tdri logo
tdri logo
6 ตุลาคม 2016
Read in Minutes

Views

ยานยนต์อินโดฯ กำลังโต เป็นโอกาสของไทย

สุนทร ตันมันทอง

ปริมาณการผลิตรถยนต์รวมของอาเซียนกำลังอยู่ช่วงขาขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขที่เติบโตประมาณร้อยละ 9.1 ต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับฐานการผลิตทั่วโลก รวมถึงจีนที่ว่ากันว่า เติบโตอย่างร้อนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมาร้อยละ 8.6 ต่อปี ก็ยังเติบโตต่ำกว่าอาเซียน

จากการศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้า เสนอต่อสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 5 ประเทศเท่านั้นที่มีฐานการผลิตรถยนต์ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในอนาคต เมียนมาร์จะเป็นประเทศที่ 6 ในภูมิภาคที่มีโรงงานประกอบรถยนต์

แต่เมื่อดูเป็นรายประเทศ พบว่า กำลังหลักที่เร่งให้อาเซียนผลิตรถยนต์เติบโตในระดับสูง มาจาก 2 ประเทศคือ ไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งต่างเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคทั้งคู่ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เติบโตสูงถึงร้อยละ 13.1 ต่อปี จนก้าวขึ้นมาหายใจรดต้นคอไทยในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในปัจจุบัน

การเติบโตของอินโดนีเซียเริ่มทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจ เพราะอินโดนีเซียกำลังเร่งเครื่องดันยานยนต์และชิ้นส่วนตามรอยไทยให้เป็นเบอร์หนึ่งอาเซียนและมองไกลถึงการเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นข่าวการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ที่กำลังแห่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการลงทุนอย่าง BKPM รายงานตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนของอินโดนีเซียว่า ในปี 2558 มีอยู่ประมาณ 1,654 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากว่า 2 เท่าจากประมาณ 732 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2554

คำถามยอดฮิตข้อหนึ่งคือ ถ้าอินโดนีเซียมาแรงแบบนี้แล้วจะแซงไทยหรือไม่?

ถ้าจะเทียบกันตามประเภทรถยนต์ อินโดนีเซียผลิตรถยนต์นั่งแซงหน้าไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 โดยแรงสนับสนุนจากโครงการ Low Cost Green Car (LCGC) ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียออกมาเพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เหลือแต่เพียงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ที่ไทยยังครองแชมป์ไว้อย่างเหนียวแน่น และยังคงห่างไกลกันอยู่มาก หากอินโดนีเซียจะไล่ตามไทยในกลุ่มรถกระบะ 1 ตัน ดังนั้น อินโดนีเซียจะแซงไทยหรือไม่ กุญแจดอกสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะรักษาการเติบโตของรถยนต์นั่งไว้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

แต่เมื่อยานยนต์และชิ้นส่วนของอินโดนีเซียเติบโต โอกาสของไทยอยู่ตรงไหน?

หลายครั้ง อินโดนีเซียจะถูกมองว่ามีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่มากเป็นทุน แต่ในเรื่องอุตสาหกรรมยังคงถูกปกป้องอยู่อย่างเข้มข้นด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การออกใบอนุญาต (License) มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff measures) รวมถึงสัดส่วนแรงงานต่างชาติต่อแรงงานท้องถิ่น (expat ratio) ซึ่งเป็นการปกป้องผู้ผลิตในประเทศในหลายอุตสาหกรรม เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร หรือแม้แต่ภาคบริการอย่างธนาคาร

แต่สำหรับยานยนต์และชิ้นส่วนแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น กล่าวคือ รัฐบาลอินโดนีเซียค่อนข้างเชื้อเชิญผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยใช้มาตรฐานที่ค่อนข้างเปิดกว้าง เช่น นักลงทุนสามารถถือหุ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในธุรกิจที่ลงทุน เป็นต้น ยังไม่รวมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ ที่พร้อมให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

ยกเว้นแต่เพียงชิ้นส่วนบางกลุ่ม เช่น มอเตอร์สำหรับสตาร์ทเครื่องยนต์ คอมเพรซเซอร์ รวมไปถึงชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นต้น อินโดนีเซียยังมีเงื่อนไขให้นักลงทุนต้องร่วมธุรกิจกับผู้ผลิตท้องถิ่น

นโยบายอุตสาหกรรมในปัจจุบันของอินโดนีเซีย คือ การลดการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และพัฒนาไปสู่การส่งออกรถยนต์ ทั้งนี้ เนื่องจากอินโดนีเซียพึ่งพาชิ้นส่วนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ลองนึกภาพว่า อินโดนีเซียผลิตรถยนต์ในปริมาณใกล้เคียงกับไทย แต่มีจำนวนผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนเพียงร้อยละ 14 ของจำนวนที่ไทยมี ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย

ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากไทยถือว่า มีแต้มต่อหลายประการในการลงทุนในอินโดนีเซีย ประการสำคัญก็คือ ฐานการผลิตของอินโดนีเซียค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย ในแง่ที่ว่าฐานการผลิตเป็นของผู้ผลิตญี่ปุ่น ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนจากไทยค่อนข้างมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้ผลิตญี่ปุ่น ผลงานที่เคยมีสามารถเป็นข้อได้เปรียบขีดความสามารถที่จะทำให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นในอินโดนีเซียมั่นใจได้

นอกจากนี้ ชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซียมีหลายรุ่นที่เหมือนกับไทย หากผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวที่ไทยมาแล้ว ย่อมเป็นแต้มต่อในการรับงานจากผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังมีอยู่หลายประการเช่นกัน ในเรื่องแรงงาน ค่าจ้างแรงงานทั่วไปของอินโดนีเซียไม่ได้ถูกอย่างในอดีตแล้วและใกล้เคียงกับค่าแรง 300 บาทต่อวันของไทยมากขึ้น นอกจากนี้ แรงงานที่มีทักษะ อย่างเช่น วิศวกรที่เพิ่งจบการศึกษามายังมีทักษะที่ไม่เพียงพอและจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมอย่างน้อย 2-3 เดือน ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่น่าจะมีโอกาสสูงคือ กลุ่มที่เน้นการผลิตด้วยเครื่องจักรและใช้แรงงานไม่มาก

ประการต่อมา คู่แข่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจะเผชิญที่อินโดนีเซีย อาจไม่ใช่ผู้ผลิตท้องถิ่นแต่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียค่อนข้างมาก คิดเป็นร้อยละ 63 ของการลงทุนจากต่างประเทศในยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งหมด นั่นหมายความว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากไทยจำเป็นต้องมีขีดความสามารถที่ค่อนข้างสูงพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในอินโดนีเซียด้วย

อินโดนีเซียเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมากในช่วงที่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทย รวมทั้งตลาดส่งออกยังคงไม่สดใส และหากคู่แข่งของไทยอย่างอินโดนีเซียกำลังจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็คงไม่ใช่ภัยคุกคามต่อไทยอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นโอกาสของไทยด้วยเช่นกัน


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 ตุลาคม 2559 ในคอลัมน์วาระทีดีอาร์ไอ: ยานยนต์อินโดฯกำลังโต เป็นโอกาสของไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด