ขณะนี้ประเทศไทยนั้นกำลังตื่นตัวกับ “กระแสสตาร์ทอัพ” เป็นอย่างมาก ด้วยเป็นเรื่องที่ใหม่ ทำให้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากภาครัฐและองค์กรธุรกิจ แต่ก็มีผู้ประกอบการจำนวน ไม่น้อยที่ยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจ
ดังนั้น การศึกษาและเรียนรู้บทเรียนของผู้ที่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำเพื่อเป็น “ทางลัด” ให้บรรลุเป้าหมายง่ายขึ้น ซึ่งวันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้นำมาให้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางและกรณีศึกษา…
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้หยิบยกเอา “แนวทางของอิสราเอล” ขึ้นมาเป็น “กรณีศึกษา” ในเรื่องนี้ไว้ว่า อิสราเอล เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียงแปดล้านคน แถมอยู่ในเขตตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นสนามรบ แต่สามารถสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพจนเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้นไฮเทคของสหรัฐอเมริกาได้อย่างน่าสนใจ
โดยในปี 2015 ที่ผ่านมา ธุรกิจสตาร์ทอัพของประเทศนี้สามารถทำเงินจากกองทุนร่วมลงทุน (venture capital) ได้มากถึงกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ ตัวอย่างแรก คือบริษัทเล็ก ๆ ชื่อว่า ฟรอสไซเอนซิส (Fraud Sciences) ที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการโกงออนไลน์ขึ้นมา จนถูกเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ชื่อดัง อย่าง อีเบย์ (ebay) ซื้อไปในราคาที่สูงถึง 169 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวอย่างนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น มีโอกาสเติบโต จากธุรกิจเล็ก ๆ ก้าวขึ้นไปเป็นบริษัทระดับโลกได้จริง ๆ
ดร.สมเกียรติ วิเคราะห์ความสำเร็จในธุรกิจสตาร์ทอัพของอิสราเอลว่ามา จาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. เกิด จากการลงทุนด้านการ วิจัย และพัฒนา 2. เกิดจาการลงทุนสร้างบุคลากร 3. เกิดจากการที่ไม่กลัวความล้มเหลว 4. เกิดจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้า
ทั้งนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ ยังได้ยกคำกล่าวของ ซีมอน เปเรส อดีตประธานาธิบดีอิสราเอล ที่ได้เคยกล่าวถึง “แนวคิดการทำธุรกิจของอิสราเอล” ไว้ว่า อิสราเอลเป็นประเทศเล็กในด้านดินแดนและจำนวนประชากร ดังนั้น จึงไม่มีทางที่จะเป็นตลาดใหญ่หรือพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดมหึมาได้ ทว่าความเล็กนี้ก็สร้างโอกาสในด้านคุณภาพได้เช่นกัน
ดังนั้น ทางเลือกเพียงอย่างเดียวของอิสราเอลจึงเป็นการสร้างคุณภาพโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ซึ่งปัจจัยและแนวคิดดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ประเทศอิสราเอลประสบความสำเร็จ และกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพสูงในปัจจุบัน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อ 15 ตุลาคม 2559 ในชื่อ: SMEs ยุทธวิธีเศรษฐีใหม่: ‘โมเดลอิสราเอล’ สตาร์ทอัพ