ความท้าทาย ‘เศรษฐกิจจีน’ ปี 60

ปี2017-01-05

นครินทร์ ศรีเลิศ
กรุงเทพธุรกิจ

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความ ไม่แน่นอนและต้องเผชิญกับความผันผวนในปี 2560 จากปัจจัยต่างๆ เศรษฐกิจจีนยังคงได้รับการจับตามองว่าจะมีการเติบโตมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่จีนอาจต้องเผชิญกับการกดดันจากคู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยประกาศนโยบายทำสงครามการค้ากับจีน

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจจีนยังคงค่อยๆชะลอตัวลงแบบที่เรียกว่า soft landing คือไม่ได้ตกลงรวดเร็ว หรือเป็น hard landing แบบที่หลายคนกังวลก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจตกลงอย่างรวดเร็วจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจีนจะต้องการลดความร้อนแรงเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจากเดิมโดยเฉพาะการปรับลดการผลิตและควบคุมการผลิตที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะสินค้าที่ขายไม่ได้ตามตั้งเป้าหมาย ใช้ทรัพยากรมาก และถูกกล่าวหาว่าเป็นการทุ่มตลาด เช่น การปรับลดกำลังการผลิตเหล็ก แต่ข้อมูลที่ออกพบว่าการลดการผลิตยังทำไม่ได้ตามเป้าหมายหรือทำได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ดังนั้น หากมีการลดกำลังการผลิตลงได้ตามเป้าหมาย เศรษฐกิจของจีนอาจจะชะลอตัวมากกว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของจีนในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ยังมีภาวะฟองสบู่ให้เห็นอยู่เนื่องจากยังมีการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน และเกิดภาวะล้นตลาด ซึ่งยังไม่สามารถที่จะแก้ได้อย่างชัดเจน การควบคุมอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นในระยะต่อไปอาจจะมีช่วงที่เศรษฐกิจจีนปรับตัวลดลงรุนแรงจะมีการขยายตัวต่ำ กว่าที่คาดการณ์ แต่ระยะสั้นยังคงเติบโตได้ดี

“เศรษฐกิจจีนในภาพรวม ยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง แล้วต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในหลายอย่าง เพื่อทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง โดยเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงช้าๆ เนื่องจากรัฐบาลจีนเอง ต้องการที่จะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รัฐบาลจีนจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งประมาณการของธนาคารโลกในปี 2560 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ประมาณ 6.5% ลดลงจากปี 2559ที่ขยายตัวได้ 6.7%”

สำหรับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้าที่เขาระบุว่าจะนำมาใช้ เพราะหากมีการนำมาใช้จริงก็จะส่งผลกระทบกับทั้งประเทศจีนและประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนด้วย ซึ่งผลกระทบก็จะมาถึงไทยด้วย ไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนสูงถึง 10% ของการส่งออก ซึ่งหากจีนโดนกีดกันทางการค้า ไทยก็จะถูกผลกระทบทางอ้อมซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเพราะจีนมีฐานการผลิตเชื่อมโยงกับหลายประเทศ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2560 จะยังคงขยายตัวได้ในระดับ 6.5% เนื่องจากจีนมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขนาดทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ และนโยบายการเงินของจีนที่ใช้แบบกึ่งเสรีและควบคุมโดยภาครัฐ ที่ทำให้ภาครัฐสามารถที่จะขอความร่วมมือจากภาคธนาคารให้เข้ามาช่วยเหลือและแทรกแซงภาคการเงินในช่วงที่จำเป็นได้

“ตอนนี้จีนกำลังพยายามหาทางชะลอการไหลออกของเงินอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดเงินปั่นป่วนในระยะสั้น แต่คาดว่าจีนจะสามารถออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาได้และทำให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งกรณีที่เกิดปัญหาในภาคการเงินเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงมาในระดับที่ 5.5-6% ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในด้านลบแต่ในเรื่องนี้มองว่าจีนน่าจะมีมาตรการรองรับเพียงพอ”

ขณะที่ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในปี 2560 คือเรื่องผลกระทบของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการของสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการที่จะกีดกันสินค้าจากจีนโดยกล่าวหาว่าเป็นการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulator) ที่ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ

โดยจีนจะอาศัยช่องทางขององค์กรทางการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ประเทศในการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน ซึ่งการต่อสู้กันในทางการค้าทั้งมาตรการระหว่างประเทศและผ่านช่องทาง ดับเบิลยูทีโอจะทำให้บรรยากาศการค้าโลกมีความสับสนไปด้วยและกระทบต่อภาคส่งออกพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเศรษฐกิจจีนไม่ได้อาศัยภาคส่งออกเป็นกลจักรกลหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความเข้มแข็งและมีการบริโภคภายในประเทศอยู่พอสมควรดังนั้นจึงมองสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐยังมีผลกระทบจำกัดในปีหน้า

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจจีน น่าจะยังคงขยายตัวได้ในระดับ 6.5% โดยมีความเสี่ยงในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ และภาคการเงินน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลจีนสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

โดยมองว่า ความกังวลเรื่อง Hard landing ในภาวะเศรษฐกิจจีน ไม่น่าเกิดขึ้น ปัญหาของจีนคือจะรับมือกับปัญหามาตรการการกีดกันทาง การค้าจากสหรัฐอย่างไร เพราะมีความ เป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะใช้มาตรการทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีในการกีดกันการค้ากับจีนเพราะสหรัฐมองว่าเสียเปรียบ การค้ากับจีน

ชี้ภาคการส่งออกจีนยังแข็งแรง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี2560 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 6.4% ชะลอตัวจากในปี 2559 ที่ขยายตัวได้ประมาณ 6.6% โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่ลดลงมาจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการลดความเสี่ยงในภาคการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เศรษฐกิจที่สามารถขยายตัวได้มากกว่า 6% ก็เป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวน และการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐที่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังมีการลงทุนและใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งช่วยประคองเศรษฐกิจให้ไม่ชะลอตัวลงเร็ว ขณะที่การ ส่งออกก็ยังเป็นไปด้วยดีเนื่องจากค่าเงินหยวนมีการอ่อนค่าลง ดังนั้นในระยะสั้นเศรษฐกิจของจีนก็ชะลอตัวลงบ้างแต่ไม่ได้ชะลอตัวลงเร็วนัก

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ตลาดจีนช่วง พ.ย. 2559 ขยายตัว 22.0% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติกขยายตัว 43.7% ยางพารา 7.9% มันสำปะหลัง 44.1% คอมพิวเตอร์ 11.6% และเคมีภัณฑ์ 1.5% ผลสำคัญมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนสะท้อน จากตัวเลขการผลิตภาค อุตสาหกรรม การลงทุน ยอดค้าปลีก และภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดการนำเข้า วัตถุดิบเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 5 มกราคม 2560 ในชื่อ ความท้าทาย ‘เศรษฐกิจจีน’ ปี60