บทเรียนขรก.จำนำข้าว

ปี2016-10-04

ประเด็นที่น่าติดตามกรณีการสรุปค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มูลค่า 1.78 แสนล้านบาท จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2555/2556 และปี 2556/2557 คือ ค่าความเสียหายดังกล่าวคำนวณตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ซึ่งนอกจากฝ่ายการเมืองแล้ว ผู้ปฏิบัติงานชั้นต้นและชั้นกลางตามโครงการรับจำนำข้าวก็ต้องรับผิดชอบด้วย นั่นหมายถึงข้าราชการจำนวนมากที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของการปฏิบัติตามคำสั่งและข้าราชการที่มีรายชื่อตามโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า ในหลักการแล้วเห็นด้วยกับการคำนวณค่าความเสียหายดังกล่าว เพราะสอดคล้องกับการคำนวณของชุด คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ที่มี จิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากทั้ง 2 ปีดังกล่าว ปรากฏตามหลักฐานข้อเท็จจริงว่ามีการท้วงติงจากทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าโครงการรับจำนำข้าวจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ

“แต่มีข้อสงสัยว่าการคิดคำนวณมูลค่าเสียหายของคณะกรรมการฯ ในชุดกรมบัญชีกลาง ได้มีการนำข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่เกิดความเสียหายไปคิดรวมด้วยหรือไม่ โครงการรับจำนำข้าวมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทุจริตสร้างความเสียหายอีกเป็นจำนวนมากในขั้นตอนของการรับจำนำข้าว ดังนั้นคณะกรรมการฯได้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาประกอบมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ควรออกมาชี้แจงให้สังคมทราบด้วย” ดร.นิพนธ์ กล่าว

ประเด็นต่อมา คือการตั้งข้อสงสัยเรื่องหลักการคิดคำนวณค่าความ เสียหายของโครงการรับจำนำข้าว โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ได้ยึดหลักการคำนวณภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ 2539 ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กรณีปกติของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ คือคนลงนามคำสั่งโดน 20% เพราะถือว่าสั่งการไปแล้ว แต่ไม่ได้มาร่วมรับรู้ แต่ผู้ปฏิบัติจะโดน 80% เพราะถือว่ารับรู้และยังปฏิบัติ แต่โครงการรับจำนำข้าวเป็นกรณีไม่ปกติ เป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะเป็นนโยบายทางการเมืองสั่งให้ข้าราชการปฏิบัติ ดังนั้นควรจะใช้หลักกฎหมายดังกล่าวในการคิดคำนวณหรือไม่

ทั้งนี้ กรณีจำนำข้าวถือเป็นเคสพิเศษ เพราะเป็นนโยบายการเมืองที่สั่งลงมา คือตัวนักการเมืองทราบดี ถามว่านโยบายที่สร้างความเสียหายต่องบประมาณชาติเป็นนโยบายที่ผิดหรือไม่ผิด เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน เรื่องนี้คงต้องถกเถียงกันในวงกว้างและหาทางออก เพราะถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการบูรณาการด้านกฎหมายที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนักวิชาการทุกฝ่ายก็ควรร่วมหาทางออกด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดการถกเถียงไม่จบไม่สิ้น แบ่งเป็นสองฝ่ายว่าผิดหรือไม่ผิด และเป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ ที่คิดค่าเสียหายจำนำข้าวต้องชี้แจงให้กับสังคมเข้าใจด้วยเช่นกัน

สำหรับข้าราชการที่จะถูกเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ดร.นิพนธ์ มองว่า คงต้องตีความเรื่องนี้ด้วยเช่นกันว่าข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งโครงสร้างของคณะกรรมการชุดต่างๆ หรือข้าราชการในกระทรวงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องขายข้าว สมควรหรือไม่ที่จะถูกเรียกเก็บค่าเสียหายด้วย เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้ามานั่งเป็นกรรมการใน กขช. มีหน้าที่แค่รับรองสิทธิของเกษตรกร และหามาตรการป้องกันการสวมสิทธิของเกษตรกร ต้องจ่ายค่าเสียหายด้วยหรือไม่ หรือบางราย แค่มีรายชื่อตามตำแหน่งในคณะกรรมการ ตรงนี้คณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อเรียกค่าเสียหายในส่วนเพิ่มเติมต้องดูให้ดี

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้าราชการหลายหน่วยงานจากกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทักท้วงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวในการประชุม กขช. ซึ่งข้าราชการส่วนอื่นๆ หากไม่เห็นด้วยก็ควรทักท้วง

“กรณีของข้าราชการถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ และจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทย ถ้าข้าราชการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ในการประชุมทุกครั้งหากไม่เห็นด้วยก็ควรจะโต้แย้งทันทีและบันทึกการประชุมไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันความบริสุทธิ์ว่าได้ทักท้วงแล้ว แต่ต้องทาตามก็เพราะถูกบังคับ ซึ่งจะเป็น หลักฐานป้องกันตัวเอง โดยข้าราชการไม่ควรหวงตำแหน่งว่าถ้าทักท้วงแล้วจะถูกปลด ควรยึดความถูกต้องสำคัญกว่าตำแหน่ง ดังนั้นจึงไม่ควรเสียขวัญและกำลังใจ” ดร.นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายแม้คณะทำงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องถูกเรียกเก็บค่าเสียหายในอีก 80% ที่เหลือ จะใช้ระยะเวลาหาข้อสรุปอีกหลายเดือน แต่โครงการรับจำข้าวถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของระบบข้าราชการที่ต้องฉุกคิดในการปฏิบัติงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 4 ตุลาคม 2559 ในชื่อ: บทเรียนขรก.จำนำข้าว อย่าหวั่น’เด้ง’ไม่งั้น’โดน’