แนะรัฐเร่งยุทธศาสตร์ ‘ชาติการค้า’ หนุนเอกชนลงทุนอาเซียน

ปี2016-12-27

สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “อาเซียนและโอกาสทางธุรกิจของไทย” โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน เข้าร่วม

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าจากการศึกษาการค้า และการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม พบว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้ในภาพรวมอนาคตมีแนวโน้ม ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเฉลี่ย ปีละ 7-8% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทย จะขยายตัวได้ปีละประมาณ 3% เศษ เนื่องจากอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนนอกประเทศไทยมีความน่าสนใจมากกว่าการลงทุนในประเทศ

นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมในอาเซียนยังมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่เอื้อต่อ การเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ชนชั้นกลาง ในอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโต ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองใหม่ๆ โดย Economic Intelligence Unit ประมาณการว่าภายใน ปี2573 จะมีครัวเรือน ที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้นในเมืองสำคัญ ของอาเซียนเช่น จาการ์ตา อินโดนีเซีย จะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น จาก 4 ล้านครัวเรือน เป็น 12 ล้านครัวเรือน มะนิลา ฟิลิปปินส์ จะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน เป็น 7.8 ล้านครัวเรือน

12-27-2016 8-57-27 AM

ในกรุงเทพฯชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้น จาก 2.2 ล้านครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 5.7 ล้านครัวเรือน และฮานอย เวียดนาม จะมีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านครัวเรือนในปัจจุบัน เป็น 8.1 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุนมากตามการขยายตัวของ ชนชั้นกลางที่วิถีชีวิตจะปรับเปลี่ยนไปจาก ในอดีตทำให้ธุรกิจบริการ ค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชนชั้นกลางเติบโตอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าบริษัทของไทย ที่มีการขยายการลงทุนไปยังประเทศ อาเซียนและซีแอลเอ็มวีแล้วส่วนใหญ่ มีผลประกอบการที่เติบโต โดยจากบริษัทที่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 516 บริษัทมีการลงทุนในอาเซียน 123 บริษัท โดยมีการเข้าไปจดทะเบียนถือหุ้น และ ตั้งบริษัทย่อยต่างๆในอาเซียนถึง 600 บริษัท ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายทั้งพลังงานสาธารณูปโภค อาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจการค้าพาณิชย์ ปิโตรเคมี-เคมีภัณฑ์ บันเทิงและรับเหมาก่อสร้าง

“โดยเฉลี่ยบริษัทที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่เฉลี่ย 11.1% ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ลงทุน ในอาเซียน (ไม่รวมอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 8.1%”

12-27-2016 9-00-51 AM

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากโอกาสในการลงทุนในอาเซียนที่ยังคงเปิดกว้างทำให้มีความจำเป็นที่ประเทศไทยควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนของประเทศไทยในอาเซียนให้มีความชัดเจน

ในส่วนแรกจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ “ชาติการค้า” ของอาเซียนในปี 2564 และ ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% เนื่องจากที่ผ่านมาสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการส่งออกต่อจีดีพีของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 40.4% และแทบจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลย

ขณะที่หลายประเทศมีสัดส่วนมูลค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนสูงกว่าไทย เช่น สิงคโปร์อยู่ที่ 57.6% และเวียดนามอยู่ที่ 42% สะท้อนว่าการส่งออกของเราไม่ได้รับการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง

12-27-2016 9-07-36 AM

สำหรับยุทธศาสตร์โดยรวมที่ประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงเพื่อยกระดับการเป็นชาติการค้าชั้นนำของอาเซียน จำเป็นที่จะต้องวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนโดยเน้นการ ปรับวิธีการส่งเสริมการค้า-การลงทุน ในเชิงรุก มากขึ้น เช่น การวินิจฉัยความพร้อมของผู้ประกอบการว่ามีความพร้อมสำหรับทำการค้าและลงทุนในต่างประเทศมากน้อยเพียงใดโดยทั้งเรื่องทุน คุณภาพสินค้า การผลิตสิ่งของได้ตรงตามเวลา และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในเมืองหลักและเมืองรอง ที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปรับปรุงข้อมูลจัดทำฐานข้อมูลการค้าการลงทุน (Big Data) ของทุกชาติในอาเซียนเพื่อให้ผู้ประกอบการมีฐานข้อมูลที่ถูกต้องเป็นข้อมูลในการลงทุน

“ข้อเสนอหนึ่งที่เป็นรูปแบบส่งเสริม การลงทุนในต่างประเทศซึ่งประเทศญี่ปุ่น ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเจโทรใช้ได้ผลคือการให้ผู้ประกอบการไปฝังตัวในประเทศนั้นๆก่อนที่จะมีการลงทุนจริงเพื่อให้ศึกษาตลาดและประเมินความเป็นไปได้ในการส่งออก หรือการลงทุน ซึ่งประเทศไทยก็ควรมีโครงการในลักษณะเดียวกันโดยคัดเลือก ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและเข้าไป ฝังตัวในประเทศเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า โอกาสทางธุรกิจในอาเซียนนับว่ายังเปิดกว้างที่จะให้ภาคเอกชนของไทยไปลงทุน โดยธุรกิจที่ยังสามารถเข้าไปลงทุนในอาเซียนทุกประเทศได้ ประกอบไปด้วย อาหารแปรรูป การส่งออกผักผลไม้พรีเมียม สินค้าอุปโภค-บริโภคที่สินค้าไทยได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ ขณะที่โรงพยาบาล และร้านอาหารยังมีความต้องการใน เมืองใหญ่ๆจำนวนมาก ขณะเดียวกันธุรกิจที่สามารถลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้และมีโอกาสที่จะเติบโตได้มาก ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน วัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ไลฟ์สไตล์ การขนส่ง การผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อุตสาหกรรมไอที และธุรกิจการศึกษา และการฝึกอบรมบุคลากร เป็นต้น

ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวางยุทธศาสตร์และแผน การลงทุนในอาเซียนของเอกชนไทย ในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมทั้งใน กลุ่มซีแอลเอ็มวีจะต้องดำเนินการใน เชิงรุกอย่างรวดเร็วเนื่องจากในขณะนี้ ทั้งจีนและสหรัฐเตรียมที่จะใช้การค้าเป็นยุทธศาสตร์นำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจีนที่จะมีการกระจายการลงทุนไปในภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งในอาเซียนอีกมาก

นายนพพร กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยเหลือเวลาอีก 2-3 ปีเท่านั้นในการออกไปลงทุนในอาเซียนหลังจากนั้นการแข่งขันในเวทีการค้าภูมิภาคจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไทย ก็ต้องหาทางรองรับสถานการณ์ที่กำลัง จะเกิดขึ้น และสร้างสมดุลของนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนจากภายนอกประเทศ และการปกป้องการค้าและการลงทุนในประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย

“ทางรอดของประเทศไทยในการส่งออก ต้องเร่งปรับบทบาทของประเทศไทยให้เป็นชาติการค้า และวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละประเทศ และแต่ละตลาดได้ อย่าดูแต่เพียงตัวเลขว่ามูลค่าการส่งออกแต่ละปีเพิ่มขึ้นเท่าไร”


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ในชื่อ แนะรัฐเร่งยุทธศาสตร์’ชาติการค้า’ หนุนเอกชนลงทุนอาเซียน เมื่อ 20 ธันวาคม 2559