การเปลี่ยนแปลงในตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของจีน (2)

ปี2016-12-15

กัมพล ปั้นตะกั่ว

บทความที่แล้ว ผู้เขียนได้เล่าถึงตลาดสินค้าเกษตรและอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปของจีน ซึ่งสะท้อนว่าตลาดจีนมีหลากหลายช่องทางและเปิดกว้างจนเป็นที่ดึงดูดผู้ขายจากทั่วโลก ในบทความนี้จะเล่าถึงตลาดค้าส่งอาหารทะเล ตลาดผลไม้ และร้านอาหารไทยในประเทศจีน ที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ พูดคุยกับผู้ประกอบการในประเทศจีน ซึ่งมีทั้งพ่อค้าท้องถิ่นไปจนถึงบริษัท ต่างประเทศที่เข้าไปเปิดสาขาในจีน จากการเดินทางไปยังเมืองกวางโจว ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของจีน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้าและยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและ ยุทธศาสตร์การค้า พบว่า ตลาดค้าส่งอาหารทะเลมีผู้ขายจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดเป็นผู้ค้ารายย่อยที่รับสินค้าจากผู้ผลิตมาจำหน่าย สินค้าที่จำหน่ายมีทั้งสินค้าที่ผลิตใน เมืองจีน และสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะไทยและเวียดนาม

การนำเข้าสินค้า นิยมนำเข้ามาทางชายแดนที่ติดกับประเทศเวียดนามมากกว่าการนำเข้ามาทางท่าเรือที่กวางโจว เพราะ ช่องทางการนำเข้าทางชายแดนได้สิทธิพิเศษทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าเกษตร ทำให้สามารถลดต้นทุนลง ได้มาก พ่อค้ารายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การเจรจากับโรงงานในประเทศไทยเพื่อติดต่อซื้อสินค้า นั้นจำเป็นต้องจ่ายเงินสดเต็มราคาล่วงหน้า เมื่อจัดหาสินค้าที่เมืองไทยได้แล้วก็ส่งสินค้าลงเรือไปขึ้นฝั่งที่เวียดนามก่อน แล้วจึงขนส่งทางรถบรรทุกผ่านเส้นทาง ชายแดนตอนเหนือของเวียดนามเข้าเมือง หนานหนิง โดยอาศัยว่าตนเองจดทะเบียน เป็นผู้ค้าท้องถิ่นที่เมืองหนานหนิง แต่ตลาด สำคัญจริงๆ อยู่ที่เมืองกวางโจวซึ่งมีกำลังซื้อ สูงกว่า

ลูกค้าขาประจำจะเป็นร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบเป็นอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้งขาวจากเมืองไทย และกุ้งกุลาดำจากเวียดนาม พ่อค้ารายนี้ได้แสดงสินค้าให้ดูหลายรายการ โดยพบว่าสินค้าที่นำเข้าจากเมืองไทย มักจะเป็นสินค้ากลุ่มที่ผ่านการแปรรูป หรือตัดแต่งมาแล้ว สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าวัตถุดิบ ที่ไม่ได้ตัดแต่ง นอกจากนี้ยังมีสินค้า พร้อมปรุงที่ผลิตในประเทศจีนเอง โดยคุณภาพของสินค้าที่ได้ดูทั้งหมด นั้นผู้เขียนพบว่าสินค้าของไทยยังคง มีความได้เปรียบเรื่องคุณภาพและรูปลักษณ์ที่ดีกว่าสินค้าจากเวียดนาม และบริษัทในประเทศจีน

สำหรับตลาดผลไม้ก็เป็นตลาดหนึ่งที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะผลไม้เขตร้อน ในประเทศจีนผู้นำเข้าหลายรายให้ความเห็นตรงกันว่ารายได้ที่สูงขึ้นของชาวจีน ส่งผลสำคัญให้มีอัตราการบริโภคผลไม้ต่อหัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะผลไม้ จากเขตร้อน รสชาติที่ชาวจีนส่วนใหญ่ให้ความนิยมคือ ผลไม้ที่มีรสหวาน โดยผลไม้ เขตร้อนที่ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ กล้วยหอม รองลงมาคือ สับปะรดสด สำหรับการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย ที่สำคัญยังคงเป็นลำไย ทุเรียน และ มะม่วง
อย่างไรก็ดีมีผู้นำเข้ารายย่อยรายหนึ่งกล่าวว่า ด้วยการที่อินเตอร์เน็ตจีนมีความเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ชาวจีนบางส่วน เริ่มมีการทดลองบริโภคผลไม้ที่แปลก ออกไปจากปกติมากขึ้น อย่าง ‘เสาวรส’ ได้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยมในช่วงนี้ ซึ่งเกิดจากกระแสไวรัลจากคลิปการบริโภคเสาวรสของเด็กคนหนึ่งที่พ่อแม่ซื้อเสาวรสจากตนไปทดลองบริโภค ความนิยมผลไม้ต่างประเทศในจีนขณะนี้มีสูงในระดับที่สามารถเปิดให้สั่งจองกันล่วงหน้า ส่งผลดีทำให้ผู้นำเข้าสามารถจัดการสต๊อกสินค้าได้ง่ายขึ้น

ส่วนร้านอาหารไทยในประเทศจีนนั้น ผู้ประกอบการจีนที่นำเข้าอาหารทะเลจากไทยได้พาผู้เขียนไปสำรวจ พบว่า ร้านอาหารไทยจำนวนหนึ่งที่ได้รับความนิยมนั้นมีชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนไทยเป็นเจ้าของ จากการพูดคุยพบว่าเงื่อนไขการเปิดร้านอาหารในประเทศจีนสำหรับชาวต่างชาตินั้นค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยในครัว และการสำแดงรายการสินค้าวัตถุดิบที่นำเข้ามาใช้ หากดำเนินการผิดระเบียบจะมีค่าปรับที่สูงมาก

จากการสัมภาษณ์ผู้ค้าในจีนหลายรายทั้งที่เป็นนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจไทยในจีนยังพบอีกว่า รูปแบบการเข้าไปทำตลาด ในจีนของคนไทยค่อนข้างแตกต่างจาก กลยุทธ์การเข้าไปทำธุรกิจของชาติอื่นๆ โดยนักธุรกิจไทยนิยมเข้าไปทำธุรกิจในจีนเดี่ยวๆ เพียงรายเดียวทำตลาดเล็กๆ แบบจำกัด ในขณะที่ชาติอื่นๆ มักจะมีการรวมกลุ่มเข้ามาทำธุรกิจเป็นกลุ่ม เช่น มาในรูปแบบของกลุ่มการค้า กลุ่มสหกรณ์ ซึ่งสามารถมีสินค้าที่ตอบสนองต่อตลาดจีน ได้หลากหลายทั้งคุณภาพและปริมาณ มีการเฉลี่ยต้นทุนการทำตลาด ทำให้สามารถเข้าทำตลาดได้หลากหลายช่องทาง หลายมณฑล

การเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเสียทีเดียว แม้ว่าตลาดจีนจะเปิดกว้างให้ทุกประเทศอย่างเท่าเทียม แต่ในความเท่าเทียมนั้นก็เป็นการบังคับให้แต่ละบริษัทที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด สภาพแวดล้อมนี้ หล่อหลอมให้ธุรกิจในจีนมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อผู้บริโภคชาวจีนที่จะสามารถเลือกบริโภคสินค้าและบริการได้ในราคาและคุณภาพที่เหมาะสม

การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในจีนนั้นเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ไทยอาจใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้ไทยเป็นชาติการค้าได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขัน ไปพร้อมๆ กับการสร้างมาตรฐานเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค