เบื้องหลังราคาข้าวตกต่ำ สู่ทางออกที่ควรจะเป็น

ปี2016-11-30

เมื่อย้อนกลับไป 5-30 ปีก่อน ประเทศไทยเคยครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ก่อนจะมาเสียตำแหน่งให้กับอินเดียเมื่อปี 2554 ตอนที่เราเริ่มโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด และในช่วงปี 2551 ราคาข้าวในตลาดโลกถีบตัวขึ้นสูงติดเพดาน โดยข้าวเปลือกพุ่งขึ้นไปสูงกว่า 14,000 บาท

แต่แล้วในวันนี้ดูเหมือนจะตรงกันข้าม ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้า เดือนธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ส่งออกข้าวซื้อข้าวสารหอมมะลิกับโรงสีในราคาตันละ 15,800 บาท หรือกิโลกรัมละ 15.80 บาท เมื่อทอนเป็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ จะอยู่ที่ตันละ 8,000 บาทเศษ ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี

1223

คำถามคือ…เกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ข้าวในปัจจุบัน?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เชิญแหล่งข่าวนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้เกียรติมาพูดคุยถึงเรื่องข้าว อาหารหลักของคนไทย โดยนักวิชาการท่านนั้น คือ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร

เกิดอะไรขึ้นกับราคาข้าวในปัจจุบัน?

ดร.วิโรจน์ ระบุว่า มาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1. ผลผลิตเยอะและสต๊อกข้าวมีมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยในช่วง 2-3 ปีก่อน เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภัยแล้งในหลายประเทศ พอมาปีนี้ลานีญากำลังเข้ามาแทนที่ ประเทศอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกในช่วงหลังได้ข้าวดีที่สุดในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา

ส่วนข้าวในประเทศไทยก็เริ่มดีขึ้นด้วย ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และด้วยความที่ตลาดข้าวเป็นตลาดที่เล็กมาก ขณะที่ผลผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 480 ล้านตัน แต่ที่ส่งออกขายกันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 ล้านตัน เพราะฉะนั้น หากผลผลิตข้าวของโลกเพิ่มขึ้น 10-20 ล้านตันก็กระทบราคาข้าวแล้ว

2.การบริโภคลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าข้าวสาลีมีราคาถูกด้วย และในประเทศไทย รวมทั้งประเทศจีน มีการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้เป็นอาหารสัตว์แทนปลายข้าวมากขึ้นด้วย “ส่วนที่หลายคนเชื่อว่า การไม่ได้กำหนดพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว

ทำให้ผลผลิตข้าวออกมาเยอะนั้น แทบจะไม่เกี่ยว เพราะว่าผลผลิตข้าวในประเทศไทยถือว่าน้อยมาก ประมาณ 4-5% ของผลผลิตโลก เพราะฉะนั้น ถ้ายกตัวอย่างประเทศที่มีผลผลิตข้าวมากที่สุดอย่างประเทศจีน หากผลผลิตเขาเปลี่ยนไปสัก 10% ก็มากกว่าข้าวที่ประเทศไทยส่งออกทั้งปีแล้ว”

กระบวนการกำหนดราคาข้าวมาจากไหน?

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ราคาข้าวส่วนใหญ่จะกำหนดกันในตลาดโลก ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้ขายและนายหน้าระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า International Trader และ International Brokers โดยพวกเขาจะทำหน้าที่แทนประเทศผู้ซื้อไปติดต่อผู้ส่งออกในประเทศต่างๆ ว่าต้องการขายข้าวในราคาเท่าไร

จากนั้นก็เสนอราคามาโดยคำนวณจากปัจจัยหลักในการกำหนดราคาข้าว คือ ผลผลิต การบริโภค และสต๊อกข้าว และปัจจัยอื่นๆ เช่น ในแต่ละประเทศชอบกินข้าวอะไร ซึ่งราคาเสนอนี้จะไปกำหนดราคาข้าวให้กับผู้ส่งออกของแต่ละประเทศและถ้าผู้ส่งออกไปรับราคาจากผู้ซื้อมา พวกเขาจะต้องไปรับซื้อผลผลิตในประเทศในราคาที่ต่ำกว่าที่รับมาเพื่อให้ได้กำไรถ้าราคาสะท้อนความเป็นจริง ราคาก็จะต่ำลงเป็นทอดๆ แต่หากผู้ส่งออกไปรับออเดอร์ในราคาที่ต่ำเกินไป ขณะที่ผลผลิตในประเทศมีน้อย ราคาข้าวก็อาจจะสูงกว่าออเดอร์ที่พวกเขารับมา และพวกเขาก็จะขาดทุน

“ถ้าถามว่า ราคาทำไมไปกำหนดจากตรงนั้น ประเทศเรากำหนดเองไม่ได้เหรอ คำตอบก็คือ โบรกเกอร์พวกนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศผู้ซื้อโดยจะไปหาดูว่าในประเทศที่ผลิตข้าวต่างๆ ประเทศใดให้ดีลที่ดีที่สุดให้เขา ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์แต่ละประเทศเป็นอย่างไรด้วย เช่น ในช่วงที่ไทยมีโครงการจำนำข้าว ข้าวไทยแพงหรือหาซื้อได้ยาก เขาก็หันไปซื้อจากประเทศอื่นแทน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าวหอมประเทศอื่นเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ถึงแม้ว่าข้าวหอมของเขาอาจจะไม่โดดเด่นเท่าข้าวหอมมะลิเรา แต่สำหรับคนกินข้าวในบางประเทศอาจจะถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก”

ในอนาคตประเทศไทยสามารถเป็นผู้กำหนดราคาข้าวได้เองหรือไม่?

การกำหนดราคาเองจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ต้องสนใจจะขายข้าวที่เหลือกินเหลือใช้ได้หมดหรือไม่ เพราะถ้าราคาที่เรากำหนดสูงกว่าข้าวประเทศอื่นอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น ข้าวขาวราคาสูงกว่าคู่แข่งเกิน 40-60 เหรียญต่อตัน (ซึ่งส่วนนี้สะท้อนคุณภาพการสีข้าวที่ดีกว่าของเรา) ผู้ซื้อก็จะหันไปซื้อจากประเทศอื่นมากขึ้น ในที่สุด เมื่อมีข้าวเหลือจากการที่ส่งออกไม่ได้ ราคาในประเทศก็จะตกลงอยู่ดี

ที่ผ่านมามีการสมคบคิดของโรงสี ที่มีผลทำให้ราคาข้าวดิ่งหรือไม่?

ดร.วิโรจน์ ตอบอย่างชัดเจนว่า ยาก! … เพราะโรงสีในประเทศไทยมีเยอะมากเป็นหมื่นโรง และการที่จะมานั่งสมคบคิดแบบนี้มันยาก และยิ่งหากไปกดราคาต่ำๆ ขณะที่ผลผลิตมีน้อย เมื่อถึงเวลาก็ต้องแย่งกันซื้อ ส่วนในอนาคตราคาข้าวจะตกต่ำกว่านี้ไหมก็ไม่แน่ แต่ปกติการกำหนดราคาข้าวจะมองเผื่ออนาคตเอาไว้ด้วยแล้ว สมมติว่าโรงสีที่สีข้าวเดือนนี้เพื่อจะขายเดือนหน้า ถ้าเขาคิดว่าราคาข้าวเดือนหน้าจะต่ำกว่าเดือนนี้เขาจะหยุดซื้อ ยกเว้นว่าเขาจะมีออเดอร์อยู่ในมือที่จะต้องรีบส่ง ซึ่งหมายความว่าเขาจะมีกำไรเมื่อคิดจากราคาข้าวเปลือกในขณะนี้

ดังนั้น ถ้าคนเชื่อว่าราคาข้าวในอนาคตจะต่ำลง ก็ย่อมจะดึงราคาข้าวในปัจจุบันให้ต่ำลงด้วยเช่นกัน

เกษตรกรขายข้าวเอง จะช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวได้หรือไม่?

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ เผยว่า ระบบเดิมของเราจะมีข้าวที่สำหรับขายออกสู่ตลาดกับข้าวที่เก็บไว้กินเอง

สำหรับข้าวที่เก็บไว้กินเอง เกษตรกรมักจะเอาไปสีกับโรงสีเล็กในพื้นที่ ซึ่งโรงสีจะได้ค่าสีเป็นรำ ปลายข้าว และแกลบ ส่วนต้นข้าว (เมล็ดข้าว) ก็คืนเกษตรกรมา แต่ว่าโรงสีเหล่านั้นมักเป็นโรงสีที่มีคุณภาพต่ำ ส่วนข้าวที่ขายกันในตลาดที่เป็นข้าวถุง จะมาจากโรงสีที่มีคุณภาพสูง มีเครื่องยิงสีราคาเป็นสิบล้านบาท ซึ่งปกติเครื่องสีขนาดเล็กหรือโรงสีขนาดเล็กจะทำคุณภาพระดับนี้ไม่ได้

วิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาคุณภาพข้าวของชาวนาอาจทำได้โดยชาวนาต้องรวบรวมข้าวจำนวนมากพอสมควรไปจ้างโรงสีที่มีคุณภาพสูงสีให้ แต่ในกรณีที่ชาวนาสีข้าวเองหรือใช้โรงสีเล็กที่มีคุณภาพต่ำ แล้วมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ยอมรับข้าวที่มีคุณภาพการสีต่ำลง ก็อาจจะพอขายได้ แต่ถ้าคิดจะขายตลาดส่งออกก็คงจะยาก และต้องไม่ลืมว่า ต่อให้ขายเองในประเทศได้หมด ก็จะขายได้เพียงครึ่งเดียวของผลผลิตข้าวทั้งหมดที่ประเทศไทยผลิตได้ ที่เหลือจะต้องส่งออกอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพึ่งระบบคนกลาง โรงสี และผู้ส่งออกอยู่แล้ว

พิษจำนำข้าวฉุดราคาตกต่ำหรือไม่?

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า โลกเคยเกิดวิกฤตการณ์อาหาร หรือ Food Crisis ในปี 2551-2552 ในช่วงนั้นราคาข้าวเปลือก (ข้าวขาว) พุ่งขึ้นไปถึง 14,000 บาท จากนั้นราคาก็เริ่มลง ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาทำโครงการจำนำข้าว ก็ส่งผลให้ชาวนาในประเทศไทยปลูกข้าวเพิ่ม แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งออกข้าว ทำให้ประเทศอินเดียถือโอกาสที่มีสต๊อกเหลืออยู่ค่อนข้างเยอะก็ปล่อยสต๊อกออกมา หลังจากนั้นสต๊อกข้าวของประเทศไทย 19 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณส่งออกในยามปกติถึงสองปี ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลกมากขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ว่าอย่างไรก็ผลิตข้าวได้เกินพอต่างกับอินเดียที่แม้ว่าจะผลิตข้าวเยอะกว่า แต่ก็มีประชากรเยอะมาก บางปีก็ข้าวเหลือ แต่บางปีข้าวก็ขาด

ฉะนั้น สต๊อกข้าว 19 ล้านตันในอินเดียจะไม่กระทบตลาดมากเท่าสต๊อกข้าว 19 ล้านตันในประเทศไทยช่วงจำนำข้าวที่ไทยเริ่มสะสมสต๊อกก็อาจจะมีส่วนช่วยดึงราคาข้าวขึ้นบ้างในช่วงแรก เพียงแต่ว่าราคาเริ่มตกตั้งแต่หลังจำนำข้าวผ่านไป 6 เดือน หลังจากที่ประเทศอื่นเร่งระบายข้าวออกมาเยอะมาก และวงการข้าวก็ทราบดีว่าประเทศไทยมีสต๊อกข้าวจำนวนมาก ที่ถ้าปล่อยออกมามากๆ เมื่อไหร่ ราคาข้าวก็จะตกลงได้ทันที ซึ่งนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวอยู่ในระดับที่ต่ำและไม่เคยโงหัวขึ้นมามากตั้งแต่หลังจากที่เราทำโครงการจำนำข้าวได้ประมาณครึ่งปี แต่อาจจะเป็นโชคดีที่ 2 ปีหลังจากนั้น ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ก็เจอภัยแล้งทั้ง 2 ปี ดังนั้น ผลกระทบจากสต๊อกข้าวของเราจึงมีไม่มากเท่าในปีนี้ ที่ผลผลิตข้าวดีทั้งประเทศไทย อินเดีย และเวียดนามด้วย!

ทำไมข้าวกล้องที่ไม่ผ่านการขัดสี ถึงมีราคาสูงกว่าข้าวขาวที่ขัดสีแล้ว?

ดร.วิโรจน์ อธิบายว่า ตลาดข้าวกล้องเล็กกว่าและการเก็บรักษาลำบากกว่าข้าวขาว ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษามีต้นทุนสูงกว่าข้าวขาว นอกจากนี้ คนทำก็พยายามทำขายตลาดบน คือตลาดของคนที่มีรายได้สูงด้วย รวมทั้งความเชื่อว่าข้าวกล้องเป็นของดีกว่า กินแล้วสุขภาพดี จึงสามารถตั้งราคาได้สูงกว่าข้าวขาว

สรุปแล้วเกษตรกรจะได้เงินเท่าไร?

ดร.วิโรจน์ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก โดยประเภทของข้าวหลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือ ข้าวนาปี ที่ปลูกแถวภาคอีสานกับภาคเหนือ ถ้าเป็นหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 350-400 กิโลกรัม และปลูกได้ปีละครั้ง ข้าวหอมมะลิราคาจะดีกว่าข้าวขาว กับข้าวนาปรัง ซึ่งในภาคกลางจะปลูกได้ 2-2.5 ครั้งต่อปี (5 ครั้งใน 2 ปี) และผลผลิตต่อไร่ประมาณ 700-800 กิโลกรัม หรือในแต่ละรอบมีรายได้เกือบ 2 เท่าของข้าวหอมมะลิ ฉะนั้น โดยทั่วไปแล้ว ชาวนาในภาคกลางจะมีรายได้มากกว่าชาวนาในภาคอีสานมากกว่า 1-2 เท่าตัว

“ผมเคยคุยกับชาวนาแถวรังสิต เขาบอกว่า ในปีแรกซึ่งรัฐบาลนี้ไม่ได้ช่วยอะไรชาวนาในภาคกลาง เขาได้กำไรเฉลี่ยไร่ละ 2,500 บาท เขามีนาทั้งหมด 40 ไร่ ก็จะได้กำไรรอบละ 100,000 บาท 1 ปี ก็ได้ 200,000 บาท แล้วเรื่องอะไรที่ผมจะเลิกปลูกข้าว จริงๆ 200,000 บาทต่อปีก็ไม่ถึงกับเยอะมาก และน่าจะรวมค่าเช่าที่ดินอยู่ในนั้นด้วย แต่ชาวนาที่เขามีที่ดินอยู่เขาก็รู้สึกว่าทำนาดีกว่าอยู่เปล่าๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่ได้แบบนั้น ภาคอีสานรายได้อาจจะน้อยกว่านี้”

ทั้งๆ ที่คนไทยกินข้าวทุกคน แต่ทำไมเกษตรกรไทยถึงจน?

นักวิชาการผู้ทำวิจัยเรื่องข้าวมากว่า 30 ปี เผยว่า ประเทศไทยผลิตข้าวเพิ่มขึ้นมาก และหากดูราคาสินค้า เกษตรแทบทุกตัวช่วง 100 ปีที่ผ่านมาปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ จะพบว่าราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกตัวตกลง เหตุผลหลักคือ ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นทั่วโลก ต้นทุนต่อหน่วยลดลงเกษตรกรจำนวนมากพร้อมที่จะรับราคาที่ต่ำลง

“ประเทศไทยผลิตข้าวเพิ่มขึ้นมาก สมัยก่อนที่ผมเริ่มทำวิจัย 30 ปีก่อน ประเทศไทยก็เป็นเบอร์หนึ่งของโลกในการส่งออกข้าวแล้ว ซึ่งเราส่งออกปีละ 2-4 ล้านตัน แต่ว่าช่วงก่อนจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราส่งออกมากเป็นประวัติการณ์เกือบ 11 ล้านตัน ตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์เราส่งออกน้อย แต่ค่าเช่านาของเราเพิ่มเท่าตัว แสดงว่าคนเข้าคิวกันเพื่อทำนามากขึ้น และในความเป็นจริงพื้นที่ปลูกข้าวของเราเพิ่มถึงร้อยละ 10”

นอกจากเราผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นแล้ว เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ คนไทยกินข้าวน้อยลงด้วย ประเทศไทยก็คล้ายกับญี่ปุ่นที่ชอบบอกว่าข้าวเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม 20-30 ปีก่อน เขากินเท่าเราประมาณ 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันเหลือ 60 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ของไทยเมื่อ 30 ปีก่อนเรากินข้าวเฉลี่ย 166 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 104 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งอีก 20 ปี ข้างหน้าอาจจะเหลือ 60 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นก็เป็นไปได้

ผลผลิตการเกษตรในญี่ปุ่นมีราคาสูง เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ไม่ผูกกับตลาดโลก ซึ่งหมายความว่า ญี่ปุ่นจะผลิตข้าวน้อยกว่าที่เขากินและใช้ เขาจึงนำเข้าข้าวเข้ามาในประเทศ เมื่อข้าวขาดเขาก็สามารถตั้งราคาสูงๆ ได้ ขณะเดียวกัน วิธีการที่ทำให้ข้าวขาดก็คือ กำหนดโควตานำเข้าข้าวไม่ให้สูงมาก และเอาเงินที่เก็บภาษีนำเข้ามาอุดหนุนเกษตรกรได้อีก

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นจำกัดการนำเข้าน้อยเพื่อรักษาราคาให้แพงในตลาด แต่ถ้าปล่อยให้นำเข้าเต็มที่ราคาข้าวที่ญี่ปุ่นก็ไม่แตกต่างจากราคาข้างนอก ส่วนผลผลิตอื่นๆ ขึ้นกับว่านำเข้าหรือไม่ ญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากสามารถหารายได้จากทางอื่นได้ดีกว่าเป็นเกษตรกร ขณะที่ ประเทศไทยพอมีโครงการจำนำข้าวคนก็แห่กันไปปลูกข้าวกัน ญี่ปุ่นสามารถตั้งราคาสูงได้ เพราะคนทำเกษตรกรน้อย ผลผลิตไม่มาก คนกินมีรายได้สูง คนทำก็มีจำนวนน้อย ก็สามารถตั้งราคาสูงได้ ต่างจากประเทศไทยที่มีคนกินรายได้น้อย คนทำมีจำนวนมาก ผลผลิตเยอะ ส่งออกด้วย

ตอนนี้ราคาข้าวเริ่มต่ำลงแล้ว ควรจะแก้ไขปัญหาเรื่องราคาข้าวอย่างไร?

ดร.วิโรจน์ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า ใครที่คิดว่าปลูกข้าวแล้วไม่คุ้มอย่าไปส่งเสริมให้เสริมให้เขาปลูก คนเมืองหรือชาวนาวันหยุดไม่ควรไปแย่งชาวนาปลูกข้าว เพราะในเมื่อรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรไม่ถึง 1 ใน 10 ก็ไม่ควรจะเก็บคนไว้เกิน 10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีเยอะอยู่แล้ว แล้วยังพยายามดันคนเข้าไปอีก เช่น โครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” ก็จะยิ่งทำให้ต้องแบ่งรายได้ที่มีจำกัดกับคนจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้ต่อคนลดน้อยลงไป

ส่วนเรื่องการจำกัดพื้นที่การเพาะปลูก สมัยก่อนในภาคกลางจะหาคนที่ทำเกิน 50 ไร่ได้น้อย แต่ปัจจุบันนี้ชาวนาที่ทำเกิน 100 ไร่มีอยู่เยอะมาก และไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง โดยส่วนใหญ่จะไปเช่าที่ดินทำกินต่อจากชาวนาที่ทำแล้วไม่กำไรหรือที่ดินที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่ทำเกษตรขนาดใหญ่ก็คือชาวนาที่ประสบความสำเร็จ

“เราไม่ต้องไปเรียกให้คนหยุดทำนา แต่อย่าไปโปรโมตให้ทำ คนที่ทำแล้วไม่ได้กำไรเขาก็หยุดเอง อย่าไปโฆษณาชวนเชื่อว่าทำเกษตรดีอย่างนั้นอย่างนี้ เกษตรไม่สามารถเป็นคำตอบสำหรับทุกคน ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้กำไร คนที่จะอยู่ได้คือเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพสูงที่พร้อมรับราคาสินค้าเกษตรที่ต่ำได้ ฉะนั้น ใครทำได้ดีก็ทำไป แต่อย่าพยายามบอกว่า ใครๆ ก็ทำเกษตรได้ หรือควรทำเกษตร เพราะมันไม่ใช่!”

คู่แข่งตลาดค้าข้าวที่สำคัญคือใคร หากพม่ามีผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้เทียบเท่ากับไทย จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร จะแย่งตลาดส่งออกหรือไม่?

ดร.วิโรจน์ อธิบายว่า ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ สินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าธัญพืช (ข้าว ข้าวโพด) พืชหัว (อย่างมันสำปะหลัง) พืชพลังงาน (รวมทั้งอ้อย) หรือแม้แต่น้ำมัน ต่างก็แข่งกันหรือมีผลกระทบซึ่งกันและกัน นอกจากฝนดีแล้ว สาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ร่วงมากในช่วงนี้ เกิดจากประเทศไทยและจีนนำเข้าข้าวสาลีเข้ามาจำนวนมากใช้ผสมอาหารสัตว์แทนปลายข้าว ข้าวโพด หรือมัน เนื่องจากราคาข้าวสาลีลดลงมาก ซึ่งการนำเข้าก็มีผลกระทบทั้งราคาปลายข้าว (ซึ่งส่งผลต่อไปถึงราคาข้าว) ข้าวโพด และมันสำปะหลัง

การมองเรื่องคู่แข่งจึงไม่ใช่แค่ว่าประเทศไหนจะหันมาส่งออกข้าวแข่งกับเราได้มากขึ้นในอนาคต เช่น พม่า กัมพูชา เท่านั้น แม้กระทั่งการปรับตัวของประเทศที่ปกตินำเข้าข้าวอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา ที่พยายามพึ่งตัวเองมากขึ้นก็ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวไทยเช่นกัน

และคู่แข่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันสำหรับข้าวก็คือพืชอื่น ดังนั้น การวางนโยบายเกษตรสำหรับอนาคตต้องคิดถึงระบบที่เกษตรกรที่จะยังประกอบอาชีพนี้ต่อไปจะต้องเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถอยู่ได้กับราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มต่ำลงในระยะยาว

“ไม่ใช่ชอบมาคิดกันแบบง่ายๆ แบบ ‘พายเรือในอ่าง’ ว่า ปีไหนข้าวหรือยางราคาไม่ดีก็เรียกไปปลูกข้าวโพด อ้อย หญ้า พืชไถกลบเป็นปุ๋ยหรือปาล์มน้ำมัน หรือมัวติดกับดักอุดมการณ์เกษตร ต้องการเพิ่มจำนวนเกษตรกรโดยการโฆษณาให้คนเมืองหันไปทำเกษตร เป็น ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ที่ไปซ้ำเติมโดยการไปแย่งอาชีพ ที่ดิน  และรายได้ที่น้อยนิดอยู่แล้วจากเกษตรกรตัวจริงซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรก็มีจำนวนมากเกินไปแล้วในชนบท” ดร.วิโรจน์ ฝากทิ้งท้าย


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกทาง ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2559 ในชื่อ ไฉนชาวนาไทยถึงจน? เปิดเบื้องหลังราคาข้าวตกต่ำ สู่ทางออกที่ควรจะเป็น!