อพิจารณาระบบนิเวศด้านองค์กรที่จำเป็นในการระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญา ปัจจุบันมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือจำนองทรัพย์สินทางปัญญา ตลาดรองรับการซื้อ ขาย ให้เช่า ทรัพย์สินทางปัญญา มี thaiipmart.com มีหน่วยงานประเมินมูลค่า เช่น สมาคมนักประเมิน ราคาอิสระไทย หน่วยงานที่ปล่อยกู้ สถาบันการเงินต่าง ๆ และหน่วยงานที่รับประกันสินเชื่อที่ปล่อยให้ทรัพย์สินทางปัญญา คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.แต่หากเทียบกับในต่างประเทศ บทบาทของภาครัฐจะเป็นการสนับสนุนเอกชนดำเนินการเองหมด รัฐรับขึ้นทะเบียนอย่างเดียวเหมือนสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ขณะที่สิงคโปร์ รัฐวางมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และการรับรอง พร้อมให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หรือฮ่องกงที่รัฐมุ่งส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านทรัพย์สินทางปัญญา มาเลเซีย รัฐให้ความรู้เรื่องการประเมินและรัฐปล่อยกู้ และเกาหลีใต้ที่รัฐดำเนินการทุกอย่าง ตั้งแต่การประเมิน ปล่อยกู้ และการค้ำประกัน

“ในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบประเมินด้านมาตรฐานเทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมา หากได้รับมาตรฐานระดับสูงสุด สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการได้โดยไม่มีความเสี่ยงที่ไม่ได้รับเงินต้นคืนเลย เนื่องจากมาตรฐานเทคโนโลยีระดับสูงที่ช่วยการันตีความสำเร็จในการสร้างรายได้ทางธุรกิจ ดังนั้น รัฐจึงควรเป็นตัวกลางที่เริ่มต้นวางระบบนิเวศที่จำเป็นและผลักดันกลไกการทำงานให้เดินหน้าได้ เช่น บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินอีกชั้นหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยง

ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ หน้าที่ปล่อยกู้ให้เงินทุนกับผู้ประกอบการ อาจเป็นหน้าที่ขององค์กรเฉพาะด้านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้เป็นหลักประกัน จึงจะประเมินความเสี่ยงและมูลค่าได้ดีกว่าสถาบันการเงิน รวมถึงมูลค่าประเมินทรัพย์สินกับการให้กู้จริง ยังอาจต่างกันด้วย ตามการประเมินอัตราความเสี่ยงและโอกาสเติบโตรายได้ธุรกิจ และหนึ่งในกลไกระบบนิเวศที่สำคัญ คือ ตลาดรองรับการซื้อขายหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เหมือนในระบบสินเชื่อปกติที่มีตลาดการซื้อขายบ้านและที่ดินรองรับสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินในการบังคับหลักประกัน


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยอีคอนนิวส์  เมื่อ 1 กันยายน 2559 ในชื่อ: ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาค้ำประกันเงินกู้ เกิดได้หรือไม่ ?