จับชีพจรเศรษฐกิจไทย Q3 ยืนเหนือ 3%

ปี2016-11-22
11-28-2016 11-40-49 AM
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ ทีดีอาร์ไอ

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/2559 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อด้านท่องเที่ยว แต่ก็ไม่มีผลกระทบอะไรรุนแรงมาก รวมถึงตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้นกว่าคาด โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.และ ก.ย.

ส่วนตัวมองว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จีดีพีขยายตัว 3.4% จึงคาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะทำได้ 3% โดยไตรมาส 3 ก็น่าโตเกิน 3% ซึ่งเป็นไปตามที่ประมาณการจีดีพีปีนี้โตที่ 3.2% โดยส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 0-1% หลังจาก 9 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกติดลบ 0.7% ถือว่าติดลบน้อยลงแล้ว และน่าจะทำให้ภาพรวมทั้งปีเป็นบวกขึ้นมาได้ ดร.กิริฎากล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญอยู่ และจะมีการส่งออกที่เป็นบวกเข้ามาสนับสนุน โดยคาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 1.0-1.5% และจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.4% จากปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.2% โดยยังมีเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรก โดยเฉพาะปัจจัยนายทรัมป์เป็นประธานาธิบดี จะส่งผลกระทบทั้งด้านตลาดเงิน-ตลาดทุน ด้านการค้าและการลงทุน

โดยด้านตลาดเงินตลาดทุนจะเกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งนายทรัมป์ประกาศใช้นโยบายการคลัง จะดันเงินเฟ้อสูงขึ้นและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยทั้งในเดือน ธ.ค. 2559 นี้ และในปีหน้าอีกระลอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีหลังรู้ผลเลือกตั้งคือตลาดเงินตอบสนองเร็วมากโดยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (10-17 พ.ย.) เงินลงทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาก เกิดความผันผวนและความไม่แน่นอนในตลาดเงินสูงมาก ดังนั้นสำหรับผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกก็ควรทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ดร.กิริฎากล่าว

  กีดกันการค้า เหรียญ 2 ด้าน

สำหรับผลกระทบด้านการค้าและการลงทุน ยังต้องดูนโยบายเป็นรายตัวว่า ส่วนใดทำได้เลยหรือส่วนใดต้องเข้าสภาคองเกรส ต้องใช้เวลาเท่าไร หรือกรณีที่นายทรัมป์ระบุว่า จะขึ้นภาษีนำเข้า 40% คาดว่าจะทำได้ยากเพราะจะขัดกับความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และอีกด้านหนึ่งจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐแพงขึ้น คนอเมริกันจะรับได้หรือไม่ แต่นายทรัมป์อาจใช้มาตรการกำแพงที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) เช่น จัดการกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าที่จงใจทำให้ค่าเงินอ่อนเพื่อเพิ่มการส่งออก เป็นต้น

เรื่องที่คาดว่า สหรัฐจะกีดกันการค้ากับจีน ก็มี 2 ด้านของเหรียญให้มอง คือ ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ไทยส่งออกไปจีนจะลดลง แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้โรงงานที่เคยตั้งในจีน หันมาลงทุนในอาเซียนและไทยมากขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างจากปีที่ผ่านมา ที่จีนถูกสหรัฐกล่าวหาทุ่มตลาดยางและเพิ่มข้อจำกัดยางจีนที่ส่งเข้าไปสหรัฐ จนทำให้มีโรงงานผลิตยางจีน 3-4 ราย ย้ายเข้ามาตั้งโรงงานในไทยแทน เป็นต้น ดร.กิริฎากล่าว


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 22 พ.ย. 2559 ในชื่อ จีดีพี Q3 ทะลุ 3% กูรูชี้ ปีหน้าสารพัดปัจจัยลบ