สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
สมาชิก Eisenhower Fellowships สองตัวแทนจากไทย และหนึ่งเดียวจากสหรัฐอเมริกา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “นวัตกรรมทางสังคม” ช่วยแก้ปัญหาสังคมที่ยังคงไม่มีทางออก พร้อมแบ่งปันมุมมองและประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน Eisenhower Fellowships
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา Eisenhower Fellowships Alumni (Thailand) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “Solving Tough Problems through Innovative Social Businesses – Experiences from the US, Indonesia and Thailand” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ผ่าทางตันปัญหา ด้วย “ธุรกิจนวัตกรรมทางสังคม” โดยมีตัวอย่างประสบการณ์จากในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และไทย โดย คุณแคทรีน ฟินเนย์ (Kathryn Finney) USA’s Eisenhower Fellowships 2016 คุณสฤณี อาชวานันทกุล Thailand’s Eisenhower Fellow 2013 และคุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ Thailand’s Eisenhower Fellow 2016 โดยมี ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน Thailand’s Eisenhower Fellow 2013 เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา
ประเด็น “นวัตกรรมทางสังคม” คือเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจมากขึ้นในระยะนี้ เพราะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมกัน ในช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดธุรกิจที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการซึ่งมองเห็นช่องทางความเป็นไปได้ของแนวทางการแก้ปัญหาเรื้อรังในสังคม ผ่านการดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรในลักษณะ “กิจการเพื่อสังคม” หรือ “Social Enterprise” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งธุรกิจลักษณะนี้เน้นการหารายได้เพื่อหล่อเลี้ยงกิจการเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แต่อยู่บนพื้นฐานและเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคมในแง่มุมต่างๆอย่างยั่งยืน
คุณแคทรีน ฟินเนย์ (Kathryn Finney) สมาชิก Eisenhower Fellowships ปี 2016 จากสหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Digital Undivided กิจการเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกและกีดกันผู้มีความต่างทางเพศ เชื้อชาติ และสีผิวในสหรัฐอเมริกา ด้วยการระดมทุนและทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้สตรีผิวสี และสตรีผู้มีเชื้อสายละตินอเมริกัน ได้มีบทบาทการเป็นผู้นำในกิจการเพื่อสังคม และสรรค์สร้างนวัตกรรมความรู้ ความคิดเพื่อการริเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพให้ต่อยอดไปได้ตามที่ตนต้องการ กิจการของคุณแคทรีนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมว่าความแตกต่างทางเพศสภาพและเชื้อชาติไม่ใช่อุปสรรค หรือเงื่อนไขของหน้าที่การงานหรือการเป็นเจ้าของธุรกิจอีกต่อไป
การเป็นสมาชิก USA’s Eisenhower Fellowships ปีล่าสุดนี้ ทำให้ คุณแคทรีนได้เดินทางมายังประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสิ่งตนสนใจ คือ บทบาทของรัฐบาลกับเอกชนในการสนับสนุน “กิจการเพื่อสังคม” โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมกันของสตรีทุกเชื้อชาติ สีผิว เพื่อถอดบทเรียนนำไปประยุกต์กับกิจการเพื่อสังคมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ Thailand’s Eisenhower Fellow คนล่าสุด ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ SocialGiver.com ธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีจุดเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาจำนวนมากในสังคมไทยที่ยังรอการแก้ไข ทั้ง เด็ก ผู้พิการ การศึกษา สุขภาพ และภัยพิบัติ เป็นต้น
จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง SocialGiver.com ให้เป็นสื่อกลางในรูปแบบเว็บไซต์เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเลือกซื้อสินค้า มื้ออาหาร หรือบริการที่พัก โรงแรมผ่านเว็บไซต์ในราคาพิเศษที่ได้รับจากภาคธุรกิจที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกัน และจำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายผ่าน SocialGiver ทั้งหมดจะถูกนำไปช่วยโครงการเพื่อสังคมที่ลูกค้าต้องการสนับสนุน
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็น Thailand’s Eisenhower Fellow ในปีนี้ คือการได้ต่อยอดมุมมองและความคิด ต่อการทำธุรกิจเพื่อสังคม จากการได้เข้าร่วมโปรแกรมด้าน Social Enterprise โดยใช้โอกาสนี้เรียนรู้การทำธุรกิจเพื่อสังคมของสหรัฐอเมริกา ด้วยการเลือกพบกับคนหลากหลาย เพื่อนำความรูที่ได้มาประยุกต์ธุรกิจใช้ในธุรกิจของตนเพื่อขยายฐานเครือข่ายภาคธุรกิจและลูกค้าออกไปยังตลาดต่างประเทศเร็วๆนี้
คุณสฤณี อาชวานันทกุล Thailand’s Eisenhower Fellow 2013 ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ (Sal Forest) บริษัทจุดประกายและสื่อสารสาธารณะว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ตลอดจนการวัดผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนดังกล่าว โดยได้แบ่งปันประสบการณ์ในช่วงที่เดินทางไปร่วมโปรแกรมเมื่อปี 2013 ในฐานะ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Thaipublica ซึ่งเป็นสำนักข่าวสืบสวนสอบสวนประเด็นเชิงลึกในสังคม มีเป้าหมายในการดำเนินงานไม่ต่างจาก กิจการเพื่อสังคม คือต้องการชี้ให้สังคมเห็นปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขเป็นหลักใน 3 เรื่อง ได้แก่ คอร์รัปชั่นของภาครัฐ ความโปร่งใสของภาคธุรกิจ และสื่อสารประเด็นทางสังคมที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่มีคุณภาพ
การเข้าร่วมโปรแกรม Eisenhower Fellowships ได้เปิดโอกาสให้ คุณสฤณี ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้าน social media ของสำนักข่าวต่างประเทศ และได้ช่วยให้คำตอบว่า องค์กรและนักข่าวสืบสวนสอบสวนหล่อเลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้ทำรายได้ทางการเงินหรือมีผลกำไรสูง ทำให้ทุกแห่งจำเป็นต้องเปิดหารายได้จากหลายทาง เช่นเดียวกับ Thaipublica ที่เปิดรับเงินบริจาคจากผู้ที่ต้องการอ่านข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงลึก และขายพื้นที่โฆษณาร่วมด้วย ซึ่งหลังจากนี้ยังต้องเพิ่มแนวทางการหารายได้เพื่อให้บุคลากรและองค์กรสามารถสื่อสารงานข่าวคุณภาพแก้ไขปัญหาสังคมได้ต่อไป
นอกจากนี้ คุณแคทรีน ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคม ในลักษณะการขายสินค้า ของ Whole Foods Market สหรัฐอเมริกา ที่มีกุญแจสำคัญคือการผลิตและขายสินค้าเกรดพรีเมี่ยมแก่ลูกค้า และทำให้ลูกค้าเห็นถึงผลจากการซื้อสินค้าแล้วสามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ส่งเสริมระบบฟาร์มแบบเปิด จนกลายเป็นแรงผลักดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องปรับตัวตาม ลูกค้าจึงเห็นความคุ้มค่า เต็มใจที่จะจ่ายในราคาสูง Whole Foods Market จึงเติบโตจนสามารถขยายกิจการได้
ส่วนบทบาทภาครัฐในการสนับสนุน กิจการเพื่อสังคม คุณแคทรีน ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ที่รัฐบาลจะคัดสรรและมอบเงินสนับสนุนให้กับบริษัทที่ใช้นวัตกรรมสังคมในการตั้งต้นธุรกิจ ส่วนอินโดนีเซีย รัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวยด้วยการเป็น matchmaker หาผู้มีความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้ที่ต้องการทำกิจการ อีกทั้งภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการออกแบบวิธีการกำกับดูแลกิจการ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมพัฒนาสังคม เพื่อให้กิจการทางสังคมเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่าง Gojek บริการช่วยผู้โดยสารในการหาจักรยานยนต์รับจ้างในช่วงรถติดเร่งด่วน จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ Thailand’s Eisenhower Fellow 2008 กล่าวว่า Eisenhower Fellowships มีจุดประสงค์ในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายของผู้นำรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ผู้นำเหล่านี้มีขีดความสามารถสูงขึ้นและวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้น สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และสร้างสันติภาพในโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ ในแต่ละปีจะมีผู้นำรุ่นใหม่ ประมาณ 35 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกเป็น Fellow เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 7 สัปดาห์ เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำในด้านต่างๆ
ที่ผ่านมา มี Fellow จากประเทศไทยจำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง Eisenhower Fellowships Alumni Thailand ขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อเชิญชวนผู้สนใจสมัครเข้าเป็น Fellow และเพื่อมีส่วนช่วยประเทศไทยและเพื่อดำเนินการด้านสาธารณะประโยชน์ ปัจจุบันมี Fellow จากประเทศไทยในด้านต่าง ๆ มากกว่า 40 คน