tdri logo
tdri logo
10 ตุลาคม 2016
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอห่วง รพ.รัฐขาดแคลนบุคลากรแพทย์

กลยุทธ์การพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิคัลฮับ) ของรัฐบาลมีด้วยกัน 7 กลยุทธ์หลัก คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดการบริการสุขภาพ การพัฒนาบริการทางการแพทย์ การพัฒนาบริการการส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาบริการการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก การพัฒนาบริการวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพและส่งเสริมการตลาด

ขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ได้กำหนดระยะเร่งด่วน 2 ปี คือ ระหว่างปี 2559-2560 มีการกำหนดให้เก็บค่าประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติทุกราย พร้อมเตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เอื้อต่อการเดินทางมาพำนักระยะยาว (ลองสเตย์) ด้วย
อย่างไรก็ดี ในแผนยุทธศาสตร์นั้น ระบุว่า การเป็นศูนย์กลางสุขภาพของไทยจะต้องไม่มีผลกระทบต่อระบบการรักษาสุขภาพของคนในชาติด้วย

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ธุรกิจศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรในประเทศไทยจะยิ่งเติบโตขึ้นในอนาคต เนื่องจากกำลังซื้อที่มีศักยภาพจากต่างชาติจะหลั่งไหลมาใช้บริการในประเทศไทย และเชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะสามารถต่อยอดและขยายตัวเพิ่มได้อีกจากปัจจุบันที่มีให้บริการอยู่ไม่กี่แห่ง

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการจัดการบริหารที่ดีคาดว่าจะมีผลกระทบตามมา เพราะบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอและพยาบาลที่เก่งและมีฝีมือจะหลั่งไหลไปทำงานและกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรนั้น เนื่องจากมีรายได้ที่ดีกว่าทำงานกับโรงพยาบาลของรัฐ

“จะส่งผลกระทบไปถึงแพทย์ของภาครัฐที่ต้องรับภาระงานที่สูงขึ้น อีกทั้งหากไม่มีการเปิดรับแพทย์ต่างชาติเข้ามา ก็อาจจะยิ่งสร้างปัญหา เพราะเป็นการดึงแต่คนไข้ต่างชาติที่มีกำลังจ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันในประเทศยังผลิตแพทย์ไม่ทันกับการรองรับผู้ป่วย”

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า เคยเสนอให้รัฐบาลเก็บภาษีกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมารับบริการการรักษาโดยเฉพาะ หรือ Medical Tourist เพื่อให้นำเงินส่วนนี้อุดหนุนด้านการผลิตแพทย์ในประเทศ และส่งเสริมด้านเทคโนโลยีการรักษาให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ จากเดิมที่เงินทั้งหมดสำหรับผู้เข้ารับบริการต่างชาติจะอยู่กับที่ โรงพยาบาลเอกชน หรือกับแพทย์เพียงทางเดียว

“เพราะประเทศไทยมีบริการด้านสุขภาพ นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและต้องการการรักษาจึงบินตรงมา รัฐต้องเก็บภาษีส่วนนี้เพื่อสร้างความสมดุลด้านบริการสุขภาพในประเทศ รวมถึงปลดล็อกการรับแพทย์ต่างชาติเข้ามาทำงานให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยถ่วงดุลในการให้บริการกับชาวต่างชาติ แพทย์ไทยก็จะได้รักษาคนไทยอีกส่วนหนึ่งด้วย” ดร.วิโรจน์ ย้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไทยยังมีระบบบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และเป็นเป้าหมายของผู้ป่วยจากทั่วโลกให้เดินทางมาใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ที่สำคัญ โรงพยาบาลในไทยรวม 18 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ป่วย (JCI) มากที่สุดในอาเซียนจาก The Joint Commission ซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสหรัฐที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ทำการประเมินรอบด้านก่อนจะรับรองมาตรฐาน JCI ทำให้ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อีกแห่งหนึ่ง

ขณะที่ตลาดเภสัชกรรมในอาเซียนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านเภสัชกรรมของไทย 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 6.12% โดยตลาดหลักอยู่ที่อาเซียน เช่น เมียนมา ยอดส่งออกเติบโต 17.4% เวียดนาม มียอดส่งออก 16.2% และกัมพูชา 9.5%
ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้ายาจาก ผู้ผลิตโดยตรง ในปี 2558 มีการนาเข้ายาจากผู้ผลิตที่สหรัฐ คิดเป็น 15.4% จากยอดนำเข้าทั้งหมด ตามด้วยจีน 10.7% เยอรมนี 9.3% สวิตเซอร์แลนด์ 6.7% ซึ่งส่วนผสมยายังมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในการดูแลด้านสุขภาพแก่ประชาชนสูงสุดในกลุ่มอาเซียน เห็นได้จากงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพคิดเป็น 14% จากงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 4.6% ของจีดีพี และจากข้อมูลของธนาคารโลก ปี 2558 ไทยมีค่าใช้จ่ายต่อจีดีพีด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยอันดับ 1 คือ สหรัฐ ตามด้วยเยอรมนี สวีเดน อังกฤษ เกาหลีใต้ และจีน ตามลำดับ PT


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อ 10 ตุลาคม 2559 ในชื่อ: ทีดีอาร์ไอห่วง รพ.รัฐขาดแคลนบุคลากรแพทย์

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด