จับเข่าคุย วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ “ปรับวิธีคิด ปรับพฤติกรรม ปรับนโยบาย รับสังคมสูงวัย”

ปี2016-11-21

ในอีกไม่ถึง 20 ปี ข้างหน้า สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาให้ความรู้และเตรียมมาตรการรองรับเอาไว้มากมาย แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเนื่องจากตนยังไม่แก่

Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม จับเข่าคุยกับ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหนึ่งในนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสวัสดิการสังคมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่คำถามพื้นฐานที่ว่าเหตุใดสังคมไทยถึงต้องให้ความสนใจกับปรากฏการณ์สังคมสูงวัย และหากต้องเตรียมตัวรับมือ เราจะต้องปรับตัวกันอย่างไร ไล่เรียงจากการปรับตัวระดับวิธีคิด ทัศนคติ พฤติกรรม จนถึงระดับนโยบาย

……….

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัย11-22-2016 10-46-21 AM

ถ้าพูดให้ง่ายก็อยากให้จินตนาการถึงบ้านของพวกเราเอง เมื่อก่อนรุ่นปู่ย่าตายายมีลูกกันกี่คน  เราก็มักจะเห็นว่ารุ่นนั้นมีลูกได้ถึง 12 คน ถัดมารุ่นพ่อแม่เราอาจจะมีสัก 3-5 คน พอรุ่นเราก็อาจมี 1-2 คน หรือไม่มีเลย เมื่อมองภาพอย่างนี้เราก็เห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง แนวโน้มการมีลูกแต่ละรุ่นลดลง นี่แค่ปรากฏการณ์ระดับครอบครัว แต่ถ้าทุกบ้านเป็นกันหมด ทั้งประเทศก็เป็นแบบนี้ นั่นหมายถึงอะไร

ปรากฏการณ์นี้บอกเราว่าเมื่อรุ่นปู่ย่าตายายแก่ จะมีลูก 5 คนคอยช่วยดูแลพวกเขา แล้วพอถึงรุ่นพ่อแม่เรา ถ้ามีลูกคนเดียว ก็แทบไม่ได้อะไรกลับคืนเลย เพราะสัดส่วนลูกต่อพ่อแม่แค่ 1 ต่อ 2 เวลาลูกต้องพาพ่อแม่ไปหาหมอหรือต้องดูแลหากพ่อแม่ทำงานไม่ได้ นั่นคือภาระหนักสำหรับลูกๆ  แล้วยิ่งรุ่นหลังๆ ที่ไม่ค่อยคิดอยากมีลูกกัน เราก็จะไม่มีใครให้พึ่งพิงยามแก่ แบบนี้ลำบาก ฉะนั้น นี่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราต้องมีการเตรียมตัว การเตรียมตัวไม่ได้ทำได้เพียงชั่วข้ามคืน เราในฐานะที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจความเสี่ยงของเราเอง เพื่อรับมือสถานการณ์ในวันข้างหน้า

ในอนาคตผู้สูงวัยจะเผชิญความเสี่ยงหลายรูปแบบ อาจารย์คิดว่าผู้สูงวัยในพื้นที่ต่างๆ จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันอย่างไร

ผู้สูงอายุทุกคนมีความเสี่ยงคล้ายกันหมด แต่ในเรื่องการเตรียมตัวเพื่อลดความเสี่ยงจะแตกต่างกันตามความตระหนักของแต่ละคน เช่น เงินออมของเขามีมากแค่ไหน หรือช่องทางรองรับความเสี่ยงมีมากไหม เมื่อเราเป็นคนสูงอายุ เราจะทำงานไม่ได้ แต่ต้องกินต้องอยู่ หากเราเป็นแรงงานในระบบ อย่างน้อยก็ยังมีกลไกบังคับทุกเดือน นั่นคือเงินเดือนจะถูกหักเข้าประกันสังคมตามที่รัฐกำหนดไว้ นอกจากนี้ เราก็สามารถออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เอกชนจัดขึ้นได้ พอเราเกษียณอายุ ก็จะได้ใช้เงินออมส่วนนี้ กลไกเหล่านี้เป็นตัวลดความเสี่ยงให้เรา ทำให้อย่างน้อยที่สุด เราพอมีเงินที่จะซื้ออาหารได้

ในขณะคนทำงานในภาคเกษตรจะคุ้นเคยกับครอบครัวขนาดใหญ่ เขาอาจลืมคิดไปเลยว่าวันหนึ่งมันจะลำบาก เพราะลูกหลานย้ายออกจากชนบทเข้าเมือง แล้วก็ไม่โผล่หน้ากลับมา คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยเตรียมการไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง แม้กระทั่งในโรงเรียนก็ไม่เคยบอกวิธีรับมือเรื่องพวกนี้ ว่าถ้าต่อไปเขามีลูกน้อยลง แล้วลูกจะมาดูแลเขาน้อยลง ต้องดูแลตัวเอง สิ่งแวดล้อมทั้งหลายไม่ได้หล่อหลอมให้คนต้องเตรียมตัว วัฒนธรรมที่หล่อหลอมพวกเขาไม่ได้ใส่ใจโจทย์เหล่านี้ จึงทำให้ต้องเผชิญความเสี่ยงในยามแก่หนักหน่วงขึ้น

วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของเรามีผลไหม

ใช่ เวลาเรามีลูกก็จะลงทุนกับการศึกษาของลูก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ลงทุนจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหลือเงินเก็บไว้ให้ตัวเอง เหมือนพวกเขาคิดว่าการลงทุนเรื่องการศึกษาของลูกยังไงก็มีแต่ได้ แต่จริง ๆ แล้ว โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างแพงขึ้นตลอด ผลตอบแทนจากการศึกษา (return on education) ของลูกที่กลับคืนสู่พ่อแม่มันน้อยมาก หรือขาดทุนก็ว่าได้ ในขณะที่ วัฒนธรรมต่างประเทศ พ่อแม่จะมีวิธีการออมเงินต่างจากคนไทย เขาจะจัดสรรเงินส่วนแรกไว้ส่งให้ลูกเรียน ซึ่งโดยมากก็ส่งเรียนถึงแค่ระดับมัธยมปลายเท่านั้น ส่วนที่สองเก็บไว้สำหรับพวกเขาเอง นั่นคือ เขาคิดถึงลูกและตัวเองไปพร้อมๆ กัน

ที่อาจารย์เล่ามาคือสิ่งที่เรียกว่า ความรู้พื้นฐานทางการเงิน หรือ financial literacy ใช่ไหม 

ก็นับเป็นส่วนหนึ่งได้ แต่คำว่า “financial literacy” จะมีความหมายครอบคลุมกว่านั้น นั่นคือ นอกจากรู้เรื่องการเงินแล้ว ยังต้องรู้จักจัดการเงินในปัจจุบัน และวางแผนเพื่ออนาคตของตัวเอง โดยการวางแผนทางการเงินต้องดูให้ครอบคลุมทั้งวงจรชีวิต (life cycle) ของเรา ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยาก ในต่างประเทศกว่าที่เขาจะปลูกฝังเรื่องพวกนี้ได้ก็ต้องใช้เวลานานหลายรุ่น

ต่างประเทศมีวิธีการปลูกฝัง financial literacy อย่างไร

เขาไม่ได้ปลูกฝังด้วยวิธีการให้ความรู้อย่างเดียว แต่เขาสร้างระบบเพื่อออมเงินแบบต่างๆ ขึ้นมารองรับด้วย อย่างในยุโรปช่วงปี 1880 เขาเริ่มทำระบบการออมแบบประกันสังคมและประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทุกประเภท เริ่มทำตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย ฉะนั้น ต่างประเทศเลยมีเวลาให้ประชาชนเตรียมตัวนาน แต่ของบ้านเราเพิ่งจะใช้ระบบนี้ได้ไม่นาน ประกอบกับโครงสร้างประชากรของเราก็เปลี่ยนแปลงเร็วจนประชาชนปรับตัวไม่ทัน มันเลยเป็นปัญหา

แล้วปัญหาที่ว่านี้ หน้าตามันเป็นอย่างไร

ขอเริ่มด้วยปัญหาระดับครัวเรือน ในวงจรชีวิตของเราจะทำงานได้จนถึงอายุประมาณ 55-65 ปี จากนั้นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ถึงทำได้ก็ต้องเป็นคนที่เก่งมากๆ ใช้สมองทำงาน รายได้ถึงจะไม่ลด คนแบบนั้นมีน้อย คนส่วนใหญ่เมื่อแก่จะทำงานไม่ได้แล้ว รายได้ก็ลดลงโดยปริยาย ดังนั้น ความเสี่ยงหรือปัญหาทางการเงินระดับครัวเรือนที่เราต้องเจอ ประการแรกก็คือ ความเสี่ยงด้านรายได้ ทุกคนจะเจอเหมือนกัน เพราะสุขภาพแย่ลงทำให้หาเงินได้ยาก ในขณะเดียวกันก็จะเกิดความเสียงที่สองคือ ความเสี่ยงจากการใช้จ่าย เพราะยิ่งแก่ก็ยิ่งใช้จ่ายเพื่อสุขภาพมากขึ้น เท่ากับว่าผู้สูงอายุจะมีเงินในกระเป๋าติดลบต่อเนื่อง ขณะที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สุดท้ายก็จะล้มละลายในตอนแก่

ในแง่ระดับมหภาคหรือประเทศ ภาพรวมก็เผชิญความเปลี่ยนแปลงคล้ายกับระดับครัวเรือน ถ้าภาครัฐไม่ได้เตรียมการตรงนี้ เช่น ไม่มีระบบสวัสดิการอะไรมารองรับเลย ขณะที่ผู้สูงอายุก็ไม่ได้เตรียมตัวอีกด้วย สิ่งที่เราจะเห็นก็คือปัญหาสังคม ผู้สูงอายุจำนวนมากอยู่อย่างเดือดร้อน ญาติและเพื่อนของผู้สูงอายุก็ต้องไปดูแลผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน แต่ทุกคนในสังคมจะเดือดร้อนกันหมด

เรื่องนี้ใหญ่มาก เราควรเตรียมตัวรับมืออย่างไร

ถ้าจะพูดแบบครอบคลุม  สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมตัวเรื่องการเงิน สุขภาพ และการดูแลหลังเกษียณ คราวนี้จะให้ทุกอย่างมาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเตรียมตัวของแต่ละคน ก็จะยาก เพราะว่า สำหรับสังคมไทยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ในขณะที่ต่างประเทศเขาดิ้นรนและเรียนรู้กันมาหลายปี ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเข้ามามีส่วนในการที่จะเซ็ตระบบให้เกิดขึ้น ภาครัฐต้องเข้ามาบอกว่าความเสี่ยงต่างๆ ตามที่อธิบายไปจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและสังคมโดยรวม เราต้องเตรียมตัว แล้วก็ไม่ใช่มาบอกเฉยๆ รัฐต้องสร้างกลไกให้ทุกคนเตรียมตัวด้วย ถ้าคนยังไม่เตรียมพร้อมอีก รัฐก็ต้องเพิ่มแรงจูงใจ เช่น ถ้าเป็นแรงงานในระบบ ก็ต้องเซ็ตระบบด้วยการบังคับออมเงิน แต่รัฐก็ต้องอธิบายให้ชัดว่า ที่บังคับไม่ได้คิดจะเอาเปรียบประชาชน แต่นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้รับกลับคืนในอนาคต

ในขณะที่การเตรียมตัวสำหรับแรงงานนอกระบบจะยากกว่า เพราะว่าบังคับกันไม่ได้ รัฐก็ต้องพยายามสร้างแรงจูงใจ เช่น การตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้คนทั่วไปมาออมแล้วรัฐก็ช่วยสมทบ ซึ่งอันนี้ก็คือกลไกที่สร้างไว้ให้ทุกคนเข้าถึงระบบบำนาญ คราวนี้จะกระตุ้นยังไงให้คนจำนวนมากที่ยังไม่ได้คิด เริ่มคิดแล้วหันมาออม ตรงนี้ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มันมีหลายปัจจัยซึ่งต้องคิดกัน

ดูเหมือนว่ากองทุนการออมแห่งชาติจะยังไม่สามารถจูงใจให้คนหันมาออมเงินเท่าที่ควร มันเป็นเพราะอะไร

ถามว่าคนทั่วไปรู้จักไหม เขาไม่รู้จักแน่ๆ แต่ที่น่าแปลกใจคือ นักข่าวเองซึ่งต้องติดตามข่าวอยู่ตลอดเวลาก็ยังไม่รู้จัก อันนี้มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก น่าจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ของกองทุนที่ไม่ทั่วถึง      

หรือว่าเป็นเพราะปัจจุบัน คนสนใจทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

ถ้าหมายถึงต่างคนต่างไปซื้อประกันชีวิตจากเอกชน แบบนั้นก็ทำได้นะ ใครมีกำลังก็ซื้อไป ไม่มีปัญหา แต่รู้ไหมว่าในระบบ กอช. รัฐช่วยจ่ายเงินสมทบให้คุณด้วย หากคุณยังทำงานได้อยู่ ออมเงินในกองทุน 100 บาท ทุกเดือน รัฐจะสมทบให้คุณอีก 50 บาท แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้สูงอายุแล้ว รัฐจะสมทบเงินเป็นเท่าตัวของเงินที่คุณออมไป คุณไม่อยากได้หรือ

โดยพื้นฐานประชนทุกคนควรที่จะออมเงินไว้ในหลายๆ กองทุน เพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ถ้าอย่างน้อยที่สุด ถ้าออมในระบบ กอช. เอาไว้จะดีมาก เพราะกองทุนนี้ถูกออกแบบมาช่วยรองรับคนส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้ไม่สูงนัก

แต่อาจมีคนบอกว่าจะไปออม กอช. ให้เสียเงินตัวเองทำไม ในเมื่อมีเบี้ยยังชีพที่จ่ายให้เราฟรีๆ ตอนสูงอายุอยู่แล้ว

นี่เป็นวิธีคิดที่ผิดถนัด เพราะว่าเบี้ยยังชีพใช้เงินจากงบประมาณของรัฐ ลองมองภาพในอนาคตว่าคนทำงานและต้องเสียภาษีจะมีจำนวนน้อยลง คนสูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับเงินเบี้ยยังชีพที่ให้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 600 บาท เป็น 700 บาท จนปัจจุบันจะแตะ 900 บาทอยู่แล้ว ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เงิน 900 บาทคงไม่พอใช้อีกต่อไป เบี้ยยังชีพที่ให้ผู้สูงอายุก็ต้องปรับขึ้นไปอีกเพื่อให้พอใช้ ใครจะหลังแอ่นละ มันก็คือคนวัยทำงานนั่นแหล่ะ หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ระบบก็จะล่ม เราเลยคิดว่า เพื่อเตรียมพร้อม มันไม่ควรมีแค่เบี้ยยังชีพ เพราะไม่รู้ว่าจะยั่งยืนไปถึงไหน เมื่อทุกคนรู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะแก่ เพราะฉะนั้น ทุกคนควรร่วมรับผิดชอบความแก่ของตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกให้หลานมารับผิดชอบ มันจึงเกิดแนวคิดเรื่อง กอช. ขึ้น นั่นคือ ทุกคนรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง โดยที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วย เพราะฉะนั้น ในอนาคตถ้าระบบเบี้ยยังชีพล้ม ก็ยังมี กอช. มาช่วยเสริม

ปัจจุบันหลายคนอยากออม แต่แค่กินใช้เดือนต่อเดือนเงินก็หมดแล้ว ไม่พอออมหรอก อาจารย์จะว่าอย่างไร

นั่นเป็นความคิดของแต่ละคน คนที่บอกว่ารายได้ไม่พอใช้ ดิฉันเคยเห็นบางคนเดินจากคอนโดไปรถไฟฟ้าแค่ 300 เมตร เขาขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จ่ายกัน 10 – 20 บาท เดือนหนึ่งมี 30 วัน ก็มากนะ เงินตรงนั้นสามารถเอามาออมใน กอช. ได้สบาย ดังนั้นถ้าอยากมีเงินออม ทำได้ง่ายมาก ขอแค่อดใจและไม่เสียเงินกับเรื่องที่ไม่ควรจะเสีย คุณก็จะมีเงินเหลือไว้ออม คุณเดินแค่ 300 เมตร สุขภาพคุณก็ดีขึ้นด้วย

มันยังมีปัจจัยอื่นอีกไหมที่ทำให้คนออมยาก

ต้องยอมรับว่ามี โดยเฉพาะคนที่จนจริงๆ ซึ่งมีไม่เกิน 10% ของประเทศ พวกเขาไม่สามารถออมเงินแต่ละวันได้เลย เพราะรายได้ต่ำจริงๆ คำถามคือจะช่วยคนเหล่านี้อย่างไร ทางแก้ก็คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาช่วยเหลือ แต่อาจจะติดข้อกฎหมายเพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ผูกมัด อปท. ให้ต้องช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น อปท. สามารถคัดเลือกคนที่จนจริงได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ รู้จักคนมากที่สุด จากนั้น อปท. จะสมทบเงินให้คนละ 50 บาทต่อเดือน เพื่อออมเงินไว้ในกองทุน

ยังมีวิธีการอื่นนอกเหนือจากการออมในกองทุนไหมที่ช่วยลดความเสี่ยงของผู้สูงอายุได้        

ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือประเทศแถบยุโรป เขาใช้ระบบการกู้ยืมแบบถอยกลับ (reverse mortgage) นั่นคือ ให้ผู้สูงอายุที่มีบ้าน แต่ไม่มีเงินและต้องการใช้เงินในชีวิตประจำวัน สามารถนำบ้านไปค้ำประกันเพื่อกู้เงินตามธนาคารได้ โดยธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุเป็นรายเดือน วิธีนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยผู้สูงอายุได้ แต่ถ้าบ้านผู้สูงอายุอยู่กลางทุ่งนา ธนาคารคงไม่อยากได้ มันก็หมายความว่า การที่บ้านจะได้ราคาดีจะต้องอยู่ในโซนที่เป็นเมือง ดังนั้น ผู้สูงอายุที่มีบ้านอยู่ชนบทก็มีความลำบากในการกู้ยืม แต่ดูโดยรวม วิธีการนี้น่าจะลองเอามาปรับใช้กับไทยได้

วิธีการนี้ดูจะขัดกับวัฒนธรรมไทยที่คนเป็นพ่อแม่ต้องทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานไหม

จริง ๆ แล้ว วิธีคิดเรื่องมรดกนี้ไม่ค่อยดี ทำให้มีคนจำนวนมากทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่ออยากให้ลูกหลานมีมรดกเยอะๆ เพราะกลัวลูกหลานลำบาก แค่ส่งลูกหลานเรียนจบก็ควรที่จะให้พึ่งพาตัวเองได้แล้ว

คิดว่าผู้สูงอายุมีเงินอย่างเดียวจะเพียงพอสำหรับการมีชีวิตที่มีคุณภาพไหม

ไม่พอ ปัญหาสำคัญสำหรับคนสูงอายุคือ ความโดดเดี่ยว ฉะนั้น นอกเหนือจากเงินแล้ว ผู้สูงอายุยังต้องการเพื่อนอีกด้วย นอกจากจะมีไว้คลายเหงาแล้ว ยังมีไว้เพื่อคอยดูแลกันด้วย ในต่างประเทศเราจะเห็นว่าผู้สูงอายุที่ตายอยู่ในบ้านคนเดียวมีเยอะขึ้น เพราะอยู่คนเดียว ไม่มีใครช่วยดูแล นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีระบบ SOS ที่ดี ผู้สูงอายุก็จะลำบาก บางทีการที่เป็น stroke แล้วอยู่คนเดียวในบ้าน ในที่สุดเขาก็จะกลายเป็นอัมพฤกษ์ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ อาจต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดระบบดูแลผู้สูงอายุ  ประเทศสิงคโปร์เขาทำนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุจับคู่และอยู่ด้วยกัน โดยทางการจะลดภาษีที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาช่วยกันดูแลในยามแก่ แต่ก็มีปัญหาบ้าง เพราะบางคู่อาจจะทะเลาะกัน จนไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่ไม่เป็นไร ทางการเขาก็จะจับคู่ให้ใหม่ นี่เป็นทางแก้ของเขา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น

ถ้าเป็นในกรณีของไทย อปท. ควรเข้ามาดูแลตรงนี้ คือ การสร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็งและสามารถช่วยดูแลคนแก่ได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อมีเหตุฉุกเฉินกับผู้สูงอายุ จะมีระบบที่ดีคอยรองรับเอาไว้

มีเงิน มีเพื่อน มีชุมชน ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการลดความเสี่ยงของผู้สูงอายุแล้วใช่ไหม

ยังค่ะ ยังมีอย่างอื่นอีกนั่นคือ ตัวผู้สูงอายุเอง ปัจจุบันสาเหตุการตายของผู้สูงอายุมาจากโรคเรื้อรังเป็นหลัก นั่นพอจะบอกได้ว่าผู้สูงอายุเป็นโรคเรื้อรังกันมาก โดยค่ารักษาเยียวยาโรคเรื้อรังก็มหาศาล รายได้ของผู้สูงอายุต่อเดือนที่มีประมาณ 4,000 บาท จึงไม่พอที่จะใช้จ่ายได้ ถึงมีพอใช้จ่าย ก็ไม่เหลือเงินไปกินไปใช้ต่อได้อย่างสบาย สภาพความเป็นอยู่ตอนแก่จึงย่ำแย่

ดังนั้น ถ้าอยากให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพ พวกเขาก็ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยต้องเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วัยหนุ่มสาว โดยภาครัฐควรมีระบบจูงใจให้แรงงานวัยหนุ่มสาวดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ปัจจุบัน ระบบประกันสังคมเองก็ยังไม่มีสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพประจำปีแบบไม่เสียเงินที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนวัยทำงานไปตรวจสอบและรักษาสุขภาพตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ในอนาคต จำนวนคนทำงานจะลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้น เงินที่เศรษฐกิจสร้างได้จะไม่พอหล่อเลี้ยงผู้สูงอายุ ทางออกของปัญหานี้คืออะไร

มีอยู่หลายทาง หนึ่งในนั้นก็คือ แรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในบ้านเราเยอะมาก ซึ่งพวกเขาก็ช่วยทำให้เศรษฐกิจเราเติบโตได้ อันนี้คือโอกาส หากเราให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาช่วยทดแทนกำลังแรงงานของเราที่เสียไป ก็จะทำให้กลไกทางเศรษฐกิจของเราสร้างรายได้มากพอที่จะหล่อเลี้ยงสังคมสูงวัยได้

ทีนี้ ทัศนคติของคนไทยที่มีความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง มักไม่ค่อยยอมรับการเข้ามาของแรงงานเพื่อนบ้าน ทำให้อยู่ร่วมกันไม่ค่อยได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วในอดีต ชาติไทยพัฒนามาได้ก็เพราะแรงงานจากต่างประเทศ ดูอย่างคนจีนที่เคยอพยพเข้ามาทำงานสร้างเมืองให้กับเรา จนกระทั่งออกลูกออกหลานกลมกลืนกับคนไทยทั่วๆ ไป จนแยกไม่ออกว่าคนไหนไทยแท้ คนไหนไทยปนจีน และปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนน่าจะเกินครึ่งของประเทศได้แล้ว ตอนนี้รัฐมักมองในกรอบเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ ถ้าหากคนไทยก้าวพ้นทัศนคติพวกนี้ไปได้ ก็จะทำให้สร้างโอกาสพัฒนาประเทศ สร้างรายได้จากแรงงานเพื่อนบ้านได้

ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย รัฐควรส่งเสริมการมีลูกด้วยไหม

ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดิน มันก็ใช่ แต่ปัจจุบันยากมากที่จะทำให้คนอยากมีลูกมากขึ้น มีหลายเรื่องที่ต้องคิดว่าการมีลูกตอบโจย์อะไรบ้าง คนยุคนี้คิดถึงความเป็นอิสระเสรี ไม่อยากมีภาระ อยากอยู่คนเดียว การไปบอกให้มีลูกจึงไปขัดแย้งกับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ อีกประเด็นคือ เราไม่จำเป็นต้องมีคนงานเยอะ เพราะกำลังจะมีหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนที่เต็มไปหมด ดังนั้น มันจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีลูกเพื่อมาทดแทนให้จำนวนคนเท่าเดิม ปัจจุบันก็เริ่มไม่แน่ใจกันแล้ว เพราะหากมีลูกออกมากัน ปรากฏว่าหุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานพวกเขากันหมด ประชากรที่เกิดมาใหม่ก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตอีก เราจึงไม่รู้ว่าสัดส่วนจำนวนประชากรที่เหมาะสมคือเท่าไหร่กันแน่

การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้เกิดความท้าทายมากมาย แต่หากมองอีกมุม มันสร้างโอกาสใหม่สำหรับคนทั่วไปบ้างไหม

เราสามารถมองให้เป็นโอกาสได้ มันจะมีธุรกิจใหม่เกิดใหม่กับคนกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้น เรารู้ว่าในเชิงกายภาพ ผู้สูงอายุแย่ลงทุกประการ เรารู้ว่าการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุเกิดขึ้นจากเหตุอะไร เพราะฉะนั้นธุรกิจใหม่ๆ ก็จะมาเกี่ยวข้องกับอุปสงค์ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล ต้องนอนเตียงเยอะขึ้น  ในที่สุดผู้สูงอายุก็จะต้องการมากกว่าผ้าอ้อมเด็ก การช่วยเหลือก็จะมากขึ้น นี่คือธุรกิจใหม่ที่จะเกิด ใครปรับตัวได้เร็วก็จะสามารถแย่งตลาดนี้ได้

ถ้าหากสังคมไทยไม่คิดจะปรับตัว ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว เงินจำนวนมากถูกนำไปใช้เพื่อโอบอุ้มคนแก่ มันจะเกิดความขัดแย้งระหว่างรุ่นไหม

ตอนนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น เด็กรุ่นใหม่เกลียดคนแก่ ก็คือมันเริ่มมาจากระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นในช่วง 1970 รัฐบาลยุคนั้นชอบดำเนินนโยบายประชานิยมกับคนสูงวัยในแง่ของสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลหรือด้านบำนาญ เงินจำนวนมากถูกใช้เพื่อจ่ายค่าสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ จนงบประมาณเริ่มติดลบกลายเป็นหนี้ แล้วในปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุมีมากขึ้นกว่าเก่า ค่าใช้จ่ายและหนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ประเทศมีหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบจะล้มละลาย คนรุ่นใหม่ก็รู้ว่าปัญหาหนี้มหาศาลเกิดจากอะไร ก็มีความรู้สึกเคืองกันระหว่างรุ่นบ้าง แต่ว่าไม่ได้รุนแรงถึงขั้นไปทำร้ายอะไรกัน

แต่บางกรณีก็มีความขัดแย้งที่ชัดเจน นั่นคือ การที่คนแก่มีความสุขเกินหน้าเกินตาคนรุ่นใหม่ เช่น ในขณะที่คนรุ่นใหม่มัวแต่ทำงานเพื่อจ่ายภาษีเลี้ยงดูคนแก่ คนแก่กลับนำเงินภาษีเหล่านั้นไปใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่สมควร อย่างการเอาเงินไปเที่ยวแบบสุรุ่ยสุร่าย หรือการไปใช้สิทธิหาหมอฟรี โดยที่ตัวเองไม่ได้ป่วยจริง แต่เพราะอยากหาเพื่อนคุย คนรุ่นใหม่เห็นแล้วรู้สึกแค้น ว่าทำไมพวกเขาต้องจ่ายเงินให้คนพวกนี้ เมื่อเกิดปัญหานี้ก็ต้องมีการปรับตัว ต่อมาทางการจึงกำหนดให้ผู้สูงอายุใช้บริการอะไรก็ต้องร่วมจ่ายบ้าง ไม่ใช่ใช้ฟรีทุกอย่าง เช่น คนแก่ก็ต้องจ่ายค่าหมออย่างน้อย 10% เป็นต้น

สังคมเราไม่น่ามีความขัดแย้งระหว่างรุ่นถึงขั้นทำร้ายกันได้หรอก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเราคงมีจริยธรรมมากพอที่จะไม่เดินไปทุบคนแก่ ศีลธรรมและจริยธรรมของมนุษย์ยังมีอยู่ มันคงไม่ถึงขั้นนั้น ก็อาจจะเป็นแค่ความรู้สึกที่ว่าคนแก่ดูเป็นภาระ

ฉะนั้น คนที่จะเป็นผู้สูงอายุก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง


 

หมายเหตุ เผยแพร่ ครั้งแรก ที่ Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2559 ในชื่อ  สัมภาษณ์: จับเข่าคุย วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ “ปรับวิธีคิด ปรับพฤติกรรม ปรับนโยบาย รับสังคมสูงวัย”