ทีดีอาร์ไอ แนะชิ้นส่วนเร่งปรับตัวรับเทรนด์โลก ย้ำรถยนต์ไฟฟ้าควรเริ่มที่รถโดยสารก่อน
นิสสัน หนุนรถยนต์ไฟฟ้าสุดตัว ด้าน โตโยต้า ย้ำควรส่งเสริมผลิตแบตเตอรี่ก่อน
นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวใน งานเสวนาเรื่อง ขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ยุคใหม่ : ประเทศไทยจะไปทางไหน ว่า จากแนวโน้มความต้องการยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตที่เน้นไปในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรนำร่องด้วยการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากับรถโดยสารก่อน เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่มีเส้นทางและระยะทางการเดินรถที่ชัดเจน ประกอบกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในระยะสั้นนั้นเชื่อว่าจะยังไม่มีการขยายตัวมากนัก
ส่วนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในระยะสั้นควรทำให้สอดคล้องกับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าและความต้องการของตลาดโดยการลงทุนดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นการลงทุนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้สนับสนุนให้รถยนต์ที่ผลิตอยู่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องปรับปรุงจึงควรเริ่มจากอัตราภาษีสรรพสามิต
นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นิสสันมีความสนใจนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย และนิสสันก็มีผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสินค้ารุ่นใหม่ และนโยบายการส่งเสริมดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนานั้น การขับเคลื่อนให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกที่รัฐบาล และเอกชนจะต้องทำ คือการสร้างดีมานด์ หรือความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อน และเมื่อทุกอย่างมีความชัดเจน ผู้ผลิตก็จะให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน
นิสสันมีความสนใจนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย ในตอนนี้แม้ว่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และแน่นอนว่าท้ายที่สุด รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องเข้ามาทำตลาดอย่างแน่นอน เหมือนเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งสำคัญวันนี้คือ เราต้องสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของราคาขาย ทำให้เกิดความต้องการใช้ และอนาคตโอกาสที่ไทยจะผลิตรถไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าหากภาครัฐต้องการสนับสนุนเพื่อให้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด มีการผลิตและประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตันนั้น
รัฐบาลควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และไม่เฉพาะแต่รถไฟฟ้าเท่านั้น รัฐบาลควรให้การสนับสนุนกับรถยนต์ไฮบริดอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสนับสนุนด้วยการเว้นการเก็บภาษีการนำเข้าแบตเตอรี่ มอเตอร์ ชุดสายไฟ ฯลฯ เพื่อผลักดันให้รถไฮบริดสามารถผลิตและทำตลาดได้ แต่เราจะเห็นว่าผ่านมา 5-6 ปี เรามียอดขายรถไฮบริดเพียงแค่ 70,000 คัน ซึ่งถือว่ายังน้อยเกินไป
เช่นเดียวกัน หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดนั้น สิ่งสำคัญโตโยต้าเชื่อว่า ควรจะต้องมีการเร่งผลักดันให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขึ้นในประเทศไทยก่อน ซึ่งความคุ้มทุนของการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ ที่บริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำอย่างพานาโซนิค บอกไว้คือ จะต้องมีการผลิตไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกต่อปีให้ได้ก่อน และโตโยต้าเชื่อว่าเมื่อมีการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยได้แล้ว การลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็จะตามมาอย่างแน่นอน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 6 ตุลาคม 2559 ในชื่อ: TDRI ฟันธงรถเมล์ไฟฟ้าลงตัวสุดสุด “นิสสัน-โตโยต้า” เร่งปรับตัวรับเทรนด์รถไร้มลพิษ