เน้นสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ทางออกจัดการน้ำ ทีดีอาร์ไอแนะทางอื่นแก้ปัญหาระยะยาว

ปี2016-11-07

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ทีดีอาร์ไอ ติดตามผลการปรับตัวหลังน้ำท่วม 54 พบการแก้ปัญหาแยกส่วน ยังเน้นแต่สิ่งปลูกสร้าง ไร้พื้นที่ให้น้ำอยู่ ส่งผล คน ระบบนิเวศเผชิญผลกระทบระยะยาว แนะใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างมาแก้ปัญหา ยกกลไกราคาที่ดิน ภาษีป้องกันน้ำท่วมเป็นตัวอย่าง ย้ำหนทางแก้ไขทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิดการบูรณาการการจัดการน้ำและที่ดินทำไปพร้อมกันทั้งระบบ

การประชุมระดมความคิดเห็น “เมืองกับการจัดการน้ำ” โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ International Development Research Centre (IDRC) ที่ผ่านมา มีข้อเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเห็นตรงกันว่า ต่างฝ่ายไม่ควรแก้ปัญหาเรื่องน้ำและพัฒนาเมืองแบบแยกส่วน อีกทั้ง การเน้นแต่สิ่งปลูกสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมจะสร้างผลกระทบระยะยาว ควรใช้เครื่องมือใหม่ๆ เช่น เก็บภาษีในเขตป้องกันน้ำท่วม นำไปชดเชยพื้นที่รับน้ำ หรือกลไกราคาที่ดิน มาช่วยแก้ปัญหา และที่สำคัญต้องให้ทุกภาคส่วน ได้มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาควบคู่กับเรื่องผังเมืองและที่ดิน เพื่อร่วมกันจัดสรรพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมให้ชัดเจน

NRE_Seminar-9
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ อธิบายว่า ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากในภาวะวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการบริหารจัดการน้ำแบบกระจายอำนาจ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการแบบต่างคนต่างทำ

ส่วนการปรับตัวหลังอุทกภัยปี 2554 ทั้งภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม ชุมชนเมือง และหน่วยงานภาครัฐ ยังคงเน้นแต่สิ่งก่อสร้าง  ซึ่งจากการวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า รัฐบาลยังละเลยการพัฒนากฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือกระบวนการด้านการจัดการน้ำ และการควบคุมการใช้ที่ดินในทุกระดับการปกครอง ขณะเดียวกัน สิ่งก่อสร้างบางอย่าง ยังทำให้น้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น หรือไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ เช่น การสร้างเขื่อนกั้นในคลองหรือแม่น้ำ ทำให้ลดพื้นที่น้ำไหล หรือการสร้างกำแพงยักษ์ริมแม่น้ำ ทำให้น้ำยกตัวขึ้น กรณีนี้จึงต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดการที่ดิน ที่ยังเป็นปัญหาระยะยาว ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขร่วมด้วย เนื่องจากการขยายตัวของเมืองที่มีจำนวนอาคาร บ้านเรือนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่จำกัด ส่งผลให้ไม่มีที่ให้น้ำอยู่

ตามภาพตัวอย่างพัฒนาการของเมืองเปรียบเทียบผังเมืองในอดีต และผังเมืองที่มีพื้นที่รับน้ำกับผังเมืองที่ไร้การออกแบบพื้นที่รับน้ำในปัจจุบัน ที่ท้ายสุดเกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย เพราะสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ

Water-change

 


ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง นโยบาย แผน หรือโครงการการจัดการน้ำหลังวิกฤติน้ำท่วม ปี 2554 ยังเน้นการก่อสร้าง และให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ที่ดินและการปรับเปลี่ยนด้านกฎกติกาน้อยมาก  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนการใช้ที่ดิน  ข้อเสนอสำคัญคือ ให้มีการวางแผนและนโยบายระดับภาค เชื่อมโยงระดับท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และแผนระยะยาว ระยะกลางและระยะสั้น รวมถึง การพัฒนามาตรการด้านผังเมือง และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้ที่ดินและการก่อสร้างที่ชัดเจน

ด้าน ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง การดำเนินการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องสร้างกลไกการทำงานที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์

NRE_Seminar-2
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซ้าย) – ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ (ขวา)

“การบริหารจัดการ ควรดูว่าเรื่องไหนควรจัดการแบบรวมศูนย์หรือแบบกระจายอำนาจ เมื่อถึงเวลาจะคิดหาแนวทางป้องกันน้ำท่วม ไม่ควรแยกเป็นรายจังหวัด ควรเอาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มาเป็นเกณฑ์ เพื่อป้องกันปัญหาพื้นที่รับน้ำเฉพาะพื้นที่ รวมถึง การกำหนดสิทธิ์ หรือการกำหนดเขตพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม ควรออกกฎหมาย ประกาศหรือกำหนดเขตพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมให้ชัดเจน มีความโปร่งใส และกำหนดวันและเวลาที่จะปล่อยน้ำที่แน่นอน เพื่อจะให้เกิดกลไกอื่นๆ สามารถทำงานได้ชัดเจนตามมาด้วย”

ดร.อดิศร์ เสนอวิธีการจัดการน้ำด้วยโครงสร้างภาษีน้ำท่วมเป็นทางเลือก โดยการเก็บภาษีน้ำท่วมจากพื้นที่ในเขตที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม และนำเงินรายได้ไปจ่ายให้กับพื้นที่ที่ถูกทำเป็นแหล่งรับน้ำ เพื่อให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินงานเช่นนี้อาจต้องทำโดยรัฐบาลกลาง เพราะต้องมีการถ่ายโอนเงินข้ามเขตจังหวัด ลำพังการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถกระทำได้ แต่ในอีกทางหากมีการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องพื้นที่และเขตน้ำท่วมที่ชัดเจนแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะมีผลต่อราคาที่ดิน ก็สามารถใช้กลไกราคาที่ดินได้ โดยไม่ต้องมีการเก็บภาษีน้ำท่วมก็เป็นได้

“พื้นที่ไหนก็ตาม ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม ผู้คนก็จะสนใจอยากย้ายไปอยู่ในพื้นที่นั้น ทำให้ราคาที่ดินก็จะสูงขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าของราคาที่ดินนั้น ซึ่งก็จะทำหน้าที่เป็นภาษีในตัวเอง” ดร.อดิศร์ อธิบาย

ดังนั้น แนวทางจัดการน้ำต้องมาควบคุมการพัฒนาการใช้ที่ดินในระยะยาว และจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผังเมือง สร้างกฎเกณฑ์การใช้ที่ดินใหม่ เพื่อพัฒนาเมืองไปสู่เมืองน่าอยู่ สนับสนุนให้มีกฎหมายและเครื่องมือใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดิน การชดเชยที่เป็นธรรม พร้อมทั้งให้มีกระบวนการที่ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิดพัฒนาแบบบูรณาการกันทั้งระบบ